ข่าว

เร่งลดติดเชื้อต่ำร้อยต่อวัน-ทุกจว.ช่วยคุม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โควิด" ลาม 66 จังหวัด เผย กทม.ทะลุ 1 พันคนแล้ว ดับเพิ่ม 3 รวมเสียชีวิต 23 ศพ ป่วยเพิ่ม 102 สะสม 2,169 ตั้งเป้าลดติดเชื้อให้เหลือสองหลัก พบ 11 จว.ไร้ผู้ป่วย ด้านสธ.ย้ำญี่ปุ่นแจกยาทำวิจัยวงเล็ก

สถานการณ์แพร่ระบาด โควิด-19 ยังพบผู้เสียชีวิตและติดเชื้อเพิ่มรายวัน แม้จะมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ตาม

 

 

 

 

 

วันที่ 5 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุมประจำวันของศบค.ถึงสถานการณ์ไวรัสระบาดว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น 102 ราย หายกลับบ้าน 62 ราย รวมกลับบ้านแล้ว 674 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,472 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ศพ ยอดรวม 23 ศพ ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,169 ราย ถือเป็นรายที่ 2,068-2,169 พบใน 66 จังหวัด 

 

 

 

 

 

สำหรับผู้ป่วยใหม่ในกลุ่มแรก 48 ราย ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นจากสถานบันเทิง 2 ราย พิธีกรรมทางศาสนา 2 ราย และสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 44 ราย ส่วนใหญ่ คือ กทม. ภูเก็ต และสมุทรปราการ ส่วนกลุ่มที่สอง 42 ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นคนไทยที่ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 13 ราย ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ เป็นนักศึกษาและทำงานร้านอาหาร ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย สัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 5 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ จำนวน 19 ราย และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2 ราย และกลุ่มที่สาม อยู่ระหว่างรอการสอบสวนโรค 12 ราย

ในส่วนผู้เสียชีวิต 3 ราย พบว่ารายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 46 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติกลับมาจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงไทยวันที่ 22 มีนาคม รักษาวันแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา พบมีไข้ 38.9 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก และเสียชีวิตวันที่ 3 เมษายน ส่วนรายที่ 2 เป็นชายอายุ 82 ปี สัญชาติสวิส มีประวัติโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง มีประวัติร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านอำเภอหัวหิน และร่วมงานเลี้ยงบาร์แถวสุขุมวิท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม มีไข้ จากนั้นวันที่ 31 มีนาคม เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบมีความดันโลหิตสูง เหนื่อยหอบ ชีพจร 100 ครั้งต่อนาที แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นปอดบวม ส่งต่อรักษาโรงพยาบาลเอกชนที่ จ.เพชรบุรี โดยในวันที่ 1 เมษายนใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา และรายที่ 3 ชายไทย อายุ 30 ปี อาชีพก่อสร้าง ดื่มสุราประจำ เดินทางมาจาก จ.สุรินทร์ และทำงานก่อสร้างที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เริ่มป่วย ไอ อาเจียนเป็นเลือด เมื่อวันที่ 2 เมษายน ไอมากขึ้น หอบ และรักษาตัวที่ รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ แรกรับออกซิเจนเลือดต่ำ มีการเอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 102 ราย มาจาก กทม. 34 ราย, ภูเก็ต 24 ราย, สมุทรปราการ 9 ราย, ชลบุรี 8 ราย, นนทบุรี 7 ราย, เชียงใหม่ 3 ราย, ฉะเชิงเทรา นราธิวาส พัทลุง ลำปาง จังหวัดละ 2 ราย นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สกลนคร สระแก้ว และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้พบว่ามี 11 จังหวัดที่ยังไม่พบรายงานการรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คือ กำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พังงา, พิจิตร, ระนอง, สตูล, สิงห์บุรี และอ่างทอง

“การกระจายตัวของผู้ป่วยนั้น ณ วันนี้ตัวเลขต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรุงเทพฯ ก็ยังสูง โดยตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมพบว่ากรุงเทพฯ ทะลุผู้ป่วยทะลุพันคนแล้ว และยังพบในพื้นที่เดิมๆ ทั้งปริมณฑล จังหวัดภาคตะวันออก สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ยังมี 11 จังหวัดไม่พบผู้ป่วย ซึ่งต้องขอขอบคุณทางผู้ว่าราชการ และประชาชน พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามตรึง แต่ตัวเลขจังหวัดที่ไม่พบก็เริ่มน้อยลง ตอนนี้เหลือ 11 จังหวัดแล้ว เราต้องพยายามกันมาก ต้องลดผู้ติดเชื้อลงให้เป็นเลขสองหลักให้ได้ พื้นที่ที่จะรักษาในโรงพยาบาลจะไม่เพียงพอ เพราะมีความเสี่ยงทุกจังหวัดแล้ว” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากจีนแทนที่จะรับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตยาเอวีแกน ที่สนับสนุนฟรีกว่า 30 ประเทศ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั้งที่ยา 2 ตัวนี้เป็นยาตัวเดียวกัน แค่ชื่อทางการค้าต่างกันเท่านั้นว่า ยา 2 ตัวนี้คือยาตัวเดียวกันที่มีชื่อสามัญว่าฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งประเทศจีนได้สิทธิบัตรจากญี่ปุ่นไปผลิตต่อ ส่วนการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้นลอตแรกไทยก็ได้รับการสนับสนุนจากจีนแบบให้เปล่าเช่นกัน อย่างไรตามเพื่อสำรองให้อุ่นใจว่าเราจะมียาเพียงพอต่อการใช้รักษาผู้ป่วยในประเทศ กรมควบคุมโรคได้สั่งซื้อ 4 หมื่นเม็ด องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้ออีก 4 หมื่นเม็ดจากประเทศญี่ปุ่น อีก 1 แสนเม็ดจากจีน

“ที่กำลังจะมาถึงไทยเร็วๆ นี้ คือลอตที่องค์การเภสัชฯ สั่งซื้อจากจีน 1 แสนเม็ด และญี่ปุ่น 1 แสนเม็ด ทั้งหมดเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีเครื่องมือรักษาชีวิตประชาชน และยาที่ได้มาได้ใช้รักษาผู้ป่วยไปแล้วจำนวนมาก กทม.กว่า 200 ราย ต่างจังหวัดกว่า 100 ราย” นายอนุทินกล่าว และว่า จากสถานการณ์การระบาดที่ทั่วโลกมีความต้องการใช้ยาจำนวนมาก ดังนั้นการซื้อหรือได้รับบริจาคต้องออกแรงเจรจากว่าจะได้มา ที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจากับทั้งทูตจีนและญี่ปุ่นตลอด ส่วนข่าวที่ญี่ปุ่นจะให้ฟรีเพิ่งมีมาทีหลังและยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีความแน่นอนว่าจะได้เท่าไร เมื่อไร เพียงพอ และทันเวลาหรือไม่

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ว่า มีข้อครหาในโซเชียลมีเดียบอกว่าญี่ปุ่นจะบริจาคยาฟาวิพิราเวียร์ แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะจัดซื้ออีกทำไม เรื่องนี้เราได้อีเมลสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าเขายังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย สอบถามไปยังบริษัทฟูจิฟิล์มที่ทำวิจัยและถือใบอนุญาตผลิตยาตัวนี้ ก็บอกกลับมาว่าจะให้ฟรีเฉพาะประเทศที่ร่วมศึกษาวิจัยเท่านั้น ไม่ได้จะให้ฟรีเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยทั่วไป

ในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่นำมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้องบอกว่ายังไม่นิ่ง ปัจจุบันมีเพียงรายงานผลการรักษาจากประเทศจีนที่ระบุว่าได้ผลจริง ยังไม่มีผลศึกษาวิจัยออกมา ญี่ปุ่นที่เป็นประเทศแรกผลิต จึงอยากทำการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนไปเลย เบื้องต้นเท่าที่ทราบเขาติดต่อโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีคนไข้โควิด-19 หลักร้อยคน ไม่ใช่ให้มารักษาคนไข้ทั่วไป ฉะนั้นชีวิตคนไข้รอไม่ได้จึงต้องจัดหาเข้ามา โดยในวันที่ 6 เมษายน ยาฟาวิพิราเวียร์จะนำเข้ามาจากจีน

 

 

 

 

 

ส่วน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากญี่ปุ่นและจีนเข้ามารวม 8.7 หมื่นเม็ด ได้กระจายยาอย่างรวดเร็วไปยังโรงพยาบาลในเขตสาธารณสุข 12 เขตทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยทั้งหลาย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อทำการรักษาผู้ป่วย ซึ่งมีการใช้รักษาไปแล้ว 4.8 หมื่นเม็ด คงเหลือ 3.8 หมื่นเม็ด

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในยา 7 รายการสู้ศึกโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นยาที่ผลิตได้เองในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชฯ จึงไม่มีปัญหา ยกเว้นยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตเองไม่ได้ เพราะมีแค่ญี่ปุ่นแหล่งกำเนิดยาตัวนี้ และจีนที่รับสิทธิบัตรให้ผลิตเพิ่มในสถานการณ์ระบาดนี้ จึงจำเป็นต้องนำเข้ามา ทั้งนี้ หลังจากมีการทดลองและใช้ได้ผลดีในประเทศจีน ประเทศไทยและทั่วโลกจึงต่างต้องการยาตัวนี้เช่นกัน การแสวงหาที่ผ่านมาจึงได้จำนวนจำกัด ซึ่งได้รับความร่วมมือระดับรัฐบาล โดย รมว.สาธารณสุข ประสานผ่านสถานทูตจีน ทำให้ได้ยาตัวนี้มา

มีรายงานแจ้งว่า ศ.นสพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งมาที่ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา ว่ามีนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 คน หลังจากที่ได้รับการยืนยันผลการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะนี้นิสิตคนดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว

 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ