ข่าว

สิทธิ์บัตรทองยังคงอยู่ สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก - รพ.เอกชน ด้วยเหตุทุจริต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก - รพ.เอกชน ด้วยเหตุทุจริต ย้ำ สิทธิ์บัตรทองยังคงอยู่ มีมาตรการรองรับ - บรรเทาผลกระทบ

22 กันยายน 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไลฟ์สด แถลงข่าวชี้แจงไขข้อสงสัยกรณียกเลิกสัญญา 64 คลินิก - รพ.เอกชน ด้วยเหตุทุจริต ย้ำ สิทธิ์บัตรทองยังคงอยู่ มีมาตรการรองรับ - บรรเทาผลกระทบ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การยกเลิกสัญญาและปิดหน่วยบริการ คลินิกที่มีการเบิกงบบัตรทองเกินจริงนั้น จะมีประชาชนได้รับผลกระทบ 8 แสนราย ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาประชาชนถูกยกเลิกบริการนั้น ระหว่างนี้สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทุกแห่งใน กทม. ทั้งรัฐและเอกชน ที่ร่วมกับ สปสช. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ทาง สปสช. ได้ประสาน กทม. เร่งจัดหาหน่วยบริการทดแทน โดย สปสช. และ กทม.ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 8 แสนรายไว้เรียบร้อย อยู่ระหว่างการติดต่อ เพื่อขึ้นทะเบียนและจัดหาหน่วยบริการใหม่ให้ ซึ่งประชาชนหากสงสัยสอบถามได้ที่หมายเลข 1330 หรือ @ LINE 1330_2

 

ทั้งนี้ แนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุขกรณี 64 หน่วยบริการถูกยกเลิกสัญญา มีดังนี้

1. กรณีเจ็บป่วยทั่วไปหรือมีแผนการรักษาพยาบาลกับหน่วยบริการทั้ง 64 แห่ง ประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่อเนื่องได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

2. สำหรับกรณีผู้ป่วยที่มีหนังสือส่งตัวเดิมเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อเดิมได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว แต่หากโรงพยาบาลรับส่งต่อเดิมนั้นถูกยกเลิกสัญญาด้วย ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

 

3. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือหากเป็นภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านได้

4. กรณีผู้ป่วยที่ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ที่ถูกประกาศยกเลิกสัญญา แต่ยังไม่สิ้นสุดแผนการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะใช้สิทธิ์นอนรักษาต่อเนื่องได้จนอาการดีขึ้น แพทย์พิจารณาแล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยโรงพยาบาลยังเบิกค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยกลุ่มนี้มายัง สปสช. ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข

 

5. ในส่วนของผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหรือแอดมิทเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. กับโรงพยาบาลที่ถูกบอกยกเลิกจำนวน 7 แห่ง ยังสามารถแจ้งชื่อ วันนัดผ่าตัด และเบอร์โทรศัพท์ มาที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยบริการให้ได้รับการรักษาและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามทางสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยทาง สปสช. ต้องขออภัยความไม่สะดวกในครั้งนี้

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ