ข่าว

แนวฎีกาให้ฟ้องตรง ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนวพิพากษา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ฟ้องตรง ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตได้ ยกคดี "สุรพงษ์" ตัวอย่าง ทำสำนวนออกพาสปอร์ตทักษิณมิชอบ วินิจฉัยอำนาจผู้เสียหาย ฟ้องอาญา ป.ป.ช.ต่อศาลชั้นต้นได้ สุดท้ายผลคดี ฎีกายกฟ้อง

 

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาชั้นตรวจคำฟ้อง คดีหมายเลขดำ 5673/2562 ที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อายุ 67 ปี  อดีต รมว.การต่างประเทศ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (จำเลยในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแน่งทางการเมืองและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาชั้นอุทธรณ์ พิพากษารอลงอาญา 2 ปี ปรับ 100,000 บาท ตามมาตรา 157)  เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กรรมการ ป.ป.ช.อีก 8 คน ประกอบด้วย นายณรงค์ รัฐอมฤต , น.ส.สุภา ปิยะจิตติ , นายวิทยา อาคมพิทักษ์ , นางสุวณา สุวรรณจูฑะ , พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ , นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร , นายปรีชา เลิศกมลมาศ และพล.ต.อ.สถาพร หลาวทองเป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต

 

          ซึ่ง นายสุรพงษ์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวหาว่า ป.ป.ช. เรียกนายสุรพงษ์ ไปรับทราบข้อหาทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ โดย กรรการ ป.ป.ช.จำเลยที่ 8-9 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ขัดต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 ข้อ 4 ส่วนประธาน ป.ป.ช. จำเลยที่ 1 และกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยที่ 2-6 ยินยอมให้นายสุรศักดิ์ , นายปรีชา และพล.ต.อ.สถาพร จำเลยที่ 7-9 ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาโดยมิชอบ นอกจากนี้ นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ก็ขาดคุณสมบัติแต่เข้าร่วมประชุมพิจารณาและลงมติขณะที่การยื่นร้องถอดถอนโจทก์นั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมาย กับอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 139 คน ที่เป็นผู้ยื่นร้องถอดถอนโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน

 

          ขณะที่ในชั้นตรวจคำฟ้อง (ตรวจเฉพาะเอกสารคำฟ้อง ยังไม่มีการไต่สวน) ของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ตรวจพิจารณาแล้ว ก็ให้ยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง ซึ่ง นายสุรพงษ์ อดีต รมว.ต่างประเทศ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืนยกฟ้องเช่นกัน โดยโจทก์ยื่นฎีกาตามระบบซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาพิจารณาประเด็นฎีกาของโจทก์

 

          โดย ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีกล่าวหา ป.ป.ช. ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่ง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ส.ส. - ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1)

 

          ส่วนที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสาม (1) ไม่ให้คดีอาญาที่ฟ้องขอลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือทุจริต เนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ หมายความรวมไปถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1-7 ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงไม่ใช่คดีที่ ส.ส. - ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภาไม่น้อย 1 ใน 5 มีสิทธิเข้าชื่อกันตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ดังนั้นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ในส่วนที่โจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1-7 การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจำเลยที่ 8-9 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดนั้น โดยเมื่อศาลชั้นต้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1-7 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 8-9 ได้ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-9 ต่อศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนเนื้อหาคดีที่ นายสุรพงษ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการไต่สวนคดีออกพาสปอร์ตให้นายทักษิณนั้น ศาลฎีกา พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขดำ อม.51/2560 และคดีหมายเลขแดง อม.91/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุรพงษ์ เป็นจำเลยแล้วว่า นายวิรัตน์ มีหนังสือกล่าวโทษนายสุรพงษ์ ต่อ ป.ป.ช. โดยมีหลักฐานที่เป็นเหตุแห่งการกล่าวโทษอันเป็นเหตุควรสงสัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 66  และในส่วนของนายภักดี อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเริ่มปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยชอบแล้ว สำหรับจำเลยที่ 8-9 ก็ได้รับการสรรหาและรับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ดังนั้นการประชุม ลงมติ และไต่สวนข้อเท็จจริงจึงชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้วินิจฉัยด้วยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่านายสุรพงษ์ เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 123/1 ซึ่งจนถึงวันนี้คำพิพากษาคดีดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง-แก้ไข ผลคำพิพากษานั้นจึงผูกพันตัวโจทก์คดีนี้ ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งการฟ้องจำเลยที่ 1-9 อ้างกระทำผิดในคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่ารับฟังไม่ได้ว่า ป.ป.ช.กระทำไม่ชอบ อีกทั้งคำพิพากษาคดีอาญานั้นก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในผล ข้ออ้างของโจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1-9 นี้ ย่อมรับฟังไม่ได้ เช่นกัน กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานคดีนี้ต่อไป ที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ