ข่าว

26มี.ค.จ่อประกาศ"เคอร์ฟิว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลจ่อประกาศ "เคอร์ฟิว" หลัง "บิ๊กตู่" ใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" มีผล 26 มี.ค. สกัด "โควิด-19" ระบาด ยกระดับศูนย์บริหารโควิดเป็น "ศอฉ." บูรณาการทุกกระทรวง เตรียมพื้นที่รัฐในการกักตัวหากระบาดพุ่งสูง

สถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ยังลุกลาม และเกรงว่าไทยอาจเดินตามรอยอิตาลีที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว

อ่านข่าว-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด-19

 

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 24 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม แถลงว่า ครม.เห็นชอบประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยจะประกาศในวันที่ 26 มีนาคม เบื้องต้นมีระยะเวลา 1 เดือน โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบในการทำงาน และการยกระดับศูนย์บริหารโควิด-19 เป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหา หรือ ศอฉ.โควิด-19

 

 

 

นอกจากนี้มีคณะทำงานสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ ซึ่งจะติดตามมาตรการที่ประกาศออกไปแต่เดิมที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ในส่วนที่ 2 ก่อนจะเสนอมาตรการมาเพิ่มเติม นายกฯ จะเป็นคนอนุมัติ เพราะอำนาจต่างๆ ทั้งหมด กฎหมายทั้งหมด จะมาอยู่ที่นายกฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ศอฉ.จะมีการประชุมทุกเช้าเวลา 09.30 น. โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอและรายงานสถานการณ์ให้ทราบ ซึ่งในระยะที่ 1 ที่จะประกาศในวันที่ 26 มีนาคม เป็นเรื่องการทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน โดยเฉพาะขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากกลับก็ต้องเจอมาตรการต่างๆ ในการคัดกรองและการตรวจสอบระหว่างทาง

ประเด็นสำคัญวันนี้คือการกักตัวที่บ้านหรือในพื้นที่ ถ้าจำเป็นก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้น ในกรณีมีการแพร่ระบาดหรือตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น เราจำเป็นต้องหามาตรการอื่นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่ และการจัดหาวิชาการต่างๆ ให้เพียงพอ ทุกวันนี้มีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามา แต่ก็อาจจะไม่ค่อยเพียงพอกับสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ จึงต้องมีการจัดหาจัดซื้อเพิ่มเติม ซึ่งจะหารือกันในแต่ละวันใน ศอฉ. 

"ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา เราต้องฟังรัฐบาล โดยการให้ข่าวและข้อมูลมี 2 ช่องทาง คือ การให้ข้อมูลในโซเชียลต่างๆ รวมถึงทวิตเตอร์ โดยตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะมีศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ทั้งของสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีการแถลงทั้งวัน และจะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถามหรือโทรศัพท์เข้ามา ในส่วนของวาระสรุปก็เป็นเรื่องของโฆษกและศอฉ.จะสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวันให้ทราบ จึงขอให้รับฟังช่องทางของรัฐบาลเป็นหลัก” นายกฯ กล่าว และว่า หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารข้อมูลบิดเบือน เดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่กฎหมายนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งหมด ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร รวมทั้งจัดตั้งด่านตรวจจุดสกัดเตรียมกำลังและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือส่วนราชการต่างๆ ในการทำงาน ดังนั้นก็ต้องเจอกับการตั้งด่านตรวจจุดสกัดต่างๆ และจะมีการปรับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็จำเป็นต้องปิดล็อกทั้งหมด โดยทุกอย่างขอให้เป็นไปตามขั้นตอน

เตรียมพ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิด

นายกฯ ระบุว่า ผู้ที่ใช้โซเชียลในทางที่บิดเบือนต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วยในขณะนี้ สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ รวมทั้งการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจะมีความเข้มงวดไปเรื่อยๆ เข้าใจทุกคนรักประเทศแต่ต้องรักในวิธีการที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย ความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องขอร้องอย่างเดียวในขณะนี้

นายกฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการโดยจะเน้นหนักในภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายในช่วงนี้ ขอให้ใช้เงินอย่างประหยัดและพอเพียงเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยรัฐบาลจะดูแลไปในระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยจะแบ่งเป็นระยะๆ อาจจะ 2-3 เดือน และมาตรการจะทยอยออกมาตามลำดับ ทั้งนี้มาตรการต่างๆ จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และจำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอ วันนี้กำลังหามาตรการ อาจต้องใช้เงินกู้บ้าง เพราะงบประมาณปี 2563 ค่อนข้างจำกัด ส่วนงบกลางก็ใช้จ่ายไปพอสมควรแล้วและเหลือจำนวนน้อยมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการเข้าระบบให้มากยิ่งขึ้น และจำเป็นต้องจัดทำ พ.ร.ก.การกู้เงินต่างๆ ของกระทรวงการคลัง ในระยะนี้และเพื่อเตรียมในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์เสร็จได้เดินออกจากตึกบัญชาการ 1 เพื่อไปยังห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ระหว่างนั้นสื่อมวลชนได้สอบว่ามีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วสบายใจขึ้นหรือไม่ โดยนายกฯ ไม่ตอบคำถามแต่ทำมือให้รอฟังการแถลงข่าวพร้อมชูกำปั้นสองข้างขึ้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ “สู้ๆ”

จ่อใช้“เคอร์ฟิว”พฤหัสฯนี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จากปัญหาการเคลื่อนย้ายของประชาชนที่ออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดสูงไปยังต่างจังหวัดจะส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นรวมไปถึงผู้เสียชีวิตจะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยอยู่ในภูมิภาคจำนวนมาก อีกทั้งยังพบว่ามีกลุ่มประชาชนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมยังออกไปกินเที่ยวตามแหล่งต่างๆ ที่ยังไม่ได้มีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง เป็นการขัดกับหลักระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลขอความร่วมมือ ดังนั้นรัฐบาลจึงเตรียมประกาศใช้เคอร์ฟิวในวันพฤหัสบดีนี้หลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้ เพื่อสกัดกั้นการระบาดให้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้มีบทเรียนในต่างประเทศ อาทิ อิตาลีและอังกฤษที่ขอความร่วมมือพลเมืองแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้ โดยเฉพาะอิตาลีมียอดเสียชีวิตสูงมากและป่วยติดเชื้อเกินกว่าครึ่งแสนรายไปแล้ว จนทั้งสองประเทศต้องประกาศกำจัดสิทธิการเดินทางของประชาชนไปแล้ว

มีรายงานแจ้งด้วยว่า ในการประชุมครม.มีรัฐมนตรีบางคนเสนอให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียง 1 เดือนก่อนโดยมาตรการเบื้องต้นเพื่อหยุดการเคลื่อนย้ายของผู้คนให้อยู่กับบ้านให้มากที่สุดส่วนเปิด-ปิดสถานที่เสี่ยงยังคงเป็นไปตามประกาศของผู้ว่าฯแต่ละจังหวัด และยังคงผ่อนผันให้เปิดตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และสถาบันการเงิน เป็นต้น ขณะที่การเดินทางของประชาชนจะมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจโดยเฉพาะรอยต่อของแต่ละจังหวัดอย่างเข้มข้น

คาดสี่ทุ่ม-ตีห้าห้ามออกบ้าน

ด้านแหล่งข่าวจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ระบุว่า มีความเป็นไปได้หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการประกาศเคอร์ฟิวตามมา เพราะต้องหยุดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด หยุดการเดินทาง หยุดการรวมกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งทหารจะมาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ขณะเดียวกันเห็นควรว่าน่าจะมีประกาศแจ้งเตือนประชาชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน องค์กรต่างๆ ได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติ เพื่อจะได้วางแผนการเดินทางการทำงานโดยไม่ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ตลอดจนสื่อมวลชนที่มีความจำเป็นในการทำหน้าที่ในช่วงประกาศเคอร์ฟิวต้องทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้อง

แหลางข่าวคนเดิมบอกอีกว่า สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเคอร์ฟิว คือตั้งแต่ 22.00-05.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยึดปฏิบัติการมาทุกครั้งที่มีประกาศเคอร์ฟิว ในส่วนของร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงก็ต้องปฏิบัติตามกฎดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันตำรวจทุกฝ่ายจะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด รวมถึงชุดสายตรวจ ในช่วงแรกหากพบประชาชนอยู่นอกเคหสถานก็จะตักเตือนและให้กลับเข้าที่พักอาศัย เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือ

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขออำนาจ ครม.ในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนแนวทางปฏิบัติต่างๆ ขอให้รอรายละเอียดข้อกำหนดต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะวันนี้อยู่ในขั้นตอนเห็นชอบในหลักการให้นายกฯ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

 

 

 

เตือนอย่าละเมิดสิทธิปชช.

ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล(กก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเราพบว่าปัญหาการแพร่ระบาดมาจากการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไปของรัฐบาล และขาดการเตรียมความพร้อม ขณะที่ภาคสังคมถามถึงมาตรการการคัดกรอง ชุดการตรวจ การเครื่องมือการตรวจ หรือมีแผนการอย่างไร เครื่องช่วยหายใจ หอผู้ป่วยแยก หรือจำนวนเตียงมีเพียงพอหรือไม่ หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยขั้นพื้นฐาน รัฐบาลก็ยังเตรียมการไม่ได้ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอ่อน หรือรัฐมนตรีมีอำนาจไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา และแก้ปัญหาทีละเรื่อง ถ้าแก้เรื่องที่ 1 แล้วจะรองรับเรื่องที่ 2 ได้อย่างไร เช่น กรณี กทม.สั่งปิดห้างสรรพสินค้าหยุดกิจกรรมในกรุงเทพฯ รัฐบาลไม่ได้คาดการณ์ว่าจะมีประชากรแฝงที่มีเป็นล้านคนกลับต่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นผลกระทบสู่วงกว้างไปอีก ทั้งหมดนี้รัฐบาลไม่เตรียมการ ขาดการประเมินผลกระทบ

“สิ่งที่เราเป็นกังวล คือหากรัฐบาลไม่เปลี่ยนความคิดอยู่ในกรอบการทำงานแบบเดิมๆ แต่ที่เพิ่มเติมคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธเสรีภาพของประชาชน สามารถจับกุม ควบคุมตัว ตรวจสอบบุคคล และกำหนดโทษกับประชาชนด้วย และไม่มีอำนาจใดคานได้ พ.ร.ก.นี้จะเป็นการส่งเสริมให้ละเมิดสิทธิประชาชน และประชาชนจะไม่สามารถฟ้องร้องรัฐได้เลย เราอยากให้รัฐบาลใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบบเฉพาะเจาะจงในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเท่านั้น และต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลตรวจการทำงานของรัฐบาลได้” นายวิโรจน์กล่าว

ร้านสะดวกซื้อเปิดเป็นเวลา

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสกัดไวรัสระบาดในต่างจังหวัดว่า ขณะนี้ดำเนินการปิดด่านแนวชายแดนแล้ว ยกเว้นเพียงจุดที่มีคนไทยต้องเดินทางกลับเข้ามา และในส่วนของประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจะต้องปฏิบัติตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำเพื่อไม่ทำให้เกิดเชื้อแพร่กระจาย เพราะหากร่วมมือและดูแลตัวเองก็จะควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าความร่วมมือถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดการแพร่ระบาดได้ แม้หากจะมีกฎหมายออกมาแต่ความร่วมมือของประชาชนถือว่าสำคัญที่สุด

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศหลังสถานประกอบการบางแห่งต้องปิดชั่วคราวนั้น คาดว่าในวันนี้จะได้รับข้อมูลรายละเอียดการเดินทาง และมั่นใจว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ จะสามารถควบคุมดูแลให้ผู้ที่เดินทางกลับในพื้นที่ปฏิบัติตามหลักการสาธารณสุข ทั้งการกักตนเอง และการป้องกันดูแล ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.เพชรบูรณ์ ได้มีมติให้ร้านสะดวกซื้อเปิดให้บริการเวลา 05.00-24.00 น. ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม-12 เมษายน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

วันเดียวกัน นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้ลงนามในประกาศฉบับที่ 2ให้หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการภายในระบบขนส่งสาธารณะทางรางเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นๆ อย่างน้อย 2 เมตร ให้มีจุดบริการหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเพิ่มจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการทุกสถานี โดยให้เริ่มวันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นไป

สภาเปิดตามเดิมหวั่นขัดรธน.

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ได้มีหนังสือแจ้งไปยังส.ส.ทั้ง 500 คนถึงแนวทางการปฏิบัติตัวระหว่างที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเข้าใจดีว่า ส.ส.ยังจำเป็นต้องปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ปัจจุบันการแพร่ระบาดได้ลุกลามไปยังต่างจังหวัดแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้ ส.ส.คนใดอยู่ในภาวะเสี่ยงติดเชื้อแม้แต่คนเดียว สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญและวิสามัญทุกคณะยังสามารถดำเนินการประชุมได้ตามปกติ แต่ปัจจุบันได้รับรายงานจากประธานกมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎรว่าส่วนใหญ่ได้งดการประชุมไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อลดความแออัด ยกเว้นบางคณะที่มีความจำเป็น ส่วนกมธ.วิสามัญที่มีระยะทำงานจำกัดนั้น ตนในฐานะประธานสภาได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภาขยายระยะเวลาให้ไปบางคณะแล้ว

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการเลื่อนการเปิดสมัยประชุมจากเดือนพฤษภาคมออกไปนั้น นายชวน กล่าวว่า ในเรื่องนี้มี ส.ว.บางคนคงเข้าใจผิดว่าสามารถเลื่อนสมัยประชุมได้ แต่หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่าการเปิดสมัยประชุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือในปีหนึ่งต้องมีสมัยประชุม 2 ครั้ง ครั้งละ 120 วัน ดังนั้นในวันที่ 22 พฤษภาคม จะเป็นวันเริ่มสมัยประชุมตามเดิมต่อไป แต่หากเมื่อเริ่มสมัยประชุมไปแล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้นก็สามารถงดการประชุมได้ อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้เลขาธิการสภา ไปหารือถึงแนวทางในการจัดประชุมสภาโดยที่ส.ส. 400-500 คน ไม่ต้องมาประชุมโดยพร้อมกัน

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ