ข่าว

'หมอแก้ว' แจงละเอียดอาการโควิด-19 เด็ก-ผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โพสต์เฟซบุ๊กขยายความเกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19 เด็ก-ผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร รวมถึงโอกาสที่จะเสียชีวิตในแต่ละช่วงวัย

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ หรือ หมอแก้ว รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โพสต์เฟซบุ๊กขยายความเกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19  ความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ โอกาสที่จะเสียชีวิตในแต่ละช่วงวัยหลังจากที่มีคนสนใจสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก

เมื่อวานแถลงข่าวได้คุยเรื่องอาการและความรุนแรงของโรคให้ฟัง มีคนสนใจสอบถามเข้ามามาก วันนี้ก็เลยนำเรื่องนี้มาขยายให้ฟังกันอีกรอบครับ
 

 

 

คำถามแรก ถ้าป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาการจะเป็นยังไงบ้าง

 

 

ตอบ : ผู้ใหญ่กับเด็กอาการจะไม่เหมือนกันครับ ผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 89 จะมีอาการไข้ , ร้อยละ 68 จะมีอาการไอ ,  ร้อยละ 14 จะมีอาการอ่อนเพลีย , มีน้ำมูกพบได้ค่อนข้างน้อยแค่ประมาณร้อยละ 5 , ร้อยละ 15 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ , ร้อยละ 38 มีอาการอ่อนเพลีย และร้อยละ 19 มีอาการหายใจลำบากหรือหายใจเร็ว

 

 

 

ในขณะที่เด็กจะมีอาการน้อยกว่า นั่นคือ มีเด็กที่ป่วยด้วยโรคโควิดร้อยละ 42 ที่มีอาการไข้ , ร้อยละ 49 มีอาการไอ (จะเห็นว่าอาการไอพบได้บ่อยกว่าไข้ ในเด็ก) , ร้อยละ 8 มีน้ำมูก , ร้อยละ 8 มีอาการอ่อนเพลีย และร้อยละ 29% หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว

 

 

 

'หมอแก้ว' แจงละเอียดอาการโควิด-19 เด็ก-ผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร
 

 

 

คำถามที่ 2 คือ หากติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน

 

 

 

ตอบ ในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยจะพบผู้ที่มีอาการรุนแรงค่อนข้างน้อย

 

- อายุมากขึ้นก็จะพบผู้ที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วย นั่นคือ

หากมีผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุน้อยกว่า 39 ปีหนึ่งร้อยคน จะมีผู้เสียชีวิตเพียง 0.2 คน

หากมีผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุ 40-49 ปีหนึ่งร้อยคน จะมีผู้เสียชีวิต 0.4 คน

หากมีผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุ 50-59 ปีหนึ่งร้อยคน จะมีผู้เสียชีวิต 1.3 คน

หากมีผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุ 60-69 ปีหนึ่งร้อยคน จะมีผู้เสียชีวิต 3.6 คน

หากมีผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุ 70-79 ปีหนึ่งร้อยคน จะมีผู้เสียชีวิต 8 คน

หากมีผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปหนึ่งร้อยคน จะมีผู้เสียชีวิต 14.8 คน

 

 

 

'หมอแก้ว' แจงละเอียดอาการโควิด-19 เด็ก-ผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร

 

 

จะเห็นได้ว่าหากผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคโควิดจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า

 

 

 

เด็กแม้อาการจะไม่มาก แต่ถ้าในบ้านมีทั้งเด็กและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกัน เด็กที่อาการไม่มากอาจทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อได้ ซึ่งหากผู้สูงอายุติดเชื้อขึ้นมาโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตก็จะสูงด้วย

 

 

 

ดีที่สุดคือไม่ติดเชื้อครับ ดูแลสุขภาพตัวเอง ดูแลสุขภาพคนในครอบครัว ดูแลสุขภาพเพื่อนร่วมงาน และ ดูแลสุขภาพกันและกันนะครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะเราอยู่ทีมเดียวกันครับ

 

 

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : หมอแก้ว ผลิพัฒน์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ