ข่าว

ปิดจ็อบประมูลคลื่น 5 จี "4 ค่ายยักษ์" ยื่นสู้สุดคึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปิดจ็อบศึกประมูลคลื่นความถี่ 5 จีสุดคึกคัก รัฐกวาดรายได้รวม 100,193 ล้านบาท คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ทำรายได้สูงสุด 51,459 ล้านบาท

 

               ปิดจ็อบศึกประมูลคลื่นความถี่ 5 จีสุดคึกคัก รัฐกวาดรายได้รวม 100,193 ล้านบาท เผยคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ทำรายได้เข้ากระเป๋ารัฐสูงสุด 51,459 ล้านบาท ตามด้วย 2600 เมกะเฮิรตซ์ 37,164 ล้านบาท ส่วน 26 กิกะเฮิรตซ์ 11,570 ล้านบาท

 

อ่านข่าว "กมธ.ดีอีเอส" เกาะติดประมูล 5G เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียุคใหม่

 

               เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์

 

               โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

 

               ทั้งนี้ผลการประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ มีเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท โดยผลการประมูลหลังผ่านการเคาะใบอนุญาต 20 ครั้ง จบที่ใบอนุญาตละ 17,153 ล้านบาท ทั้งหมด 3 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 51,459 ล้านบาท

 

               จากนั้นตามด้วยคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต ใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ มีเข้าร่วมประมูล 3 รายเช่นเดิม คือ เอไอเอส ทรูมูฟ เอช และ กสท หลังผ่านการเคาะราคาครั้งที่ 2 จบที่ใบละ 1,956 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 37,164 ล้านบาท

 

               ต่อมาคือการประมูลยคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ ทั้งหมด 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 4 ราย ประกอบไปด้วย เอไอเอส ทรูมูฟ เอช เพิ่มด้วย บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งการประมูลจบภายในการเสนอราคาครั้งเดียวเนื่องจากมีการเสนอราคาเพียง 26 ใบอนุญาต ทำให้ราคาประมูลอยู่ที่ใบละ 445 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 11,570 ล้านบาท

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลรวมการประมูลคลื่นความถี่ 5จี ทั้ง 3 คลื่น 48 ใบอนุญาตสามารถทำงานเข้ารัฐได้ทั้งหมด 100,193 ล้านบาท

 

               นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเปิดให้บริการระบบ 3จี ล่าช้าถึง 8 ปี ขณะที่ ระบบ 4จี ล่าช้าถึง 4 ปี ดังนั้นการขับเคลื่อนให้เกิด 5จี จึงต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 

 

               ทั้งนี้การขับเคลื่อน 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท

 

               ขณะที่ น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.ดีอีเอส ได้รับเชิญจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมสังเกตการณ์การประมูลคลื่นความถี่ 5จี

 

               โดยวันนี้ พร้อมด้วย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส และกรรมาธิการอีกจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนมาร่วมสังเกตการณ์ในการประมูลครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมากรรมาธิการได้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้รับการประสานทำความเข้าใจในการประมูลจาก กสทช.มาโดยตลอด

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ