ข่าว

ขอความร่วมมือสื่อเสนอข่าว โควิด19 ด้วยข้อเท็จจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสทช.จับมือกระทรวงสาธารณสุข ร่างหลักเกณฑ์การรายงานข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอความร่วมมือสื่อทุกแขนงเสนอแต่ความจริง

 

 

                  กสทช.จับมือกระทรวงสาธารณสุข ร่างหลักเกณฑ์การรายงานข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอความร่วมมือสื่อทุกแขนงเสนอแต่ความจริง อย่าเน้นดราม่า มุ่งให้เกิดความตระหนัก แต่ไม่สร้างความตระหนก "หมอรุ่งเรือง" ยอมรับทิศทางสถานการณ์ของโลกหลีกหนีการระบาดไม่พ้น

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดย พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. ร่วมกับโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ เชิญผู้แทนทีวีดิจิทัลเข้าประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 หลังสถานการณ์มีแนวโน้มเป็นวิกฤติระยะยาว ท่ามกลางความตื่นตระหนกของประชาชน โดยเฉพาะหลังจากมีเหตุการณ์สองสามีภรรยาสูงวัยเดินทางกลับจากท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแล้วมีอาการป่วย แต่ไม่ยอมแจ้งข้อมูลกับแพทย์ จนทำให้มีผู้สัมผัสเชื้อจำนวนมาก เข้าข่ายเป็น super spreader

 

นายแพทย์รุ่งเรือง เสนอว่า อยากขอความร่วมมือสื่อโทรทัศน์ ขอให้เสนอข่าวสถานการณ์โควิด-19 โดยยึดความจริงเป็นหลัก อย่าเน้นดราม่า และให้ใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น ส่วนแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มา ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเสี่ยงจะเป็นข่าวปลอม หรือ "เฟกนิวส์" ซึ่งเฟกนิวส์มีที่มาทั้งจากการจัดตั้งเป็นเครือข่าย หวังผลบ่อนทำลาย / มาจากพวกที่มีปัญหาทางจิต / และมาจากการแชร์ต่อๆ กันเพราะความตื่นตระหนก 

นอกจากนั้น สื่อยังควรเสนอในแนวทางที่สร้างสรรค์ เสนอเพื่อให้ตระหนัก ไม่ใช่ให้ตระหนก และขอความร่วมมือในการเลือกนำเสนอภาพข่าวอย่างรับผิดชอบ ไม่ควรนำภาพเหตุการณ์เพียงช่วงเวลาเดียวหรือภาพเดียวมาอธิบายสถานการณ์ทั้งหมด

ที่สำคัญให้ช่วยกันหลีกเลี่ยงการประณามอย่างรุนแรงเกินไปกับกลุ่มเสี่ยงที่ปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือการสัมผัสเชื้อ เพราะอาจส่งผลให้คนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหมือนกัน ยิ่งไม่กล้าเปิดตัว และปกปิดตัวเองต่อไป เนื่องจากกลัวจะถูกประณาม ฉะนั้นสื่อควรเสนอข่าวในลักษณะชี้ให้เห็นผลกระทบ และชี้ให้สังคมเห็นว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องมากกว่า

ขอความร่วมมือสื่อเสนอข่าว โควิด19 ด้วยข้อเท็จจริง

สำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่มีความชัดเจน หรือมีความสุ่มเสี่ยง สื่อมวลชนควรประสานงานและตรวจสอบกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนนำเสนอข่าวทุกครั้ง 

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยกตัวอย่างการนำเสนอข่าวที่แม้จะเป็นข้อมูลจริง แต่อาจจะไม่จริงทั้งหมด และมีวิธีนำเสนอแบบอื่นที่ไม่สร้างความตื่นตระหนก เช่น เชื้อไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัวและแพร่เชื้่อได้นานถึง 27-28 วัน ข้อมูลนี้เป็นความจริง แต่เกิดกับบางคนเท่านั้น ไม่ใช่ผู้สัมผัสเชื้อทุกคน

หรืออย่างการตรวจยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ต้องผ่านการตรวจรับรองจาก 2 แล็บ บางกรณีนักข่าวได้ข่าวผลตรวจแล็บแรกเพียงแล็บเดียว ก็ยังไม่ควรเสนอข่าวว่าติดเชื้อแล้ว ควรรอผลตรวจยืนยันทั้ง 2 แล็บก่อน 

ส่วนการพบผู้สัมผัสเชื้อ การระบุชื่อสถานที่ ย่านที่อยู่ ควรพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะด้านหนึ่งแม้ประชาชนจะมีสิทธิ์รับรู้ข่าวสารเพื่อป้องกันตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลด้านความตื่นตระหนก และอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงถูกมองเป็นคนร้าย หรือถูกรังเกียจได้ 

สำหรับตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลในมุมที่สร้างสรรค์ ก็เช่น สถิติจริง ณ เวลานี้ ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย 100 ราย จะมี 10 รายที่อาการหนัก ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนอีก 90 รายก็ยังรักษาตัวที่บ้านเองได้ / การนำเสนอข่าวน่าจะให้น้ำหนักไปที่ 90 คน เพื่อลดกระแสความตื่นกลัว ป้องกันไม่ให้คนทั้ง 100 คนต้องไปโรงพยาบาล 

สรุปแนวทางการนำเสนอข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ คือให้ยึดหลัก 5 ข้อ 1. มุ่งเสนอความจริง ลดประเด็นดราม่า 2. เลือกใช้คำสุภาพ ไม่แบ่งแยก หรือประณามด้วยถ้อยคำรุนแรงเกินไป 3. คำนึงถึงสังคมว่าจะเกิดประโยชน์หรือโทษ 4. ให้ตอบตัวเองเสมอว่าเสนอข่าวเพื่อสังคมหรือเสนอเอามัน และ 5.บางเรื่องให้รอรายงานอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่

นายแพทย์รุ่งเรือง บอกด้วยว่าอยากให้สื่อมวลชนช่วยกัน เพราะในอนาคตมีโอกาสที่ไวรัสตัวนี้จะระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ประกาศ แต่ในแง่ของสถิติจริงๆ แล้ว แม้จะมีผู้ป่วยกว่า 80,000 รายในปัจจุบัน แต่อัตราการตายยังอยู่ที่ราวๆ 1-2% และการระบาดแบบนี้ก็เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 52 คือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งช่วงเวลานั้นก็เกิดกระแสตื่นกลัววิตกกังวลไปทั่วโลกไม่แพ้กัน แต่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ไม่มีใครกลัวไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อีกแล้ว จึงหวังว่าไวรัสโควิด-19 จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เมื่อป 11 ปีก่อน 

ด้าน พลโท พีระพงษ์ ในฐานะกรรมการ กสทช. บอกว่า ได้เตรียมร่างเกณฑ์การปฏิบัติของสื่อในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด และจะประกาศเป็นหลักเกณฑ์กลางให้ถือปฏิบัติร่วมกันโดยเร็ว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ