ข่าว

กัก 25 ทีมแพทย์ หมอติดเชื้อเพิ่ม 2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ติดเชื้อ "โควิด-19" เพิ่ม 107 ยอดสะสม 934 ราย ด้านบุรีรัมย์ยันหมอวิสัญญีติดเชื้อต้องกักคนไข้-ผู้ร่วมงาน 40 คน ยันสถานการณ์ในพื้นที่ไม่รุนแรง "กสทช." เจียดงบพันล้านให้รพ.-สถาบันแพทย์ของรัฐสู้ไวรัสมรณะ

สถานการณ์ระบาดไวรัส โควิด-19 ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้วยส่งผลกระทบกำลังด่านหน้าในการสู้ไวรัสครั้งนี้

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โควิด-19 ว่าสรุปรวมประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสม 934 ราย กลับบ้านแล้ว 70 รายและรักษาอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 860 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 4 ราย และเสียชีวิต 4 ราย โดยวันนี้ (25 มี.ค.) พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มอีก 107 ราย นับเป็นรายที่ 828-934 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันเดิมและเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้จำนวน 27 ราย ได้แก่ 1.เกี่ยวข้องกับสนามมวยจำนวน 4 ราย ได้แก่ พนักงานขับรถบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถรับจ้าง พบผู้ป่วยที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมุทรสาคร 2.เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 5 ราย ได้แก่ นักท่องเที่ยว นักร้อง นักดนตรี ประชาสัมพันธ์และเจ้าของสถานบันเทิง 3.ผู้ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการรายงานมาก่อนหน้านี้ จำนวน 14 ราย มีอาชีพ รับจ้าง ค้าขาย พนักงานบริษัท นักศึกษา คนขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ต้องขัง พบผู้ป่วยกระจายอยู่ที่เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ภูเก็ตและ กทม. 4.เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเชีย จำนวน 4 ราย พบผู้ป่วยที่ สงขลาและยะลา

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่มีจำนวน 13 ราย ได้แก่ 1.ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจำนวน 6 ราย เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวอังกฤษ ฟินแลนด์ เยอรมนี และอเมริกัน 2.ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดที่จะต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ จำนวน 5 ราย ได้แก่ พนักงานบริษัท พนักงานร้านนวด แคชเชียร์ และเจ้าหน้าที่สนามบิน 3.บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 2 ราย พบว่าเป็นแพทย์พี่เลี้ยง หรือแพทย์ผู้ใช้ทุนปีที่ 2 และทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล มีอาการเล็กน้อย แต่ยังคงทำงานในแผนกผ่าตัด ร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน จึงมีผู้สัมผัสใกล้ชิดร่วมด้วย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ห้องผ่าตัด 15 ราย แพทย์ร่วมงาน 10 ราย รวมผู้สัมผัสใกล้ชิด 25 ราย และทั้งหมดได้ถูกพักงานและให้อยู่ที่บ้านเพื่อกักกันตนเอง และกลุ่มที่ 3.ผู้ป่วยกลุ่มที่ยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อแล้วแต่ต้องรอการสอบสวนโรคและประวัติเสี่ยงเพิ่มเติมจำนวน 67 ราย

“พบหมอพี่เลี้ยงใช้ทุนปีที่ 2 ติดเชื้อเพิ่ม 2 คน ทำให้แพทย์และบุคลากรอีก 25 ราย ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่กักตัวนาน 14 วัน ทำงานที่โรงพยาบาลเข้าผ่าตัดและกินข้าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำให้มีผู้สัมผัสที่อยู่ในห้องผ่าตัด 15 คนและผู้ใกล้ชิด 10 คน รวมทั้งหมด 25 คนที่จะต้องถูกพักงานเพื่อกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ส่วนสาเหตุการติดเชื้อเนื่องมาจากผู้ป่วยปิดบังประวัติและเมื่อสอบสวนโรคประวัติย้อนหลังจึงให้ข้อมูลว่าสามีไปสนามมวยมา ดังนั้นอยากขอความรับผิดชอบจากประชาชนให้บอกข้อมูลทั้งหมดโดยไม่ปิดบัง เพราะส่งผลกระทบต่อแพทย์และบุคลากรแพทย์ มีผลต่อระบบสาธารณสุขที่ขาดแคลนกำลังมารักษาผู้ป่วยในช่วงวิกฤติโควิด-19” โฆษก สธ.กล่าว

ขณะที่ นายธัชธร หัตถาธยากูร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมคณะ แถลงยืนยันว่ามีวิสัญญีแพทย์ที่ รพ.บุรีรัมย์ ติดเชื้อจริงแต่ไม่ใช่ผู้ป่วยรายใหม่เป็นหนึ่งในผู้ป่วย 5 รายที่แถลงยืนยันผลตรวจไปก่อนหน้านี้ คือชายชาวต่างชาติ 2 ราย หญิงไทย 2 ราย และวิสัญญีแพทย์ โดยจากการสอบสวนโรคพบว่าวิสัญญีแพทย์เดินทางออกนอกพื้นที่ไปยังภาคใต้ กรุงเทพฯ และนครราชสีมา ซึ่งจากไทมไลน์พบว่าในช่วง 16-18 มีนาคม ยังไม่รู้ว่าติดเชื้อได้ไปปฏิบัติงานดมยาให้ผู้ป่วยตามปกติ จากนั้นมีอาการป่วยและตรวจพบติดเชื้อ โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ รพ.บุรีรัมย์ ก็มีแพทย์ พยาบาล บุคลากรอื่น และคนไข้ทั่วไปที่มาใช้บริการซึ่งเสี่ยงสัมผัสเชื้อต้องเข้าข่ายถูกกักตัวและเฝ้าอาการเป็นเวลา 14 วัน ประมาณ 30–40 คน ทั้งนี้สถานการณ์ในพื้นที่ไม่ได้รุนแรงตามที่มีกระแสข่าวออกไปขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

มีรายงานว่าโครงการคอนโดมิเนียมย่านรามอินทรา กทม. ออกหนังสือว่าได้รับแจ้งจากผู้พักอาศัยอาคารดี ในวันที่ 23 มีนาคม ว่าได้ไปพบแพทย์ และได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาวานนี้ (24 มี.ค.) โครงการได้แจ้งหนังสือว่าได้รับแจ้งจากผู้พักอาศัยอาคารซี ได้ไปพบแพทย์และได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อซึ่งผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่ รพ.พญาไทนวมินทร์แล้ว

วันเดียวกัน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. อนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยให้เกลี่ยเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของ กสทช. รวมกับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์ของรัฐขอรับการสนับสนุนดังกล่าวในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโดยจะเปิดให้ขอรับการสนับสนุนได้ตั้งแต่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป

“การเจียดจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนำงบประมาณไปใช้ในการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีโรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์ของรัฐที่ยื่นขอรับการสนับสนุนเข้ามา อาทิ การเปิดโรงพยาบาลภาคสนามยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ การจัดหาหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อและทำแอพพลิเคชั่นให้โรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปตรวจ” เลขาธิการกสทช.กล่าว

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ