ข่าว

หมอนิธิพัฒน์ เชื่อ "โควิด" สายพันธุ์เดลตา แพร่กระจายใน กทม.แล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอนิธิพัฒน์ เชื่อ "โควิด" สายพันธุ์เดลตา แพร่กระจายใน กทม.แล้ว เผยตัวเลขผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจที่พุ่งสูงเป็นสถิติสูงสุด

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงสถานการณ์ "โควิด-19" เผยตัวเลขผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจที่สูงเป็นสถิติสูงสุด รวมถึงเชื่อว่า "โควิด" สายพันธุ์เดลตา หรือ โควิดสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายไปมากแล้วใน กทม.

 

โดย หมอนิธิพัฒน์  ได้เขียนข้อความระบุว่า "ที่ทำงานหนักก็หนักกันต่อไป ยังมองไม่เห็นฝั่งแม้มีคนยื่นขอนไม้มาให้แล้ว เมื่อคืนจนถึงเช้านี้การหาเตียงสำหรับผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจใน กทม.คึกคักมาก และต้องขอความช่วยเหลือส่งไปต่างจังหวัดสักพักแล้ว ส่วนการเพิ่มเตียงไอซียูโควิดที่กำลังพยายามกัน (ส่วนตัวไม่เห็นด้วย) แม้จะทำพอได้มาบ้างแต่คงไม่สามารถขุดมาใช้ได้ในเร็ววัน วันนี้ยอดผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจในประเทศจะเป็นนิวไฮที่ 485 รายหรือเปล่าไม่รู้ โดยอยู่ใน กทม. , สมุทรปราการ , นนทบุรี , ปทุมธานี 330 ราย (68%) และ กทม. โดดๆ 225 ราย (46%)

 

ผมคงเช่นเดียวกับคนหมู่มาก ที่อยากจะเห็นหน้าตาของมาตรการที่ขอเรียกว่า “ล็อกดาวน์แบบจำกัดขอบเขต” ฉบับเต็ม (มีแพลมมาแล้วพอควร) ว่าจะออกมาแล้วร้องว้าวหรือร้องยี้ จะโดนใจหรือจะเสียดแทงใจ โดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อน้ำมนต์ฝ่ายบริหารและฝ่ายความมั่นคงนักเพราะชนักมันมีอยู่ ตัวดีแสนสำคัญที่กำหนดคือ “สายสัมพันธ์”หรือ “การเกี้ยเซี้ย” ที่อาจทำให้ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้และกวดขันให้เป็นไปตามมาตรการทำได้ไม่สมบูรณ์ตามที่รับปาก อย่างไรก็ตามเมื่อให้อำนาจเขาตัดสินใจแล้ว ภาคการแพทย์และภาคประชาชนคงได้แต่ต้องช่วยกันจับตามอง

 

ดัชนีนี้ชี้วัดที่น่าจะควบคุมตัวแปรอื่นๆ ออกไปได้เกือบหมด และมองเห็นผลได้เร็ว คือ จำนวนผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจใน กทม. (นับรวมหากมีการขนย้ายไปรักษาในจังหวัดใกล้เคียงตามนโนบายหน่วยงานที่ว่าเตียงใน กทม. ยังมีพอ) อีกทั้ง ดัชนีนี้จะเป็นเครื่องตอกย้ำความสะเทือนใจทั้งของฝั่งผู้ป่วยและญาติ และฝั่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ให้การดูแลรักษา เนื่องจากดัชนีนี้จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตราวครึ่งหนึ่งในอีกสิบวันหลังจากนั้น

 

 

ผมเชื่อว่าขณะนี้สายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายไปมากใน กทม.แล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบเร็วและดูรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่เดิม ขณะนี้มียอดผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจใน กทม. 225 คน หากมาตรการที่กำหนดร่วมกันมานี้ใช้ได้ผล จะต้องเห็นตัวเลขนี้ลดลงให้เหลือไม่เกินครึ่งหนึ่งคือ 123 คนใน 28 วันข้างหน้า นั่นคือต้องไม่เกิน 3 ใน 4 คือ 169 คน ในอีก 14 วันข้างหน้า การที่กำหนดตัวเลข 123 คนไว้เป็นเป้าหมายสุดท้าย เนื่องจากอยากเห็นไอซียูโควิดใน กทม. กลับไปใช้งานเท่าจุดสูงสุดของระลอกแรกคือไม่เกิน 200 เตียง (ครึ่งหนึ่งจะใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกครึ่งหนึ่งใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น) เพื่อที่จะได้หวังให้ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งในอีกหนึ่งรอบ 28 วันถัดไป ถ้าเป็นดังนี้บุคลากรทางการแพทย์จะไม่เหนื่อยล้าจนเกินไปและทนไม่ไหว ผู้ป่วยโควิดก็จะได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจะได้กลับมารับการดูแลรักษาตามมาตรฐานวิถีใหม่ที่ควรจะเป็น

 

ยังมีข้อแม้อีกเล็กน้อย คือ การตรวจค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ต้องระดมทำเต็มความสามารถ เพื่อเร่งควบคุมโรคในภาพรวม อย่าให้เป็นแบบที่ผ่านมาในบางพื้นที่ คือตรวจน้อยเท่ากับติดน้อย ผู้ใหญ่จะได้ไม่กังวล แต่ทำแบบนั้นมันจะติดแน่นและติดนาน จนคนโรงพยาบาลจะรับไม่ไหวแล้วผู้ใหญ่ก็จะต้องกังวลไปอีกแบบหนึ่งที่อาจน่ากลัวกว่า อย่างไรก็ตามถึงจะตรวจน้อย คนที่ติดแล้วไม่ได้ตรวจหรือรอตรวจหรือรอเตียง ถ้าอาการทรุดลงก็จะตรวจจับได้เมื่อต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

 

อ่านข่าว : อ่วม "โควิดวันนี้" จ.ชลบุรี พบผู้ป่วยใหม่สูงสุดเป็นสถิติใหม่ระลอกที่ 3

 

อ่านข่าว : นะจ๊ะไม่ออก ตัวเลข "โควิดวันนี้" เกินครึ่งหมื่น ติดจากเรือนจำแค่ 9 ราย

 

อ่านข่าว : ด่วน.. กรุงเทพฯ พบโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 1 ราย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ