ข่าว

"หมอธีระวัฒน์" เตือนหนุ่มสาว อย่าทะนงตัวแม้ฉีดถึง 3 เข็ม หากเจอไวรัสกลายพันธุ์ก็เข้าโรงพยาบาลได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้คำแนะนำกับประชาชน เรื่องของการฉีดวัคซีนโควิดแล้วยังคงต้องเฝ้าระวังตนเอง

ยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด ซึ่งยังพบว่าตัวเลขการติดเชื้อในแต่ละวันยังอยู่ที่หลัก 2 พันกว่าราย อีกทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงสูงทุกวันล่าสุดวันนี้ (9 มิถุนายน 2564) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,400 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 280 ราย ยอดติดเชื้อรวมเดือนเมษายน 156,365 ราย รวมยอดติดเชื้อสะสม 185,228 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย เสียชีวิตสะสม 1,332 ราย 

อ่านข่าว : ตัวเลขผู้ป่วย "โควิด" วันนี้ยังหลัก 2 พันต่อเนื่อง เศร้า เสียชีวิตเพิ่ม 35

ทั้งนี้พบว่าผู้ที่เสียชีวิตในวันนี้ทั้ง 35 ราย ยังคงมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งโรคปอด  โดยกรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิต 26 ราย , นนทบุรี เพชรบุรี สมุทรปราการ 2 ราย ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี อำนาจเจริญ 1 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 11 ราย นอกจากปัจจัยเสี่ยงในเรื่องโรคประจำตัวแล้วนั้น ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อในครอบครัวเพื่อนบ้าน ตลาด คนในงานแต่ง จากเรือนจำ หรือ ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขายในตลาด ขับตุ๊กตุ๊ก 

ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนหลังจากคิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา พบผู้รับวัคซีนสะสม 5,107,069 เข็มที่ 1 จำนวน 428,459 เข็มที่ 2 จำนวน 43,669 ล่าสุดพบการรายงานว่า มีหญิงอายุ 46 ปีฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ( astrazeneca) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ก่อนจะเสียชีวิตในช่วงดึกของวันเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่และมีความเกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างไร ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีการสืบสวนและสอบสวนต่อ ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินแพทย์ออกมาเตือนอยู่เสมอสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด ไม่ว่าจะเป็นเข็มที่ 1 หรือ เข็มที่ 2 แล้วนั้น ก็มีโอกาสที่จะกลับมาติดเชื้อโควิดได้ ยังคงต้องสวมใส่แมสก์เว้นระยะห่าง ล้างมืออยู่บ่อยๆ ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิดจะช่วยลดอาการรุนแรง และ อัตราการเสียชีวิตลงได้ 

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้คำแนะนำกับประชาชนเอาไว้ว่า 

1.อย่าทะนงตนว่า เป็นหนุ่มสาวหรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราเห็นกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงพยาบาลขณะนี้ ที่คนแข็งแรงอาการหนักได้

2.อย่าคิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการจะรักษาง่ายๆ กลไกของการติดเชื้อเมื่อเข้าร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวน และถ้าหยุดยั้งไม่ได้หรือไม่ทันเชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกระบบที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสอื่นๆ จากผลของการอักเสบจะกระทบทุกอวัยวะในร่างกาย และทำให้เลือดข้น เกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ทั่วไปด้วย

3.อย่าคิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบ ซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้นจากการกดภูมิคุ้มกันและปอดอักเสบที่เห็นนั้น จะกลายเป็นทั้งจากไวรัสและแบคทีเรียซ้ำซ้อน

4.อย่าคิดว่าถ้าตัวเลขลดลงหมายความว่าต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการที่จะตรวจให้ได้ทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็ตามยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการอยู่ทั่วไปได้

5.อย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก สถานที่ดังกล่าวและยิ่งมีคนที่แพร่เชื้อได้หลายคน โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้นและจำนวนเชื้อมากขึ้นตั้งแต่ต้น เชื้อที่อยู่กับละอองฝอยจะอบอวลอยู่ในอากาศได้นาน และแม้เมื่อตกพื้นไปแล้วการเดินจะกระพือให้ละอองฝอยเหล่านี้ลอยขึ้นอีก (จากข้อมูลของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2563)

6.อย่านิ่งนอนใจในภาวะโรคประจำตัวทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้ โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เกี่ยวข้องกับกลไกในการรับเชื้อและการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เก่งขึ้น นอกจากนั้น โรคประจำตัวหลายชนิดจะมีลักษณะของการเอื้อให้เกิดมีการอักเสบในร่างกายอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ การอักเสบของข้อ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ทั้งจากโควิด-19 เอง และโรคประจำตัวที่ปะทุซ้ำซ้อนขึ้น

7.อย่าทะนงตัวว่า ฉีดวัคซีนแล้วชัวร์ ฉีดเข็มเดียว โอกาสติดยังสูง โอกาสตายยังมี ฉีดสองเข็ม โอกาสติดยังมีแต่น้อยลงมากๆ แต่ถ้าเจอเชื้อที่ปรับรหัสพันธุกรรมไป แม้แต่ตำแหน่งเดียว เช่น สายอังกฤษ ในอังกฤษ โอกาศติดจะเพิ่มขึ้น และแพร่ไปให้คนอื่นๆอีกได้

และถ้า ไวรัส “หน้าตาเปลี่ยนไปมาก” การติดอาจจะเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะฉีดเข็มที่สาม เป็นยี่ห้อเดิมหรือยี่ห้อใหม่ โดยที่ภูมิในเลือดที่สูงขึ้น อาจทำอะไรไม่ได้ และอาการอาจยกระดับขึ้นได้จนเข้าโรงพยาบาลปัจจุบัน เริ่มมี “หลุด” แม้ฉีดวัคซีนครบไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ควรที่จะชะล่าใจแม้ว่าเราจะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้วก็ตาม 

ขอบคุณ : ศ.นพ.ธีระวัฒน์ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ