ข่าว

โควิด-19 จบเมื่อไหร่ ไม่รู้ สธ. ชี้ วิตามินซี ไม่ช่วยป้องกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กรมควบคุมโรค" รับ ตอบไม่ได้ โควิด-19 จบเมื่อไร ต้องดูแต่ละประเทศจัดการดีแค่ไหน ยกคำ "ลีเซียนลุง" ความกลัวทำอันตรายสังคมมากกว่าไวรัส แจง "ผีน้อย" หนีจากไฟท์ก่อนตรวจคัดกรอง เผยคนกลับจาก4ประเทศ ต้องกักตัว14วัน ชี้ วิตามินซี ไม่ป้องกันการติดเชื้อ

 

 

          เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2563 เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 6 ร่วมแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศมีผู้ป่วยสะสม 50 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนผู้ที่หายสามารถกลับบ้านได้เพิ่มเติม 2 ราย รวมเป็น 33 รายขณะที่ผู้ป่วยวิกฤติมี 1 ราย ซึ่งอาการคงที่ อย่างไรก็ตาม จำนวนคนที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งเข้าเกณฑ์สอนสวนโรค 4,366 ราย และในส่วนที่อาการดีขึ้น ออกจากโรงพยาบาลได้ 2,629 ราย

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด กองทัพเรือ รับคนไทยจากเกาหลี

ล่าตัวผีน้อย 80 ราย หนีด่านกักกันโรค

เคาะประตูบ้านต้านโควิด-19

 

          นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การระบาดในจีน ตัวเลขผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง จากผู้ป่วยระดับหลักพัน มาสู่หลักร้อย และยังต้องจับตา 4 ประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตโรคติดต่อร้ายแรงได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ของภาครัฐ พยายามที่จะชะลอการระบาดในประเทศ 2 ส่วน คือ 1.การจัดการกับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ และ 2.เฝ้าระวังคนไทยด้วยกันที่เสี่ยงติดโรค หรือทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว โดยสถานพยาบาลทุกจังหวัดได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

 

         ส่วนภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคเอกชน ก็ต้องมีมาตรการดูแลที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ซึ่งความกังวล หรือความกลัวต่างๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มรันแรงมากขึ้นสะท้อนในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ซึ่งตามที่นายลีเซียนลุง นายกฯสิงคโปร์ได้ระบุไว้ว่า "ความกลัวหรือความตื่นตระหนกจะทำอันตรายต่อสังคมมากกว่าไวรัสด้วยซ้ำ" เป็นความจริงสูงมาก จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ จะติดโรคได้อย่างไร หรือจะป้องกันตัวอย่างไร เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจจะทำให้ผ่านพ้นความยากลำบากไปได้ 


          "ครั้งนี้เป็นการจัดการปัญหาระยะยาว เราจะอยู่กับโรคนี้ไประยะหนึ่ง คงไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน ตอบยากจริงๆ จบตอนไหน จะอยู่อีกกี่เดือนตอบไม่ได้จริงๆ เพราะไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยประเทศเดียว ขึ้นอยู่กับประเทศอื่นด้วยว่าจัดการได้ดีแค่ไหน ถ้าทำได้อย่างจีนที่จำนวนลดลงมาก อาจจบเร็วกว่าที่คิด แต่บางประเทศระบบสาธารณสุขอ่อนแอ เมื่อมีการระบาดของเชื้อกว่าจะไปถึงจุดที่ระบาดสูงสุด ใช้เวลา 6-9 เดือน ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศควบคุมได้แค่ไหน แต่เราพยายามป้องกันในประเทศให้ดีที่สุดเหมือนกัน ใจอยากจะให้ไม่มีการระบาดในประเทศ ความเชื่อใจจะทำให้ผ่านพ้นไปได้ โดยไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงสร้างความกลัวในสังคม ซึ่งจะทำให้มาตรการต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความร่วมมือจะทำให้ฝ่าวิกฤติได้" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

          เมื่อถามว่า การคัดกรองแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้ มีส่วนที่หลบหนีการตรวจได้อย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเริ่มคัดกรองตั้งแต่เที่ยวบิน LJ003 มีการดำเนินการกับทุกคน และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการไปยังสถานที่สังเกตอาการ ส่วนที่หลบหนีหปนั้น เข้าใจว่า เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาในเที่ยวบินก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ ซึ่งเที่ยวบินดังกล่าวยังไม่สามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจได้ จึงเกิดความตระหนกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา 

 

          เมื่อถามว่า 4 ประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อร้ายแรง มีมาตรการคัดกรองอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หลายคนสงสัยว่าเมื่อมีประกาศนั้นออกมาแล้วจะมีมาตรการอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งการดำเนินการคือ ผู้ที่เดินทางจาก 4 ประเทศดังกล่าว จะต้องลงทะเบียน จากนั้น 14 วัน ให้แจ้งกับทางการทราบถึงอาการตามความเป็นจริงทุกวัน ผ่านช่องทางที่กำหนด เช่น แอพลิเคชั่น ถ้ามีอาการจะได้ดูแลอย่างรวดเร็ว หากไม่รายงานตัวตามความจริง จะมีโทษตามพ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรง ส่วนผู้ที่เดินทางจากประเทศซึ่งนอกเหนือจาก 4 ประเทศ แนะนำให้ดูแลสุขภาพ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ และต้องพักอยู่บ้านดูอาการเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งมาตรการอาจไม่เข้มข้นเหมือน 4 ประเทศ 

 

          นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า แรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่มีจำนวนหลักแสนรายที่จะทยอยเดินทางกลับนั้น จะเริ่มมาตรการตั้งแต่ต้นทาง มีการลงทะเบียนที่สถานทูตไทย ซึ่งระหว่างนั้นขอความร่วมมือไม่ให้ออกจากที่พักอาศัย โดยก่อนกลับจะมีการตรวจสุขภาพ และคัดกรองก่อนขึ้นเครื่องและเมื่อถึงไทยก็จะมีมาตรการอย่างที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

          "ขอให้โฟกัสที่ผู้ป่วยสะสม 50 ราย และผู้ที่กลับบ้านได้ 33 ราย ซึ่งยาต้านไวรัสจริงๆ ใช้น้อยมาก หมายความว่าหายได้เอง และผู้ป่วยส่วนใหญ่ในต่างประเทศก็หายได้เอง ยืนยันโรคนี้ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส และที่มีการระบุว่าการกินวิตามินซีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อนั้น ผมไม่ค่อยมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ากินแล้วมีประโยชน์ แต่ข้อมูลเก่าๆ ระบุว่ากินแล้วไม่สามารถป้องกันไข้หวัดได้ พูดง่ายๆ ไม่สามารถป้องกันเชื้อ ความรุนแรง หรือลดเวลาติดเชื้อได้ ซึ่งโควิด-19 ยังไม่มีใครทำวิจัยว่าโอกาสป้องกันเป็นอย่างไร คงไม่เป็นอย่างนั้น" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

          เมื่อถามว่า หากผู้ติดเชื่อไปทานอาหารร้านบุฟเฟ่ต์ คนอื่นมีความเสี่ยงติดเชื้อหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความจริงการสอบสวนโรคของสิงคโปร์มีการติดเชื้อจากการทานอาหารร่วมกัน แต่เพื่อลดความเสี่ยง ควรล้างมือหลังจากตักอาหารด้วยช้อนกลางที่คนอื่นจับ เพื่อไม่ให้เชื่อเข้าสู่ร่างกาย หรือล้างมือทุกครั้งก่อนทาน

 

          ด้าน นพ.สุเทพ กล่าวว่า มาตรการคัดกรองแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้นั้น ทำอย่างจริงจังตามข้อสั่งการของนายกฯ ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมสถานที่สังเกตอาการในทุกจังหวัด 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ