ข่าว

24 มีนาคม วันวัณโรคโลก มาทำความรู้จัก ป้องกันติดต่อ ควบคุมแพร่กระจายเชื้อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก รู้จักโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการ การวินิจฉัย วิธีป้องกันการติดต่อ - แพร่กระจาย

24 มีนาคม วันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) ทั้งนี้ วัณโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากการไอ จาม ถ่มน้ำลาย และขากเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคปอดสู่ผู้อื่น โดยวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้เร็วและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเพื่อสุขภาพที่ดีป้องกันการติดเชื้อวัณโรค เราควรหมั่นดูแลร่างกาย รักษาสุขอนามัย เลี่ยงสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ลด ละ เลิกสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์

นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก การติดต่อและการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น แพร่กระจายสู่อากาศจากการไอ จาม ผู้ที่ใกล้ชิดสูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าไปจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ นอกจากนี้ วัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุดคือ ที่ปอด เรียกว่า วัณโรคปอด

นายแพทย์ เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยวัณโรคปอด และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อาจมาด้วยอาการบางอย่างคล้ายคลึงกัน

- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจเหนื่อย มักเกิดในช่วง 1 - 14 วัน หลังได้รับเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วงร่วมด้วย

- ผู้ป่วยวัณโรคปอดมักมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ มักจะเป็นตอนบ่าย เย็น หรือกลางคืน และเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน

ดังนั้น อาการของวัณโรคและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จึงแตกต่างกัน เพราะวัณโรคทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโรควัณโรคได้จากการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรค

 

หากพบว่าป่วยเป็นวัณโรค ผู้ป่วยควรป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรค ดังนี้

1. ไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น

2. ควรสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอ หรือ จาม

3. อยู่ในที่โปร่งโล่ง

4. ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์

5. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

6. ตรวจสุขภาพ ปีละ 1 - 2 ครั้ง

ข้อควรระวังและสำคัญ

ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ตามแผนการรักษาและไม่ควรหยุดยาเอง แม้อาการจะทุเลาลง หากผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง คือ หยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ เชื้อวัณโรคจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้

อ่านข่าว - สามทุ่มถึงตีห้า น้ำประปาไม่ไหล คืนวันที่ 25 มี.ค. เช็กเลย กทม. พื้นที่ไหนบ้าง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ