ข่าว

รมว.ดีอีเอสบุกจับมือโพสต์เฟคนิวส์ พนง.ห้างฯดัง ติดโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รมว.ดีอีเอส บุกจับมือโพสต์เฟคนิวส์ กุข่าวพนักงานห้างดังป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าไม่มีข้อมูลของผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด

(3 มีนาคม 2563) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้ติดตามนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะทำงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ขออนุมัติหมายศาลเข้าตรวจค้นบุคคลต้องสงสัยปล่อยข่าวปลอมเรื่องไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ในพื้นที่ ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 12 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
 

 

ทั้งนี้ สำหรับเป้าหมายที่เข้าไปตรวจสอบ เป็นร้านค้าในคอนโดมเนียมแห่งหนึ่งในซอยรัชดาภิเษก 10 ซึ่งเป็นที่พักของผู้ที่โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ในทำนองว่ามีผู้เสียชีวิตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านพระราม 9 และมีผู้ถูกกักตัวตรวจสอบ 40 คน โดยโพสต์เมื่อช่วง 22.30 น. ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ระบุว่า "ตายแล้วๆ ใกล้บ้านฉันเลย..ประมาณ 40 นาทีที่แล้วพบพนักงานxxxx ติดเชื้อโคโรน่า ตอนนี้กักตัวเพิ่ม 40 คนเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้คนติดเพิ่มเติมไหม?"

 

 

 

รมว.ดีอีเอสบุกจับมือโพสต์เฟคนิวส์ พนง.ห้างฯดัง ติดโควิด-19

 

 

 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เดินทางเข้าไปสอบปากคำผู้ที่โพสต์ข้อความนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ที่โพสต์ อ้างว่า ตนเองอ่านข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียแบบผ่านๆ และด้วยความตกใจ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง จึงนำไปโพสต์ลงบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ส่วนเหตุผลที่ต้องทำแบบนี้ ก็เพราะต้องการอัพเดทข่าวสารให้กับลูกค้าได้ระมัดระวังตัวเอง และยอมรับว่าไม่ทันตรวจสอบก่อนว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะไม่รู้จะตรวจสอบผ่านช่องทางใด

 

 

ขณะที่นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พรบ.คอมฯ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ซึ่งแม้ว่าผู้ที่โพสต์จะอ้างเรื่องที่ทำไปเพราะความตื่นตระหนก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นต้นตอของการโพสต์ข้อความ ส่งผลทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก ทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ก็พยายามตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวสาร ที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นต้นตอของการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จทุกราย ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้  พบว่ามีการแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จน้อยลง หลังจากที่ทางกระทรวงฯ เอาจริงกับการดำเนินคดีผู้ที่โพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ จนกระทั่งช่วง 7-8 วันที่ผ่านมา มีการนำข้อมูลปลอมมาแชร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากประชาชนชนตื่นตระหนกกับการแพร่กระจายไวรัสโควิด 19

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ