ข่าว

กินอย่างไรให้ "ไต" ไม่พัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เรามีแนวทางเกี่ยวกับวิธีการกินว่า กินอย่างไรให้ "ไต" ไม่พัง

เราได้ทราบกันไปเบื้องต้นแล้วว่า "โรคไต" เป็นคำกว้างๆ ที่บ่งชี้ถึงการมีความผิดปกติที่บริเวณไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุของโรคไต ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคไตอักเสบ นิ่วที่ไต โรคเนื้องอกที่ไต เป็นต้น และยังมีโรคประจำตัวที่สามารถทำให้เกิด "โรคไต" เสื่อมเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยโรคที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด

 

 

วันนี้เรามีแนวทางเกี่ยวกับวิธีการกินว่า กินอย่างไรให้ "ไต" ไม่พัง 

 

สำหรับ "โรคไต" เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติที่บริเวณไตที่พบมาก คือ โรคไตวายเฉียบพลัน ไตวายเรื้อรังจากโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบจากโรคเเอลเอสอี โรคถุงน้ำดีที่ไต เเละโรคนิ่ว

 

ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยต่อไต

 

ไต เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการขจัดของเสียและสารต่างๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการ รวมถึงยาหรือสารต่างๆ ออกไปในรูปปัสสาวะ ดังนั้น ไตจึงมีความเสี่ยงสูงในการได้รับอันตรายจากพิษของยาและสารเคมีบางอย่างได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่องแต่เดิมอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยามากขึ้น

 

ใช้ยาอย่างไรไม่เป็นพิษต่อไต

 

1. ใช้ยาตามข้อบ่งชี้ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

 

2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน เพราะยาบางกลุ่มมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกัน ซึ่งการรับประทานร่วมกันไม่ช่วยเพิ่มผลในการรักษา แต่กลับเพิ่มผลเสียต่อผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นต้น

 

3. นำยาที่ใช้ประจำติดตัวมาโรงพยาบาลทุกครั้งเมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่ใช้ประจำทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาการรักษาของแพทย์

 

 

 

ยาที่ควรระวัง

 

1. ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

 

ยาในกลุ่มนี้ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกระดูก เช่น Diclofenac, Ibuprofen, Mefenamic Acid, Piroxicam, Celecoxib, และ Etoricoxib เป็นต้น โดยกลุ่มยานี้จะยับยั้งการสร้างสาร  โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งสารนี้มีหน้าที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดในไตให้เป็นปกติ หากใช้ยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อการไหลเวียนเลือดในไตและส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

 

2. ยาลูกกลอน สารโลหะหนัก และสเตียรอยด์

 

ยาแผนโบราณเป็นการนำพืชสมุนไพรมาผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วต้มในหม้อดิน อาจเรียกในชื่อต่างๆ เช่น ยาหม้อ ยาสมุนไพร ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบของยาในลักษณะยาลูกกลอน ยาผง ยาอัดเม็ด หรือบรรจุแคปซูล พบว่าในส่วนประกอบของยาลูกกลอน นอกจากพืชสมุนไพรแล้วผลิตภัณฑ์บางชนิดพบการเจือปนของสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ทองแดง ปรอท และสารจำพวกสเตียรอยด์เจือปนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยาลูกกลอนที่จำหน่ายในท้องตลาด สารเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะเกิดการสะสมในร่างกายและมีพิษโดยตรงในการทำลายเนื้อเยื่อไต และก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้

 

3. ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือยาฆ่าเชื้อ

 

การใช้ยาเหล่านี้หากไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ดื่มน้ำตามเยอะๆ หลังรับประทานยา อาจทำให้ยาเกิดการตกตะกอนและเป็นผลึกในท่อปัสสาวะได้ เช่น กลุ่มซัลฟา เป็นต้น

 

สำหรับโรคไตเรื้อรัง สามารถรักษาได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งประกอบไปด้วย

 

- ยาลดการดูดซึมฟอสเฟต ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบางรายอาจพบระดับฟอสเฟตในเลือดในปริมาณสูงกว่าปกติ แพทย์อาจพิจารณาสั่งยาลดระดับฟอสเฟต เช่น Calcium carbonate, Calcium acetate, Aluminium hydroxide, Lantanum เป็นต้น กลุ่มยาเหล่านี้จะไปดักจับกับฟอสเฟตในอาหารส่งผลให้ปริมาณฟอสเฟตถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายลดลงและช่วยปรับระดับฟอสเฟตในเลือดให้เป็นปกติ

 

- ยาขับปัสสาวะ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบวม

 

- ยาลดความดันโลหิต ระดับความดันโลหิตที่เหมาะสมสามารถช่วยในการชะลอการเสื่อมของไต ดังนั้นแพทย์จะกำหนดค่าเป้าหมายของความดันโลหิตที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละท่านและมักจะพิจารณาเลือกใช้ยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitors หรือ ARBs หรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่นในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม ยกเว้นผู้ป่วยมีข้อห้ามใช้ยาเหล่านี้

 

- กลุ่มยาปรับสมดุลกรดด่างในเลือด เช่น Sodium bicarbonate เพื่อช่วยแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรด

 

- กลุ่มยาลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

 

หากมีภาวะระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรควบคุมระดับคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหรือขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมของแพทย์ต่อผู้ป่วยแต่ละราย

 

หากเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองร่วมด้วย ควรควบคุมระดับคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลให้น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหรือขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมของแพทย์ต่อผู้ป่วยแต่ละราย

 

อ่านข่าว : เปิดสัญญาณเตือน คุณกำลังเสี่ยงเป็น "โรคไต"

 

อ่านข่าว : แชร์ว่อนโซเชียล แตงโมต้มผสมน้ำตาล ดื่มรักษาโรคไต เพจดังเตือนอย่าหาทำ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ