ข่าว

สกัดโควิด ก.บ.ศ.ศาลยุติธรรม ให้ทุกศาลเลื่อนวันนัดคดีได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก.บ.ศ.มีมติ ศาลทั่วประเทศ กำหนดนัดคดีใหม่เหมาะสมได้ เลี่ยงตั้งแต่ 24 มี.ค.- 31 พ.ค. ยกเว้นคดีอาญาสืบประกอบคำรับสารภาพ/จำเลยถูกขัง/คดีแพ่งจัดการมรดก/หายสาบสูญ ย้ำการพิจารณาคดียึดคำแนะนำ ปธ.ศาลฎีกา ใช้ IT ช่วยความสะดวก

 

 

          23 มี.ค. 2563 - นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ว่า วันนี้ในการประชุม ก.บ.ศ.ครั้งที่ 3/2563 ซึ่งนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม ก.บ.ศ. มีวาระพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการศาลในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเป็นวาระเพิ่มเติมด้วย

 

          โดย ก.บ.ศ.มีมติเห็นชอบ ให้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirs Disease : COVID-19) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ กรณีที่ 1.การเลื่อนวันนัดคดีจัดการพิเศษ โดยให้ศาลชั้นต้นทุกศาล เลื่อนนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษทุกคดี ที่นัดไว้ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-31 พ.ค.63 โดยให้กำหนดวันนัดใหม่ในเวลาที่เหมาะสม

 

          ยกเว้นคดีดังต่อไปนี้ 1.1 คดีอาญา เช่น นัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ,นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยต้องขัง เป็นต้น 1.2 คดีแพ่ง เช่น คดีร้องขอจัดการมรดก , คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นผู้สาบสูญ , คดีร้องขอเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หรือขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ เป็นต้น 1.3 คดีอื่นๆ ที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ

 

          โดยการจะดำเนินการตามข้อ 1.1-1.3 นั้น ให้คำนึงถึงจำนวนคดี , จำนวนคู่ความในห้องพิจารณา , จำนวนบุคคลที่จะต้องมารวมกันที่ศาล และหากมีความจำเป็น ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปได้

 

          กรณีที่ 2 การเลื่อนนัดพิจารณาคดีต่อเนื่อง 1.ให้ศาลชั้นต้นทุกศาล เลื่อนนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องทุกคดีที่นัดไว้ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-31 พ.ค.63 โดยกำหนดวันนัดใหม่ในเวลาที่เหมาะสม ยกเว้นคดีดังต่อไปนี้ 1.1คดีอาญาที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาคดี 1.2 คดีอื่นๆที่คู่ความพร้อมและต้องการจะสืบพยาน หรือคดีที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ โดยการปฏิบัติตามข้อ 1.1 และ 1.2 นั้น ให้คำนึงถึงจำนวนคดี , จำนวนคู่ความในห้องพิจารณา , จำนวนบุคคลที่จะต้องมารวมกันที่ศาล และหากมีความจำเป็นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปได้ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษา/ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบราชการศาล

 

          ขณะที่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวนันให้ถือปฏิบัติ ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 2 ด้วย


          นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ ก.บ.ศ.มีมติจากการประชุมออกมาแล้ว ทางสำนักงานศาลยุติธรรม ดำเนินการร่างระเบียบ ก.บ.ศ.เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เสนอประธานศาลฎีกา วันนี้พิจารณาและลงนาม เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติของศาลยุติธรรมทั่วประเทศต่อไป

 

          อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับการป้องกันในสถานการณ์ขณะนี้ ล่าสุดมีผู้พิพากษาศาลฎีกาบางคนได้แสดงถึงข้อห่วงใยที่จะมีนัดการประชุมใหญ่ศาลฎีกา วันที่ 25 มี.ค.นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 3 อาคารศาลฎีกา ซึ่งการประชุมใหญ่จะมีผู้พิพากษาศาลฎีกา กว่า 175 คนต้องเข้าประชุม และยังมีผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนกลุ่มใหญ่เช่นกัน โดยขณะนี้การกำหนดประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยังคงกำหนดนัดเดิม ยังไม่มีการแจ้งว่าจะเลื่อนออกไปหรือไม่

 

          รายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะทำงานบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในศาลยุติธรรม ได้กำหนดแนวทางการประชุมใหญ่ในศาลสูงไว้ ดังนี้ 1.ให้พิจารณาจัดประชุมเฉพาะเรื่องจำเป็นเท่านั้น โดยให้มีระบบขัดกรองผู้เข้าร่วมประชุม ผู้ที่มีไข้ไม่สบายห้ามเข้าร่วมประชุม พร้อมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าร่วมประชุม 2.พิจารณาเฉพาะผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้าประชุม พร้อมจัดให้นั่งระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3.ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ช่วยลดความแออัดของห้องประชุม แต่ยังต้องคำนึงถึงมาตรการรักษาความลับ และการจัดอาหารให้จัดแบบแยกชุด พร้อมทั้งให้แม่บ้านทำความสะอาดก่อน-หลังมีการประชุมด้วย

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำแนะนำของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องการสนับสนุนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการพัฒนาในช่วงของการเข้าสู่ D-Court มาสนับสนุนการทำงานของศาล และสร้างความสะดวกให้กับคู่ความในคดี ซึ่งสถานการณ์ช่วงนี้อาจมีปัญหา-ความกังวลต่อการเดินทางผ่านสถานที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมาก และการต้องอยู่ในห้องพิจารณาเดียวกันกับบุคคลหลายๆ คน อาทิ การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานด้วยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ให้ศาลใช้ดุลยพินิจสืบพยานที่อยู่นอกศาลผ่านระบบดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยลดการเดินทางมาศาล และกรณีจำเป็นสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ  IT แยกคู่ความบางฝ่ายหรือพยานบางคนให้อยู่ในพื้นที่อื่นบริเวณศาลโดยไม่กระทบความได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อสู้คดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมการใช้ระบบยื่นฟ้องคดีแพ่ง-ส่งคำให้การ-เอกสารผ่านระบบ e-Filing เป็นต้นด้วย. 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ