ข่าว

'อัจฉริยะ'พาเหยื่อร้องตำรวจถูกเมียพระเอกตุ๋นขายหน้ากาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อัจฉริยะ" พาสาวเจ้าของคลินิกตรวจสุขภาพ แจ้งความจับเมียพระเอกดังฉ้อโกงขายหน้ากาก ด้าน "ศรราม" ปัดโกง ยันคืนเงินให้แต่คู่กรณีไม่รับโทรศัพท์ ขณะที่บุรีรัมย์เร่งล่าอีก 1 นักโทษแหกคุกหนีโควิด ตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่บกพร่อง

         วันที่ 30 มีนาคม  หน้ากากอนามัยยุคโควิด-19 ระบาด กลายเป็นของหายากและกลายเป็นคดีความกันบ่อยครั้งหลังมีการกักตันและหลอกขาย ล่าสุดนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำผู้เสียหายเป็นหญิงรายหนึ่งเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.นพพร ศรีสุชาติ รองผกก.(สอบสวน) สน.หัวหมาก ในคดีฉ้อโกง กรณีภรรยาอดีตพระเอกดังก่อเหตุฉ้อโกงหน้ากากอนามัยสูญเสียเงินล้านกว่าบาท โดยระหว่างที่นายอัจฉริยะเข้ามาสน. ตำรวจได้ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ นายอัจฉริยะ ได้ค่า 36.8 องศาเซลเซียส จึงอนุญาตให้เข้าสน.ได้

 

 

 

          ด้านผู้เสียหายกล่าวว่า เป็นเจ้าของคลินิกตรวจสุขภาพย่านมีนบุรี ต้องการหน้ากากให้ตนเองและแพทย์พยาบาลใช้ในการตรวจผู้ป่วย โดยได้รู้จักกับภรรยาพระเอกคนดังกล่าวผ่านทางไลน์ที่มีเพื่อนแนะนำมาว่าผู้ต้องหามีหน้ากากอนามัยขาย สามารถสั่งนำเข้าจากต่างประเทศได้ เห็นว่าผู้ต้องหาเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และยังบอกว่าหน้ากากที่นำเข้านั้นมาจากเวียดนาม ยี่ห้อ 3 เอ็ม คิดว่ามีความน่าเชื่อถือ จึงติดต่อขอซื้อไป 2 แสนชิ้น ในราคา 1.8 ล้านบาท

          ผู้เสียหายเผยว่าหลังจากนัดแนะตกลงกันทางไลน์แล้ว อีกฝ่ายบอกว่าต้องจ่ายค่ามัดจำครึ่งหนึ่งก่อนคือ 950,000 บาท แล้วถึงจะได้หน้ากากในวันที่ 13 มีนาคม จึงโอนเงินเป็นค่ามัดจำก้อนแรก 400,000 บาท จากนั้นจึงต้องโอนเงินให้ครบ 950,000 บาท โอนเงินไปทั้งหมด 6 ครั้งจนครบราคามัดจำ อีกฝ่ายบอกว่าไปรับของได้ที่บ้านของนักแสดงชื่อดังย่านรัชดาภิเษก เมื่อถึงวันที่ 13 มีนาคม  ปรากฏว่ากลับไม่ได้รับของ จึงพยายามติดต่อทางไลน์แต่อีกฝ่ายก็บ่ายเบี่ยงมาตลอดอ้างมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถจัดหน้ากากอนามัยให้ได้ วันนี้จึงรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าแจ้งความดังกล่าวเพราะทำธุรกรรมการโอนเงินในพื้นที่สน.หัวหมาก

          เบื้องต้นตำรวจจะสอบปากคำและตรวจสอบรายละเอียดหลักฐานของคดีว่าภรรยานักแสดงคนดังนั้นมีหลักฐานรายละเอียดการติดต่อซื้อหน้ากากอนามัยหรือไม่ หากมีหลักฐานแล้วปรากฏว่าการส่งสินค้ามีความล่าช้าเองจะเป็นความผิดทางแพ่ง แต่ถ้าไม่มีหลักฐานติดต่อซื้อหน้ากากถึงจะเข้าข่ายความผิดฉ้อโกง ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายมีการคืนเงินกันผู้เสียหายก็ประสงค์จะถอนแจ้งความเพราะต้องการเพียงเงินคืนทั้งนั้น 

          ล่าสุดพระเอก “หนุ่ม” ศรราม เทพพิทักษ์ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ตอบโต้กรณีที่ “ติ๊ก" ภรรยา ถูกแจ้งความว่าหลอกขายหน้ากากอนามัยเป็นเงินเกือบ 1 ล้าน ว่า ความจริงตนและภรรยาเตรียมจะทำธุรกิจเรื่องหน้ากาก แต่หลังจากที่ทางการประกาศว่าหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมจึงตัดสินใจไม่ทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

          “ผมและภรรยายอมเสียเงินมัดจำ และเงินที่สั่งของไปล่วงหน้า ยอมเสียไปเลย ภรรยาพยายามติดต่อผู้เสียหาย พยายามโทรหาคุณณานิฐา เพื่อคืนเงินมัดจำ 9 แสนบาทให้ แต่ไม่รับโทรศัพท์”

          นายศรราม กล่าวว่า เราเตรียมพร้อมตั้งแต่ 13 มีนาคม พร้อมชำระ 9 แสนบาท วันนี้ภรรยาประสานไปที่ พ.ต.ท.ประยูร ทองนุ่น ที่สน.หัวหมาก ให้ตำรวจช่วยประสานคุณณานิฐาให้มารับแคชเชียร์เช็คคืน แต่กลับมีทนายอีกคนมาไลฟ์แจ้งความจับ ออกชื่อตนชัดเจน ทั้งที่เราไม่ต้องการทำธุรกิจผิดกฎหมาย ตอนแรกจะขายจริง แต่พอรัฐบาลสั่งเป็นสินค้าควบคุมก็ตัดสินใจไม่ขายแล้ว ขอให้คุณณานิฐามารับเงินคืนด้วยครับ

 

 

 

          วันเดียวกัน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนักโทษเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์อ้างกลัวโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อเหตุจลาจลและหลบหนีออกนอกเรือนจำว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้นจากการตรวจสอบบริเวณเรือนจำมีความเสียหายจากการถูกทุบทำลายและเผาไฟทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ของโรงพยาบาล เรือนจำจึงจำเป็นต้องย้ายผู้ต้องขัง 2,106 ราย ไปฝากไว้ที่เรือนจำใกล้เคียงในภาคอีสาน 18 แห่ง ส่วนผู้ต้องขังหลบหนีไป 11 ราย สามารถติดตามกลับมาได้แล้ว 10 ราย โดยส่วนใหญ่ทุบกำแพงห้องเยี่ยมญาติหลบหนีไป แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ที่หน้าเรือนจำ และอีกส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมกลับมาได้ คงเหลือนักโทษอีก 1 รายที่อยู่ระหว่างการหลบหนี 

          ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งติดตามหาตัวพร้อมทั้งจะเข้าสอบปากคำผู้ต้องขังที่ก่อเหตุเพื่อดำเนินคดีด้วย ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะให้ระยะเวลาสอบปากคำนานเท่าไร โดยเรือนจำจะอำนวยความสะดวกให้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ต้องขังด้วยว่าจะให้ความร่วมมือในการสอบปากคำมากแค่ไหน ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย
          “เหตุจลาจลครั้งนี้เกิดจากผู้ต้องขังหยิบเรื่องที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อไวรัสโควิดในเรือนจำ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น อาจเป็นกุศโลบายของผู้ต้องขังบางคนที่อยากจะออกจากเรือนจำจึงหาประเด็นมาปลุกระดม ซึ่งตัวการสำคัญของเรื่องนี้ก็มีโทษหนักแต่ทางเรือนจำก็พยายามชี้แจงไปถึงผู้ต้องขังและญาติว่าเรามีระบบคัดกรองที่เข้มข้น ไม่มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่ระบาดในเรือนจำ หลังจากนี้เรือนจำอาจจะต้องทำการบ้านเพิ่ม” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

          รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับผู้ต้องขัง 1 รายที่ยังไม่สามารถติดตามตัวได้คือ ขช.ธันยพงศ์ สินพูน อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ร่วมกันครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพ) มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม้ได้รับใบอนุญาต ต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย

          ต่อมาเวลา 12.30 น. พ.ต.อ.ณรัชต์ เปิดเผยแนวทางในการเข้าตรวจสอบสาเหตุและบทลงโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าว ว่ามีการวางมาตรการ 4 ข้อ คือ 1.สั่งตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าบกพร่องหรือมีความผิดพลาดตรงไหน 2.หาตัวแกนนำว่าใครเป็นคนยุยงปลุกปั่นกลุ่มผู้ต้องขัง 3.ติดตามผู้ต้องขังที่ยังหลบหนีอีก 1 ราย และ 4.หารือศาลเพื่อชะลอการพิพากษา หรือหาทางออกในการเข้าร่วมพิจารณาคดี

          ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เหตุการณ์นี้รุนแรงและไม่เคยเกิดขึ้น ความเสียหายที่เรือนจำบุรีรัมย์แทบจะ 100% เวลานี้กำลังเร่งให้ประเมินค่าความเสียหายและสั่งให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วว่าใครเป็นคนปลุกปั่น และสาเหตุทั้งหมดอย่างละเอียดเป็นมาอย่างไร แต่ต้องใช้เวลาสอบสวนเพราะผู้ต้องขังเวลานี้กระจายไปเรือนจำอื่นกว่า 18 แห่ง ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายคนกังวล ขอยืนยันว่าทางเรือนจำมีมาตรการป้องกันอย่างดีมาตลอด โดยใช้วิธีคนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า มีการทำห้องกักโรค เพิ่มการคัดกรองผู้ต้องขังเข้มงวด ซึ่งจนถึงเวลานี้เรือนจำทั่วประเทศพบผู้ต้องขังติดเชื้อเพียง 1 ราย ซึ่งรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว และจนถึงตอนนี้ไม่มีผู้ต้องขังเชื้อติดเพิ่ม

          “ขอให้ทุกฝ่ายอย่าวิตกกังวล เพราะเหตุการณ์ที่เรือนจำบุรีรัมย์ เป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อปลุกปั่น ต้องการจะแหกคุก ซึ่งการจะยกเหตุผลไม่ให้เยี่ยมญาติผมเห็นว่าคงไม่ใช่ประเด็น ” รมว.ยุติธรรมกล่าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายจังหวัดทั่วประเทศมีการออกคำสั่งห้ามคนเดินทางเข้าออก หยุดการเดินรถ เพื่อสกัดการแพร่ระบาด ล่าสุดนายพงษ์ศักดิ์ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลามีคำสั่งศูนย์บริหารงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เลขที่ 5/2563 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2563 ประกาศให้พื้นที่จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 โดยห้ามประชาชนเดินทางผ่านเข้าออกพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นเหตุให้ รฟท.ไม่สามารถเดินขบวนรถโดยสารต่างๆ เข้าออกพื้นที่ได้ จึงได้หยุดเดินขบวนรถไฟทุกขบวนตั้งแต่รถโดยสารท้องถิ่นและรถด่วน หรือขบวนรถพิเศษ โดยจะวิ่งแค่สถานีชุมทางหาดใหญ่เท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหลังจาก จ.ปัตตานี และจ.ยะลามีการห้ามเคลื่อนย้ายคนเข้าจังหวัด

          อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นิติบุคคลคอนโดชื่อดังแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า ได้นำป้ายประกาศมาติดประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งให้ลูกบ้านทราบว่ามีลูกบ้านติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลศิริราชเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้ที่ติดเชื้อเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 70 ปี อาศัยอยู่กับลูกสาวในห้อง โดยผลการตรวจดังกล่าวได้รับการยืนยันจากแพทย์ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งนิติบุคคลได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ 191 กรมควบคุมโรค ให้นำรถมารับตัวออกจากคอนโด ซึ่งแจ้งไปตั้งแต่ 22.00 น. แต่เพิ่งจะมีรถมารับตัวหญิงคนดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 มีนาคม ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เบื้องต้นได้มีการนำเครื่องฉีดพ่นฆ่าเชื้อมาทำความสะอาดรอบคอนโดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกบ้าน

          ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าหลังข่าวมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ผู้อยู่อาศัยภายในคอนโดต่างหวาดผวาไปตามๆ กัน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยชั้นเดียวกับผู้ติดเชื้อซึ่งได้เพิ่มความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ บางรายถึงกับย้ายออกไปพักที่บ้านญาติ หรือไปหาที่พักแห่งอื่นที่ปลอดภัยแทน นอกจากนี้ทางนิติบุคคลยังประกาศเตือนห้ามลูกบ้านออกจากห้องเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสอีกด้วย

          ทั้งนี้ยังมีประกาศจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่าตามที่ธนาคารได้รับการแจ้งยืนยันในวันที่ 30 มีนาคม เวลา 11.00 น. ว่ามีพนักงานสาขาคลองเตย จำนวน 1 ราย ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพนักงานรายดังกล่าวเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม และเข้ารับการตรวจรักษาวันที่ 28 มีนาคมนั้น เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานและเป็นไปตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของธนาคารกสิกรไทย และแนวทางปฏิบัติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยเคร่งครัด ธนาคารจึงได้ให้พนักงานคนดังกล่าวและพนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดพนักงานคนดังกล่าวกักตัวเองในที่พักโดยทันทีตามระยะเวลามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และปิดสาขาคลองเตยตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึงวันที่ 10 เมษายน เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคและอบโอโซน และจะเปิดให้บริการในวันที่ 13 เมษายน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ