ข่าว

"ศรีสุวรรณ" โวยธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ยุคโควิดโขกสับราคา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศรีสุวรรณ" โวยธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในยุคโควิด-19 โขกสับราคาไร้กฎหมายควบคุม กระทบโดยตรงผู้บริโภค จี้ 3 หน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งออกระเบียบควบคุมป้องฉวยโอกาสซ้ำเติม ปชช.

 

          เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2563 - นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เชื่อรัฐยอมกักตัวอยู่กับบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการโขกสับราคาอย่างหน้าเลือดจากธุรกิจรับส่งอาหารไปส่งให้ถึงบ้าน หรือเดลิเวอรี่ว่า มีการกำหนดราคาค่าบริการอย่างไร้การควบคุม

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

สคบ.เล็งคุย ไลน์แมน-แกร็บ ส่งอาหารให้ผู้รับปลายทางปลอดภัย

"ทัพเรือ" โต้ "ศรีสุวรรณ" ไม่ใช่เรื่องเสนอปลด ผบ.ทร.

"ศรีสุวรรณ" จี้ นายกฯ ปลด ผบ.ทร.เซ่นซื้อเรือยกพลขึ้นบก

 

 

          ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และนโยบายของรัฐบาลในการรณรงค์ให้ประชาชนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน และสั่งให้ร้านอาหาร ห้ามนั่งกิน ทำให้เป็นช่องทางให้ธุรกิจรับ-ส่งอาหารเป็นที่ต้องการของประชาชน และเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นอันมาก มีการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมในการหาร้านค้า ร้านอาหารเข้าร่วมบริการ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เจ้าของธุรกิจเหล่านี้จะหักค่าส่งยังไม่ร่วมค่า VAT 35% (ถ้ารวม VAT ก็ 42%) ยกตัวอย่าง ร้านค้าขายข้าวแกงกล่องละ 40 บาท ก็จะเหลือ 25.20 บาท หากต้องให้เหลือ 40 บาทเพื่อให้พอมีกำไรอยู่บ้าง ต้องตั้งราคาที่กล่องละ 63.50 บาท ซึ่งด้วยราคานี้ทำให้ขายยาก และภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภค และยังไม่รวมเงินที่ร้านค้าที่เข้าร่วมบริการกว่าจะได้รับอีก 45 วัน รวมทั้งการที่ต้องเซ็นต์สัญญาร่วมธุรกิจอย่างน้อย 12 เดือนอีกด้วย แม้ปัจจุบันมีบางธุรกิจเดลิเวอรี่พยายามล่อใจลูกค้าโดยลดค่าคอมฯลงมาเหลือ 30% ก็ตาม

 

          กรณีดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่ามีการกำหนดราคากันเองอย่างไร้การควบคุม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่พยายามจะปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคมในการอยู่กับบ้านไม่ออกนอกที่อยู่อาศัยในยุคโควิด-19 แต่คนเราต้องกินต้องใช้ จึงหันไปพึ่งบริการธุรกิจรับส่งอาหารดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่กลับหนีเสือปะจระเข้โดยที่หน่วยงานภาครัฐไม่คิดที่จะเข้ามาควบคุมทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ผิดกฎหมายชัดๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกรมการค้าภายใน ที่จะต้องรีบเร่งในการออกกฎระเบียบมาควบคุมดูแลธุรกิจเหล่านี้ไม่ให้ฉกฉวยโอกาสในยามที่ประชาชนเดือดร้อนเช่นนี้ แต่ถ้าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นไม่ทำอะไร สมาคมฯจะนำความขึ้นฟ้องต่อศาล ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ