ข่าว

จ่อยกระดับ โควิด-19 โรคติดต่อร้ายแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยรักษาผู้ป่วย โควิด-19 หายเพิ่มอีก 2 ราย จ่อยกระดับเป็นโรคติดต่อร้ายแรง นายกฯ สั่งเหล่าทัพเตรียมรับมือ พบคนไทยในเรือไดมอนด์ พรินเซสส์ ติดเชื้ออีก 1

 

              เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563  นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ว่า

 

 

 

              ขณะนี้ ผู้ป่วยยืนยันยังเท่าเดิม 35 ราย ข่าวดีคือรักษาหายเพิ่มเติม 2 ราย เป็นชายชาวจีนอายุ 56 ปี และอายุ 34 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร รวมเป็นรักษาหาย 19 ราย เหลือนอนรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย พบว่ารายที่ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) อาการดีขึ้นเป็นลำดับ มีอาการหลายอย่างที่ชี้ชัดไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ ส่วนอีกรายยังทรงตัวอยู่ สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม 1,151 ราย ให้กลับบ้านแล้ว 941 ราย ยังอยู่ในโรงพยาบาล 210 ราย ทั้งนี้ เฉพาะวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เพิ่มขึ้น 99 ราย

              เหตุผลที่จำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้นมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. ขยายวงการเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดจากเดิมคือจีน ก็เพิ่มมาเป็นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า จีนไทเป รวมถึงญี่ปุ่น สิงคโปร์ และล่าสุดคือเกาหลีใต้ และ 2. การเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัสโดยไม่ทราบสาเหตุใน 8 จังหวัด ที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาจำนวนมาก เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และชลบุรี ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ คือไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสอื่นๆ จำนวนที่รายงานยังมีเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้นซึ่งประมาณสัปดาห์เดียวมีประมาณ 27 คน

 

 

 

              “สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดชัดเจนคือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขอย้ำว่าไทยไม่ได้ห้ามการเดินทาง แต่หากไม่จำเป็นก็อาจเลื่อนออกไปก่อน หากมีความจำเป็นก็ไม่ได้ห้าม เดินทางได้ คำแนะนำคือเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงไปที่มีคนในชุมชนหนาแน่น หลีกเลี่ยงการไปที่มีคนไอจาม หากไปที่เสี่ยงสูงให้ใส่หน้ากากอนามัย กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ส่วนประเทศไทยแม้ขณะนี้สถานการณ์ยังนิ่งแต่เราไม่อยากให้มีการระบาดเพิ่มที่รวดเร็วเหมือนเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งเรายังมีความเสี่ยงจากนักเดินทางที่เข้ามา เพราะมาตรการเราเปิดกว้างรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ก็ยังคัดกรองเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศระบาดอย่างเข้มข้น ตั้งแต่บนเครื่องบิน สนามบิน โรงพยาบาล ชุมชน หากเจอคนมีอาการเข้าเกณฑ์ก็จะตรวจอย่างละเอียด ส่วนคนไทยทั่วไปคือหลีกเลี่ยงไปที่ที่มีคนจำนวนมาก หากไปสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

 

 

              นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศเสี่ยงสูงเพราะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่ขณะนี้สถานการณ์ในไทยเริ่มนิ่ง การที่ต้องประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายก็เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคใช้อำนาจหรือข้อบังคับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้อย่างเต็มที่ เป็นเครื่องช่วยการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อยืดหรือชะลอการแพร่ระบาดในประเทศให้นานที่สุด และทำให้เราพร้อมมากขึ้นในการรับมือช่วงที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการประกาศไม่ได้ทำให้ประชาชนต้องตระหนกหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นการเพิ่มเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข

              เมื่อถามถึงกรณีบางประเทศมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างเพราะมีคนที่มีอำนาจในการแพร่กระจายสูง หรือซูเปอร์สเปรดเดอร์ จะทำอย่างไรไม่ให้ไทยเกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คนที่เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ ไม่ได้เป็นคนพิเศษ แต่เพียงเมื่อป่วยแล้วไม่ว่าจะมีอาการเหมือนคนทั่วไปหรือมีอาการมากว่าคนทั่วไปเล็กน้อย เช่น ไอบ่อยกว่าคนทั่วไปแต่ยังไม่หยุดอยู่กับบ้าน และเป็นคนที่สัมผัสผู้คนได้จำนวนมาก หรืออาจใช้ชีวิตในสถานที่แออัดมาก ทำให้เกิดคนติดเชื้อจำนวนมากด้วย ซึ่งประเทศไทยสุดท้ายจะระบาดกว้างขวางหรือไม่ก็ขึ้นกับคนไทยทุกคนเมื่อเริ่มป่วย หากอยากให้ประเทศไทยสงบสุข ดังนั้นเมื่อมีไข้ ไอ เจ็บคอ ควรอยู่ที่บ้าน หากอาการหนักต้องพบแพทย์ ออกจากบ้านต้องเตรียมหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อลดการปนเปื้อนจากการที่เราแพร่เชื้อ ตรงนี้จะช่วยประเทศได้มาก หากไม่ป้องกันคนอื่นรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนโดยรอบก็จะติดเชื้อไปด้วย เมื่อเริ่มมีอาการป่วยแล้วต้องรู้ตัวมีสติ และท่องในใจเสมอว่าโรคต้องหยุดที่เรา ไม่แพร่คนอื่นอีก เพื่อช่วยประเทศชาติ ช่วยคนที่เรารัก

 

 

 

              นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า การชะลอไม่ให้ประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดภายในประเทศแบบวงกว้างหรือระยะที่ 3 นั้น การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีการนำเสนอมาตรการด้านสาธารณสุข คือ การชะลอการแพร่ระบาด ไม่ให้มีผู้ป่วยจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่เพิ่มจำนวนสูงเกินกว่า โรงพยาบาลจะรับมือได้ ซึ่งขณะนี้เราไม่เจอคนไข้ ก็ทำเชิงรุกวิ่งออกไปหาเพิ่มเติม เพื่อหากเจอจะได้รักษาเร็ว โอกาสแพร่เชื้อก็จะน้อย แต่ตอนนี้ยังไม่เจอเพิ่ม ที่สำคัญคนต้องไม่ตื่นตระหนก หากตระหนกเมื่อเป็นหวัดไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็จะวิ่งเข้าโรงพยาบาล ก็จะทำให้ผู้ป่วยล้น ดังนั้น ากป่วยอาการไม่รุนแรงก็พักอยู่บ้าน ป้องกันคนที่บ้านอย่าให้ติดเชื้อ และอีกเรื่องคือการรักษาผู้ป่วยโดยการเตรียมโรงพยาบาล บริหารจัดการเตียงรับผู้ป่วย บูรณาการทำงานของสถานพยาบาลทุกประเภท ทุกสังกัด แชร์ทรัพยากรหากจำเป็นใช้ โรงพยาบาลใดรับผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ หน่วยงานสาธารณสุขใกล้เคียงก็ต้องมาจัดการงานด้านอื่นแทนโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วย โดยเรามีการเตรียมการเป็นลำดับชั้นไป ดังนั้นการชะลอการแพร่ระบาดจึงขึ้นกับคนไทยร่วมมือหรือไม่ เพราะหากไม่ฟังใครเชื่อแต่ข่าวลือก็จะยากในการจัดการ ไม่ว่าจะทำงานเต็มที่เท่าไรหากจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มจริงๆ ปัจจัยที่จะก้าวข้ามสถานการณ์ไปได้คือคนไทยทุกคน

 

 

 

              พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ฝากให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ขอบคุณกองทัพเรือที่สนับสนุนอาคารรับรองในการใช้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ของคนไทยที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน พร้อมขอบคุณทีมนักบินที่เป็นอดีตนักบินของกองทัพอากาศทั้งหมดของแอร์เอเชียที่ไปรับกลับมา และขอบคุณทุกหน่วยงานทุกเหล่าทัพที่จัดทีมแพทย์เฉพาะกิจสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขออกคัดกรองตรวจตราประชาชน โดยเฉพาะใน 10 สนามบินนอกจากนั้นได้กำชับให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมเตรียมพร้อมศูนย์แพทย์อาเซียน มีความพร้อมรองรับการเพิ่มระดับความร่วมมือของกลไกศูนย์แพทย์อาเซียนในการฝึกปฏิบัติร่วมกัน เป็นไปตามแถลงการณ์ร่วมด้านความมั่นคงว่าด้วยการรับมือกับโรคระบาดที่ได้ประชุมกันไว้

 

 

 

              นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้ทุกเหล่าทัพพร้อมมาตรการ 1. ยกระดับการทำงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดของกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยประสานการปฏิบัติ 2. เพิ่มช่องทางการรับรู้ของประชาชนในการป้องกันและดูแลตัวเองให้มากขึ้น 3. ให้กองกำลังป้องกันชายแดนเพิ่มมาตรการการคัดกรองพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง 4. ได้กำชับให้มณฑลทหารบกทั้ง 35 แห่ง โรงพยาบาลเหล่าทัพสนับสนุนการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับ เตรียมพื้นที่ในหน่วยทหารซึ่งอาจเป็นในหน่วยมณฑลทหารบกเพื่อรองรับการควบคุมและรักษาผู้ติดเชื้อหากสถานการณ์ระบาดเกินการควบคุมเข้าสู่ระยะที่ 3 พร้อมขอให้กองทัพอากาศประสานกับอดีตนักบินเพื่อเตรียมพร้อมเพื่อไปรับคนไทยที่อู่ฮั่นเพิ่มเติม

 

 

 

              วันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกระแสข่าวน้ำยาตรวจเชื้อของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่เพียงพอ ว่าขอยืนยันว่าน้ำยาตรวจหาเชื้อไวรัสดังกล่าวมีเพียงพอ และตอนนี้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาห้องแล็บที่สามารถตรวจเชื้อได้ คือโรงเรียนแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลใดตรวจได้ขอให้ทำเรื่องมาที่กรมวิทยาศาสตร์เพื่อไปทดสอบ และตรวจมาตรฐานก่อน ซึ่งขณะนี้กรมกำลังเร่งพัฒนาให้สามารถตรวจในโรงพยาบาลอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมสามารถเพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเซลล์ได้แล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคนี้ได้ โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การเภสัชกรรม และสถาบันวัคซีน ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาแต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

 

 

              นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กรมจะลงนามความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การเภสัชกรรม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ต้านการอักเสบ และต้านไวรัส โดยเฉพาะไวรัสในกลุ่มโรคทางเดินหายใจมาทดลองว่าจะสามารถต้านไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ โดยจะให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไทยสุขภาพดี 10 คน รับประทานยาฟ้าทะลายโจร และอยู่ในโรงพยาบาล 5 วัน จากนั้นจะเอาซีรัมของกลุ่มตัวอย่างไปใส่เชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อดูว่าจะสามารถทำให้เชื้อตายได้หรือไม่ ทั้งนี้การทดลองจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

 

 

 

              อย่างไรก็ตาม นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการดูแลคนไทยบนเรือไดมอนด์ พรินเซสส์ ที่ญี่ปุ่นว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานล่าสุดจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ว่ามีลูกเรือคนไทยติดเชื้อเพิ่มอีก 1 คน โดยทางการญี่ปุ่นส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งสถานทูตกำลังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ขณะนี้มีคนไทยบนไดมอนด์ พรินเซสส์ ติดไวรัสโควิด-19 รวมเป็น 4 คน โดยเป็นผู้โดยสาร 1 คน และลูกเรือ 3 คน จากคนไทยทั้งหมดบนเรือ 25 คน ที่ก่อนหน้านี้ทางการญี่ปุ่นตรวจพบคนไทยบนเรือติดเชื้อ 3 คน โดยเป็นผู้โดยสาร 1 คน และลูกเรือ 2 คน สำหรับลูกเรือคนไทยที่ยังอยู่บนเรืออีก 20 คน สถานเอกอัครราชทูตแจ้งว่าจะต้องได้รับการตรวจอีกรอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในด้านสุขภาพของลูกเรือก่อนจะเดินทางกลับ หากตรวจครั้งที่ 2 แล้วไม่ติดเชื้อก็จะได้รับอนุญาตให้ออกจากเรือได้ โดยบริษัทเรือจะรับผิดชอบเรื่องตั๋วเครื่องบินให้ลูกเรือเดินทางกลับประเทศ

 

 

 

              นอกจากนี้ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัย ยกเว้นได้รับการอนุญาตจากเลขานุการ กกร. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป โดยการนำออกได้มีกรณีเดียวคือการนำไปใช้เป็นการส่วนตัวไม่เกิน 30 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง ยกเว้นคนป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ให้นำติดตัวได้ไม่เกิน 50 ชิ้น

              ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้ประกาศให้เมืองแทกูและเมืองชองโดที่อยู่ติดกันเป็นพื้นที่ควบคุมโรค หลังพบการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้พบมีผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้เพิ่มเป็น 156 คน พร้อมสั่งห้ามจัดการชุมนุมทุกประเภทภายในเมืองและย้ำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกเคหสถาน

 

 

 

              ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน รายงานสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,236 คน เพิ่มขึ้น 118 คน ผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 889 คน เป็น 75,465 คน จากจำนวนดังกล่าวมีอย่างน้อย 11,633 คนอาการวิกฤต แต่มีผู้ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว 18,264 คน

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ