ข่าว

22 มี.ค.ดีเดย์ กพท.ยกระดับสกัดไวรัส "โควิด-19"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กพท.ออกประกาศยกระดับสกัดไวรัสโควิด-19 ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยต้องมีใบรับรองแพทย์รับรองไม่เกิน 72 ชั่วโมง และมีประกันคุ้มครองไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญ ตั้งแต่ 22 มี.ค.นี้

 

 

         เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามในประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย

 อ่านข่าว :  ด่วน หมอหนูเผย จีนส่ง ฟาวิพิลาเวียร์ ให้ไทย 1 แสนเม็ด

   

          ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคนั้น

 

         ปัจจุบันปรากฏว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ประกาศยกระดับสถานการณ์แพร่ระบาดดังกล่าวเป็นโรคระบาดทั่วโลก (Pandemic) ดังนั้นเพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนภายในประเทศในวงกว้าง และเพื่อการกำกับดูแลการบินพลเรือนในภาวะจำเป็นให้ได้อย่างทันท่วงที สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ดังนี้

 

         ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายกรณีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563

 

         ผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องได้รับการแยกกัก กักกัน ควบคุมไว้สังเกต หรืออยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศกำหนด


     

   

 

       ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยดำเนินการคัดกรองดังต่อไปนี้ ในเวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check-in)

         (1) ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ (Health certificate) ที่ออกให้ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ซึ่งยืนยันว่ามีการตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

         (2) ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่แสดงการคุ้มครองการรักษาพยาบาลในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ

         ในกรณีที่ผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการคัดกรองดังต่อไปนี้

          (1) ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly)

          (2) ตรวจสอบหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ หากพบว่าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานตาม 3. หรือ 4. ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding pass)

          เมื่อได้คัดกรองผู้โดยสารตาม 3. หรือ 4. และออกบัตรขึ้นเครื่องให้ผู้โดยสารแล้ว ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลแสดงที่พักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทยตามแบบ ต.8 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทางหรือกับ

          ข้อมูลใน Application “AOT Airport of Thailand”

          ผู้ดำเนินการเดินอากาศควรใช้มาตรการในการป้องกันโรคติดต่อบนอากาศยาน ดังต่อไปนี้

          (1) จัดที่นั่งผู้โดยสารให้มีระยะห่างจากท่านมากที่สุดเท่าที่ทำได้ตั้งแต่เมื่อออกบัตรโดยสาร และจัดพื้นที่ในห้องโดยสารไว้สำหรับเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บป่วย หากมีความจำเป็น

          (2) แจ้งให้ผู้โดยสารทราบถึงวิธีการป้องกันโรคติดต่อและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเที่ยวบิน หรือจัดเตรียมอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นสำหรับการป้องกันตนเองจากการติดต่อ

          (3) พิจารณาจำกัดการให้บริการในห้องโดยสาร เพื่อลดความจำเป็นในการเข้าใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานกับผู้โดยสาร

          (4) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารต้องดำเนินการฆ่าเชื้อหรือทำความสะอาดอากาศยานตามมาตรฐานที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

 

 

 

          กำหนดเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจออกคำสั่งตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้

          (1) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากอากาศยานที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และห้ามนําพาหนะอื่นใดเข้าเทียบอากาศยานนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

          (2) ดำเนินการหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดําเนินการ ดังต่อไปนี้

          (ก) กําจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค

          (ข) จัดให้อากาศยานจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กําหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้

          (ค) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กําหนด

          ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรการตาม 3., 4. หรือ 5. ผู้ดำเนินการเดินอากาศจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับอากาศยานนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

          ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยเคร่งครัด

          ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้นทางและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานให้ทราบและถือปฏิบัติ และให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานประกาศเพิ่มเติมบนอากาศยานให้ผู้โดยสารทราบโดยทั่วกัน

          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 เวลา 00.00 น. ของประเทศไทย เป็นต้นไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ