ข่าว

"บรรยง" เปิด 6 ข้อเสนอให้ประเทศ ชนะศึกโควิดในวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตที่ปรึษานายกรัฐมนตรี เสนอ 6 แนวทาง ให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อต่อสู้ ยับยั้ง ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยจากพิษโควิด19

วันที่ 30 มิ.ย.2563 นายบรรยง พงษ์พาณิช  อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ  ได้โพสต์เพฟซบุ๊ค    Banyong Pongpanich ระบุว่า  ข้อเสนอจากคนนอกวงอำนาจ…ในวันครบหกเดือนที่ไวรัสครองโลก(30 มิ.ย.2563)

ผมมีข้อเสนอเล็กๆ ห้าหกข้อ สำหรับรัฐบาลที่ชนะโควิดอย่างใสสะอาด แต่กำลังต้องพาประเทศเข้าต่อสู้กับความถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

1. รัฐบาลควรเพิ่มงบเยียวยาและฟื้นฟู เศรษฐกิจอีกอย่างน้อยหนึ่งล้านล้านบาท โดยไม่ต้องกังวลมากเรื่องหนี้สาธารณะ เพราะถึงศก.จะถดถอยสัก10%หนี้สาธารณะเราก็จะไม่เกิน60%(แต่อาจปริ่มเพดาน) ด้วยว่าหนี้สาธารณะของเราประมาณหนึ่งล้านๆเป็นหนี้รัฐวิสาหกิจ(ที่กว่าครึ่งรัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน) หนี้เหล่านี้รัฐวิสาหกิจใช้คืนได้เองโดยไม่ต้องรบกวนภาษีประชาชน(แม้แต่การรถไฟที่มีทรัพย์สินมหาศาล)

 

2. รัฐบาลควรประกาศแผนลดหนี้สาธารณะในอนาคตให้ชัดเจน คือ การขึ้นภาษี ซึ่งภาษีที่ขึ้นได้ง่ายและแทบไม่กระทบกับคนจนเลยสองอย่าง คือภาษีเงินได้นิติบุคคล(corporate income tax)ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลดจาก 30% มา20% ซึ่งเป็นการลดมากไป ไม่ได้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันคุ้มค่า น่าจะขึ้นกลับไปที่25% ก็จะได้เงินเพิ่มประมาณปีละ200,000ล้านบาทในปีปกติ และอีกภาษีที่น่าขึ้นได้เพราะคนจนไม่เดือดร้อน และจัดเก็บได้ง่าย คือ ภาษีทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่ยกหนีไม่ได้ กับควรทบทวนสิทธิภาษีภายใต้BOI เช่น การลงทุนในNontradablesไม่ควรได้รับสิทธิ และพยายามใช้การจูงใจด้านอื่น อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดหนี้สาธารณะได้อย่างรวดเร็วคือการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถ้าขายหมดอย่างTatcherทำ ก็จะได้เงินลดหนี้สองล้านๆได้หมดเลย แถมรสก.ทั้งหลายก็จะไปอยู่ภายใต้Governanceของตลาด มีโอกาสเป็นบริษัทระดับโลกตามอย่าง British Airways British Petroleum British Telecom และยังจะช่วยท่านผู้นำไม่ให้ต้องปวดหัวกับการแย่งกระทรวงของนักการเมืองได้อีกด้วย

3. ในการเยียวยาธุรกิจเพื่อรักษาการจ้างงาน ควรให้เงินช่วยเหลือ โดยใช้ฐานข้อมูลจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น อาจช่วยชดเชยให้เป็นร้อยละของยอดขายที่ลดลงจากช่วงปีที่แล้ว โดยพิจารณาจากส่วนgross marginในแต่ละอุตสาหกรรม และมีข้อแม้ว่าต้องรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นตำ่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะยาวด้วย

 

4. มาตรการฟื้นฟูนั้น ควรจะกันเงิน สักหนึ่งถึงสองแสนล้านบาทมาจัดสรรให้ท้องถิ่นไปเลยตามจำนวนประชากรและรายได้ต่อคนในแต่ละท้องที่(ในอัตราผกผัน ท้องที่ไหนรายได้ตำ่ได้รับงบสูง) แล้วให้ท้องทรีคิดโครงการเอง ดำเนินการโครงการเอง ควบคุมเอง จะได้โครงการที่ตรงตามต้องการ และมีโอกาสต้นทุนต่ำไร้รั่วไหล เป็นการกระจายทั้งอำนาจและทรัพยากร รวมทั้งฝึกให้ท้องถิ่นดูแลตนเอง ดีกว่างบปัจจุบันที่ ให้หน่วยราชการส่วนกลางเสนอโครงการ (แต่ผมก็ขอให้แค่ลดครึ่ง เพราะไม่งั้นท่านๆคงไม่ยอมให้เกิด …หรือถ้าท่านกลัวว่าสี่แสนล้านยังไม่พอแบ่งกันงาบเลย ก็จัดเพิ่มอีกสองแสนตามระบบที่ผมว่าก็ยังดี)

 

5. ในการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่เจ๊งยับอย่างการบินไทยนั้น สุดท้ายรัฐต้องใช้เงินแน่นอน(ขอประมาณว่าหนึ่งถึงสองแสนล้าน) รัฐไม่ควรต้องใช้เงินในงบประมาณ แต่น่าจะใช้เงินจากกองทุนวายุภักษ์ซึ่งรัฐถืออยู่99.7% โดยให้กองทุนวายุภักษ์จัดหาเงินจากตลาด โดยการขายรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือเกินจำเป็น(หรืออาจใช้Bridge financeก่อนในระยะต้นก็ได้ และอาจปรับกองทุนวายุภักษ์มาเป็น Holding Companyของรัฐทำหน้าที่ดูแลให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพไร้รั่วไหลเหมือนหลักการ Super Holding ที่เคยวางไว้ในร่างกฎหมายที่ถูกนักการเมืองบางคน และสภาคนดีย์ตีตกไปเพราะกลัวอำนาจนักการเมืองและข้าราชการจะลด (ทั้งหมดนี้เหมือนSingaporeช่วยSQกว่าสองแสนล้าน โดยให้เป็นหน้าที่ของTemasek ไม่ต้องรบกวนงบประมาณแผ่นดิน)

 

6. ควรจะใช้โอกาสนี้ ทดลองกันงบสักห้าร้อยล้าน มาแจกจ่ายให้ภาคประชาสังคม เสนอโครงการตรวจสอบติดตามงบพิเศษทั้งหมดกว่าสองล้านๆให้มีการใช้งานอย่างโปร่งใส ไร้รั่วไหล โดยใช้ฐานโครงการเดิมที่มีอยู่ เช่น ข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact) COST(Construction sector Transparency Initiative) ซึ่งงบที่ใช้แค่ 0.0025%ของงบพิเศษทั้งหมดนี้น่าจะลดต้นทุนได้กว่าสิบเปอร์เซนต์ กับจะได้ช่วยพัฒนาภาคประชาสังคมด้านนี้ไปด้วย

 

นี่เป็นข้อเสนอเบื้องต้นนะครับ ถ้าคิดอะไรออกอีกจะเสนอไปเรื่อยๆนะครับ ถึงแม้จะเป็นแค่ประชาชนธรรมดา ไม่รำ่รวยพอที่จะได้รับเชิญไปให้คำเสนอแนะ ไม่เก่งกาจพอที่จะได้รับเชิญไปร่วมให้คำปรึกษา แต่ก็ยังอยากแสดงความเห็นตามวิถี ไม่ยกประเทศนี้ให้ใครทั้งนั้น

 

ข้อมูล Banyong Pongpanit

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ