ข่าว

ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต และปฐมบรมราชานุสรณ์ กับศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

     เมื่อเวลา 16.29 น.วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระราชินี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ปฐมพระบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

   ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

   เมื่อรถยนต์พระที่นั่งถึงพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกราบ แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

   พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่พระลานพระราชวังดุสิต สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนำแบบอย่างมาจากพระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส จากฝีมือของนายช่างของฝรั่งเศส บริษัท ซุซ แฟรส์ ฟองเดอร์ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2450

ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

   สำหรับองค์พระบรมรูปทรงม้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำการตกลงและเลือกชนิดโลหะด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังประทับเป็นแบบให้นายช่างปั้นหุ่น ขณะประทับอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสด้วย พระบรมรูปมีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริง ประทับอยู่บนหลังม้าพระที่นั่ง โดยม้าพระที่นั่งนั้นมิใช่ปั้นจากม้าพระที่นั่งจริง เพราะเป็นม้าที่บริษัทได้ปั้นเป็นแบบเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว พระบรมรูปทรงม้าหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ประดิษฐานบนแท่นรองทำด้วยหินอ่อน สูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร

   เวลา 16.38 น. รถยนต์พระที่นั่งถึงยังปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกราบ จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลหลักเมือง

   ทั้งนี้ ปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2472 จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อสร้างถาวรวัตถุเป็นพระบรมราชานุสรณ์ พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี เฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ พร้อมกับก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเชื่อมกับฝั่งธนบุรีในคราวเดียวกัน เพื่อให้การคมนาคมสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย

ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

   พระบรมรูปนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตราชสภาขณะนั้นทรงอำนวยการ แผนกศิลปากรคิดแบบและอำนวยการก่อสร้าง ลักษณะพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่เหนือพระเพลาองค์พระบรมรูปนั้น ศ.ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นและหล่อด้วยทองสำริด มีความสูงตั้งแต่ฐานตลอดยอด 4.6 เมตร ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร พระบรมรูปผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร

   เวลา 16.48 น.รถยนต์พระที่นั่งถึงศาลหลักเมือง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าหอพระพุทธรูป ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ เสด็จเข้าศาลหลักเมือง ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะศาลหลักเมือง ทรงกราบ เสด็จเข้าศาลเทพารักษ์ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬชัยศรี เจ้าหอกลอง เจ้าเจตคุปต์ ทรงกราบ

ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

   ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    จุดสำคัญของศาลหลักเมืองคือ เสาหลักเมือง ซึ่งได้กระทำพิธียกเสาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2325 เวลา 06.54 น.การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามตำราที่เรียกว่า “พระราชพิธีนครฐาน” ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทองล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

   เดิมทีเสาหลักเมือง มีเพียงศาลาปลูกไว้กันแดดกันฝนเท่านั้น จนชำรุดลงอย่างมาก ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร มีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับจากนั้นเป็นต้นมา สำหรับศาลาศาลหลักเมืองหลังปัจจุบันนี้ มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุขประดับกระเบื้องเคลือบตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ได้รับการออกแบบโดย พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม

ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ประตูราชสำราญ ทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลา 16.59 น.รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จฯ ไปยังหอพระสุราลัยพิมานขึ้นทางบันไดงิ้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ทรงกราบ ต่อมาเสด็จไปยังพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ

     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเงินทองท้ายที่นั่งบูชาพระสยามเทวาธิราช ทรงกราบ เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศถวายสักการะพระบรมอัฐิ และพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ทรงกราบ แล้วเสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน องค์กลาง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเทวดารักษาพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ทรงกราบ

   จากนั้นเสด็จไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน องค์ตะวันออก เสด็จเข้าห้องพระบรรทม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร พระแท่นราชบรรจถรณ์ ทรงกราบ เวลาพระฤกษ์ 16.09-20.30 น.เสด็จฯ ไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ที่ห้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงจุดธูปเทียนทอง เทียนเงิน ธูป และธูปหางปักที่เครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงกราบ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหรมณ์ อ่านประกาศบวงสรวง ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ เมื่ออ่านประกาศบวงสรวงจบ เสด็จฯ ไปทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงกราบ แล้วเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งประตูสนามราชกิจ เสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต     

ในหลวง และพระราชินี ถวายราชสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสะพานพุทธ มีประชาชนจำนวนมากได้แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง มารอรับเสด็จที่กำแพงโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อันเป็นเส้นทางเสด็จฯผ่าน โดยต่างเปล่งเสียง ทรงพระเจริญ และซาบซึ้งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโบกพระหัตถ์ให้

    นายอนนท์ วิมุกตายน อายุ 51 ปี ชาวจ.พิจิตร ที่เดินทางมากรุงเทพฯเพื่อร่วมรับเสด็จในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กล่าวว่า รู้จากหมายกำหนดการ ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯมาที่สะพานพุทธ เมื่อลงรถไฟที่หัวลำโพงก็รีบนั่งรถมาที่นี่เพื่อรับเสด็จ นับเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้เห็นพระองค์ในระยะใกล้ ตื่นเต้น ขนลุก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้รับเสด็จฯ แม้จะเป็นปีที่ 4 ในรัชกาล ยิ่งได้เห็นสมเด็จพระราชินี ยิ่งรู้สึกเป็นบุญ พระองค์ทรงพระสิริโฉมงดงาม สำหรับงานพระราชพิธีนี้ก็เตรียมตัวไว้มาก ซื้อเสื้อสีเหลืองไว้ครึ่งโหล เตรียมจะใส่ในช่วงงานพระราชพิธี ในฐานะคนไทยคนหนึ่งการได้ร่วมในงานมงคลเช่นนี้ ถือเป็นบุญกับชีวิต

   ด้าน นางศิวาพร ขจรศักดิพันธ์ อายุ 56 ปี ชาวจังหวัดลำปาง อาชีพแม่บ้าน เล่าว่า พอดีช่วงนี้เป็นวันหยุดของสามี จึงตั้งใจชวนกันมาไหว้พระแก้ว และ ศาลหลักเมือง เป็นสิริมงคลสำหรับครอบครัว ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ชื่นชมในพระบารมี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าจะต้องมานั่งรอใครแบบนี้นานๆ แต่พอได้มาแล้วรู้สึกปีติตื้นตันหัวใจ

    ขณะที่ นายเดชณนรินทร์ แสนจำลา อายุ 57 ปี ชาวจังหวัดสกลนคร อาชีพครู กล่าวว่า เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ช่วงเช้าได้เข้าไปที่วัดบวรนิเวศเพื่อสักการะพระบรมราชสรีรางคาร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทราบมาว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ไปที่วัดแห่งนี้ในช่วงพิธีบรมราชาภิเษกด้วย จากนั้นจึงตั้งใจมาร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ ในช่วงบ่าย บริเวณศาลหลักเมืองถือเป็นความภาคภูมิใจและตื้นตันใจที่ได้ชื่นชมพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัวเองและครอบครัวเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ก็ได้รับชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทั้งพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์และพิธีอภิเษกน้ำรวม รู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลมาก และในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะมีพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง ตัวเองและภรรยาตั้งใจว่าจะมารอเฝ้าฯ รับเสด็จบริเวณพื้นที่รอบสนามหลวงอีก ก่อนจะเดินทางกลับจังหวัดสกลนครในช่วงเย็น รู้สึกโชคดีที่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต และเมื่อเปิดเทอมจะบอกเล่าเรื่องราวพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้นักเรียนได้ร่วมรับฟัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ