ข่าว

เฉลิมพระนามาภิไธย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

         

          วันที่ 5 พฤษภาคม การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

 

เฉลิมพระนามาภิไธย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 

          เวลา 09.27 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางพระทวารเทวราชมเหศวร เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 1-9 ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ ประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

เฉลิมพระนามาภิไธย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 

          เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ จบ อาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถวายพานพระสุพรรณบัฏหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ ทรงยืนที่หน้าพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ จบ อาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ถวายพานพระสุพรรณบัฏหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายราชสักการะ ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ที่เดิม

 

พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

          พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2475 ณ กรุงเทพมหานคร พระราชบิดา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระราชมารดา หม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน 2499 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 (ภายหลังคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

 

พระราชกรณียกิจโดยสังเขป 
          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้ โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 และเมื่อ 2528 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้น บ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น 

 

          นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” แด่ พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาล และปวงชนชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ในกิจทางด้านการทหารนั้น ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ตลอดจนคำแนะ นำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ