ข่าว

ครม.รับทราบแนวทางสู้โควิด-19 อุดมศึกษาฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.รับทราบการดำเนินงานรองรับการระบาดโควิด -19กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ

 

 

3 เมษายน 2563 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในประเด็น “การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์” ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ  

 

สาระสำคัญของเรื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่าง ๆ
ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยที่ยังคงมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันในหลักร้อยคนขึ้นไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ เวชภัณฑ์ ชุดตรวจวินิจฉัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น

 

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เห็นได้ว่าปริมาณ N95 หรือ PPE ไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นว่าการสนับสนุนผลจากการวิจัยด้านอุปกรณ์ ทางการแพทย์เป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยได้สนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากผลงานวิจัย เช่น N95, PPE เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยเชิงรุก โดยการบริหารจัดการงานวิจัยที่เป็นโครงการเร่งด่วนตามความต้องการของประเทศที่ใช้ในการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อ การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย การคาดการณ์การระบาดของเชื้อ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการระบาดในวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้เองในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ใช้นวัตกรรมการวิจัยดังกล่าว รวมทั้งภาคเอกชนที่มีกำลังในการผลิตเป็นจำนวนมาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด มหาวิทยาลัย ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้น ประเด็นการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์4 ประเด็น ดังนี้


  1. หน้ากากทดแทน N95 (N95-equivalent) ที่สามารถใช้ได้หลายครั้ง ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ


   1.1 การพัฒนาโครงหน้ากาก N95 และการทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุกรองชนิดต่าง ๆ ให้สามารถกรอง PM2.5 ได้ร้อยละ 95 มีกำลังการผลิต 30,000 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 400,000 ชิ้นต่อปี โดยจะมีการทดสอบมาตรฐานในเดือนเมษายน 2563


   1.2 การประยุกต์ใช้ Silicone mask มาดัดแปลงเพิ่มแผ่นกรอง HEPA filter ที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานสามารถกรองป้องกันเชื้อได้มากกว่าหน้ากากชนิด N95 มีกำลังการผลิต 10,000 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 50,000 ชิ้นภายใน 5 เดือน (สิงหาคม 2563)


   1.3 การพัฒนาหน้ากาก 2 รูปแบบ คือ (1) หน้ากากบรรจุแผ่นกรองอากาศ HEPA filter เป็นหน้ากากผ้าสปันบอนด์แบบ Non-Woven อยู่ในระหว่างการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด มีกำลังการผลิต 1,000 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 100,000 ชิ้นภายใน 3 เดือน (มิถุนายน 2563) และ (2) หน้ากาก Nano ใช้นวัตกรรมนาโนและแผ่นกรองอากาศนาโนไฟเบอร์ มีกำลังการผลิต 200 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 50,000 ชิ้นภายใน 5 เดือน


   1.4 การพัฒนาเครื่องมือเพื่อขยายการผลิตแผ่นกรองเส้นใยนาโนไฟเบอร์ มีกำลังการผลิต 720 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตให้เป็น 5,700 ชิ้นต่อเดือน โดยจะเริ่มผลิตได้หลังจากที่สามารถพัฒนาเครื่องได้เสร็จสิ้นแล้ว  

 

2. อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) ดังนี้


   2.1 หน้ากากแรงดันบวก (Powered air-purifying respirator (PAPR)) ซึ่งเป็นหน้ากากที่มีแรงดันบวกภายในประมาณ 3 - 7 ปาสคาล เป็นหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สามารถผลิตได้จำนวน 1,000 ชุดโดยจะทยอยส่งมอบได้เดือนละ 200 ชุด ภายในเดือนเมษายน 2563 และดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำแม่พิมพ์เพื่อให้สามารถผลิต PAPR ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมาย 10,000 ชุด ภายในเวลา 2 - 3 เดือน


   2.2 Surgical gown and cover all โดยในเบื้องต้นสามารถผลิตได้ 40,000 ชุด ภายในเดือนเมษายน 2563 เพื่อจะส่งมอบให้องค์การเภสัชกรรม โดยงบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณขององค์การเภสัชกรรม และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดเป็น Cover all ต่อไป


  3. เครื่องช่วยหายใจ (Ventilators) โดยการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ได้เตรียมการสำหรับการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ ดังนี้ (1) การสร้างฐานข้อมูลในการแชร์เครื่องช่วยหายใจระหว่างโรงพยาบาลและพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับปริมาณคนไข้ (2) การจัดหาอุปกรณ์ประกอบ (Accessories) แบบสิ้นเปลืองของเครื่องช่วยหายใจ (3) การประสานงานกับผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสั่งซื้อจำนวน ประมาณ 1,000 ชิ้น (4) การซ่อมแซมเครื่องช่วยหายในที่มีอยู่เดิม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ (5) การเร่งพัฒนาเครื่องช่วยหายใจทั้งแบบ medium-end โดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ


  4. ห้องตรวจแยกโรคแรงดันลบ (Negative-pressure facilities) โดยมีโครงการต้นแบบ ได้แก่  (1) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน สนับสนุนดำเนินงานที่โรงพยาบาลราชวิถี (2) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล (3) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


  5. การสนับสนุนด้านอื่นๆ


   5.1 การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมกันให้ทุนวิจัยเร่งด่วนเรื่องวัคซีนไปแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ (1) การพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) (2) การสร้าง S-glycoprotein vaccine ป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) (3) การพัฒนา COVID-19 วัคซีนชนิดเชื้อตายใน Vero cell (ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล) (4) การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ในส่วนการประสานงานกับต่างประเทศ ได้จัดให้มีทีมนักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ติดตามความก้าวหน้าและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน เพื่อนำมาต่อยอดเข้ากับโครงการวิจัยข้างต้นหรือให้ทุนวิจัยในโครงการใหม่เพิ่มเติมได้อย่างทันที


   5.2 การดำเนินงานในส่วนชุดตรวจ ดังนี้


    (1) การพัฒนาชุดตรวจมาตรฐานแบบ RT-PCR เพื่อสนับสนุนห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้ส่งมอบแล้ว 20,000 ชุด และมีกำลังการผลิต 100,000 ชุดต่อเดือน
    (2) การสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจแบบ LAMP ที่ให้ผลตรวจรวดเร็วขึ้น จำนวน 3 โครงการ จะเริ่มได้น้ำยาตรวจในเดือนเมษายน 2563 และสนับสนุน/ทดแทน ชุดตรวจแบบ RT-PCR
    (3) การพัฒนาชุดตรวจแบบ CRISPR-cas ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสั้นลงขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ


   5.3 การพัฒนาระบบสนับสนุนการดำเนินงานโดยเทคโนโลยีสารสนเทศ


    (1) ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยโปรแกรม DDCcare ร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    (2) ระบบ TeleHealth โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน
    (3) ระบบ Logistics เพื่อบริหารจัดการความต้องการเวชภัณฑ์ระหว่างผุ้ใช้และ supplies โดยทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล วช. และกระทรวงสาธารณสุข
    (4) ระบบ MELB Platform เพื่อบริหารจัดการการบริจาคสิ่งของต่าง ๆ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)
   5.4 การสนับสนุนโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น


สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ขาดแคลนไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ทำให้ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยเริ่มมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากอุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ ตลอดจนในอนาคตหากยังไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชุดตรวจวินิจฉัยที่มีอยู่ก็อาจจะไม่เพียงพอ การพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้เองในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์สำหรับป้องกันตนเอง รวมทั้งการมีชุดตรวจที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพื่อที่จะได้วินิจฉัยผู้ป่วยได้เร็วก็จะทำให้เกิดการรักษาและดูแลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งทำให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้


ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา  งบประมาณดำเนินการประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น   1) งบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 จำนวนประมาณ 2,000 ล้านบาท
 2) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ