ข่าว

"สสว." จับมือ "แบงก์รัฐ-เอกชน" เดินหน้าเพิ่มเงินทุน ผปก. ด้วย "Factoring"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สสว."ร่วมกับ 10 "แบงก์รัฐ-เอกชน" เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยสินเชื่อ "Factoring" รวมทั้งสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

"สสว." ร่วมกับ "10 แบงก์รัฐ-เอกชน" เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยสินเชื่อ" Factoring" รวมทั้งสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หวังช่วยขยายโอกาสให้ SME ซึ่งปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว. กว่า 41,000 ราย เข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ได้คล่องตัวมากขึ้น พร้อมเตรียมลงนามความร่วมมือในเร็วๆ นี้
 
รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า สสว. ได้มีการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือ ระหว่าง สสว. กับ 10 สถาบันการเงินของรัฐและเอกชน เกี่ยวกับแนวทางการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยสินเชื่อ Factoring และสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มากขึ้นเนื่องจากตลาดภาครัฐ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี

"สสว." จับมือ "แบงก์รัฐ-เอกชน" เดินหน้าเพิ่มเงินทุน ผปก. ด้วย "Factoring"

ที่สำคัญยังคงเป็นตลาดที่มีกิจกรรมการซื้อ จ้าง เช่า สินค้าและบริการต่างๆ จากผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมูลค่าขึ้นตลอดทุกปีซึ่งปัจจุบันระบบ THAI SME GP หรือ www.thaismegp.com ของ สสว. มีผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียนเพื่อจะเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 41,000 ราย มีรายการสินค้ารวมกว่า 165,000 รายการ
สสว.  ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสินเชื่อ Factoring รวมถึงสินเชื่อเกี่ยวกับการเป็นคู่ค้าภาครัฐที่แต่ละธนาคารมี เพราะสิ่งนี้จะเป็นเม็ดเงินที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีศักยภาพ มีโอกาสได้รับงานภาครัฐมากขึ้น ซึ่งรัฐจ่ายเงินแน่ๆ แต่เนื่องจากขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงการส่งงาน ตรวจรับงานเพื่อได้รับเงินตามสัญญา ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ และบางขั้นตอนผู้ประกอบการต้องวางเงินค้ำประกันล่วงหน้า เช่น เงินค้ำประกันซอง เงินค้ำประกันสัญญา หรือต้องรอระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินในแต่ละงวดงานภายหลังเซ็นสัญญา ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจได้ การได้สินเชื่อระยะสั้นเข้ามาช่วยผู้ประกอบการในแต่ละช่วง จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว
จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลทำให้พบว่า แต่ละธนาคารมีสินเชื่อในการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อเป็นคู่ค้าภาครัฐ ทั้งสินเชื่อ Factoring และสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่การเป็นเงินทุนก่อนการเสนองาน เป็นเงินค้ำประกันสัญญา หรือเป็นเม็ดเงินสำหรับดำเนินกิจการในช่วงระหว่างส่งมอบงานและการเบิกจ่ายเงินจากภาครัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่สถาบันการเงินมีความเห็นร่วมกัน คือ ควรมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงในการใช้คำสั่งซื้อ (Invoice) ปลอม และการนำคำสั่งซื้อ (Invoice) ไปใช้ขอสินเชื่อหลายครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ สสว. ที่อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพัฒนาระบบกลาง (Central Web Service) เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ให้กับสถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการป้องกันการนำเอกสาร Invoice ปลอมมาขอสินเชื่อ (Fraud) และนำเอกสาร Invoice มาขอสินเชื่อหลายครั้ง (Double Financing)  
  
อย่างไรก็ดี สำหรับธนาคารที่มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้ มีจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งความาร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสว. กับสถาบันการเงินดังกล่าว ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ไปสู่ผู้ประกอบการในวงกว้างต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ