ข่าว

นำร่อง 10 ศาลต้นแบบ ประกันตัวผู้ยากไร้ด้วยคำร้องใบเดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปธ.ศาลฎีกา" ให้นำร่อง 10 ศาลต้นแบบ ให้ผู้ต้องหายากจนแจ้งสิทธิกรอกคำร้องใบเดียวประกันตัว พร้อมขยายผลทั่วประเทศ ก.ย.นี้

 

 

          เมื่อวันที่ 2 ก.พ.63 - นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เปิดเผยภายหลังออกประกาศระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเปิดทำการศาลและพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดราชการ พ.ศ.2562 ว่าโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าซึ่งหลังจากประกาศใช้ระเบียบฯ แล้วพบว่าในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดในส่วนศาลชั้นต้นกว่า 895 คน โดยศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปกว่า 838 คน สำหรับในศาลสูง (ชั้นอุทธรณ์ - ชั้นฎีกา) มียื่นคำร้อง 126 คน ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 50 คน อยู่ระหว่างแจ้งการอ่านอีก 5 คน

 

นำร่อง 10 ศาลต้นแบบ ประกันตัวผู้ยากไร้ด้วยคำร้องใบเดียว

 

          อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ต้องหาที่ยากจน ที่อาจจะโดนคดีที่อัตราโทษจริงๆ ไม่ร้ายแรง บางคนอาจจะไม่มีทรัพย์ยื่นประกันตัว หรืออาจจะพอมีทรัพย์แต่คิดว่าเก็บเงินนี้ไว้ให้ครอบครัวดีกว่าจึงไม่ยอมยื่นประกันตัว เพราะเขายังไม่ทราบว่ามีสิทธิประกันตัวได้โดยที่อาจจะไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ดังนั้นจึงมีการนำร่องโดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ที่เข้ามาช่วยคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (ผู้ต้องหา/จำเลย) ได้ลงพื้นที่เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลกาญจนบุรีที่เป็นศาลนำร่อง เพื่อทำความเข้าใจถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาที่จะเขียน "คำร้องใบเดียว" ซึ่งเป็นวิธีที่จะให้ศาลสามารถพิจารณาว่าจะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาได้โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเงินสด หรือเราอาจใช้เเบบประเมินความเสี่ยงคู่กัน ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีความเสี่ยงน้อยศาลพิจารณาเห็นว่าจะไม่หลบหนีหรือก่อเหตุภยันตราย ก็จะให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้เงิน โดยการดำเนินการนี้คำนึงถึงความสงบสุขของเหยื่ออาชญกรรมและสังคมที่จะต้องดูแลเรื่องสิทธิผู้ต้องหาในการประกันตัว

 

          นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า ส่วนมากเป็นผู้ต้องหาที่ยากจนไม่ได้ยื่นประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์ พร้อมนำ แบบคำร้องใบเดียว ไปให้ผู้ต้องหาได้กรอกคำร้องนั้นจากข้างในเรือนจำ โดยในวันเดียวกันนั้น แบบคำร้องใบเดียว นี้ก็ถูกส่งมายังศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาตามขั้นตอนแล้วปล่อยผู้ต้องหาที่ผ่านการประเมินว่าจะไม่หลบหนีแต่ไม่มีเงินประกันไป

 

นำร่อง 10 ศาลต้นแบบ ประกันตัวผู้ยากไร้ด้วยคำร้องใบเดียว

 

          จากการลงพื้นที่นี้ เราพบว่าปัญหาผู้ต้องหายากจนและยังเข้าไม่ถึงสิทธิในการพิจารณาปล่อยชั่วคราว ที่ยังมีอีกจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม ได้จัดให้ใช้ "แบบประเมินความเสี่ยง" ในศาลทั่วประเทศแต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น ยังพบว่าปฏิบัติได้ทั่วถึงยากในศาลต่างจังหวัดซึ่งมองว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากเนื่องจากไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อย ดังนั้นหลังจากนี้ตนจะย้ำให้นำแนวทางการประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์กับผู้ต้องหาที่ยากจน มาใช้ในศาลทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้เข้าได้ทราบถึงสิทธิมากขึ้นต่อไป

 

          ขณะที่ นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่ลงไปพบนั้นยังมีสภาพเป็นผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ถูกฟ้อง ซึ่งเราแจ้งสิทธิให้ได้ทราบว่ายังมีสิทธิได้รับการประกันตัวโดยที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยเราได้นำ "แบบคำร้องใบเดียว" ซึ่งมีสิทธิที่จะยื่นขอประกันโดยไม่ต้องมีหลักประกันได้ โดยดูประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) รวมถึงระเบียบฯ ของศาลแล้ว คดีที่มีโทษตามกฎหมายเกิน 10 ปีจะต้องมีประกันหรือสัญญา แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีหลักประกัน แต่คนไม่ทราบจึงไม่ได้ยื่นคำขอประกัน โดยกลุ่มคนที่ยากจนไม่มีหลักทรัพย์เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราจะขับเคลื่อนนโยบาย ส่วนศาลจะอนุญาตปล่อยโดยไม่มีหลักประกันหรือไม่นั้นก็จะพิจารณาตามขั้นตอนไป แต่คนที่ไม่มีหลักทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลได้เขาควรต้องรู้ว่ามีสิทธิตรงนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายที่ออกมาใหม่ให้ศาลสามารถนำเป็นมาตรการ ใช้แทนหลักประกันได้ เช่น ศาลจังหวัดกาญจนบุรี เราก็ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแลคือเมื่อมีคำร้องขอประกันเข้ามา ศาลก็จะดูข้อหาหากไม่รุนแรงมาก ไม่มีประวัติคดี , ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็เอาตรงนี้มาเป็นข้อมูล และหากผู้ใหญ่บ้าน รับเป็นผู้ดูแลคอยรายงานตัว ศาลก็จะสั่งปล่อยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในการพิจารณาเราจะกำหนดเงื่อนไขตามลักษณะข้อหาด้วย ซึ่งหากเป็นคดีที่มีผู้เสียหายเราก็ต้องคำนึงถึงผู้เสียหายด้วยว่าปล่อยผู้ต้องหาแล้วผู้เสียหายจะเดือดร้อนหรือไม่

 

นำร่อง 10 ศาลต้นแบบ ประกันตัวผู้ยากไร้ด้วยคำร้องใบเดียว

 

          "ศาลจะมีบทบาทมากขึ้น ที่ต้องพิจารณาดูรายละเอียด โดยเมื่อผู้พิพากษาได้รับคำร้องใบเดียว ศาลก็จะต้องพิจารณาโดยมีข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งหนึ่งในวิธีหาข้อมูล คือการใช้ แบบประเมิณความเสี่ยง ซึ่งเป็นวิธีการที่จะได้ข้อมูลเชิงลึกมีเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลเอามาสรุปเป็นคะแนนให้รู้ว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ตรงนี้เป็นคนละอย่างกับคำร้องใบเดียว แต่ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการหาข้อมูล ซึ่งแบบประเมินความเสี่ยงศาลจังหวัดกาญจนบุรีก็ใช้ แต่ไม่ใช่ทุกคดี ที่เราเข้าไปในเรือนจำและมีการพิจารณาจากคำร้องใบเดียวก็มีทั้งเราได้มีคำสั่งปล่อและไม่ปล่อยประกัน" ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวและว่า โครงนี้ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะปล่อยในจำนวนมาก แต่เป็นการปล่อยประกันแบบที่ได้รับการพิจารณารอบคอบแล้วว่าปล่อยไปไม่มีใครเดือดร้อนเพราะบางคดีมีผู้เสียหาย เรื่องที่ดำเนินการนี้เราอยากให้คนไม่มีเงินสามารถเข้าถึงสิทธิได้    

 

นำร่อง 10 ศาลต้นแบบ ประกันตัวผู้ยากไร้ด้วยคำร้องใบเดียว

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการลงพื้นที่ของ นางเมทินี และ นายเผ่าพันธ์ นั้น ได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ต้องหาในเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ทราบถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราว และการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องเสนอหลักประกัน ด้วย "แบบคำร้องใบเดียว" โดยคณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาญจนบุรี ยังได้สัมภาษณ์ผู้ต้องหา เพื่อรับทราบถึงเหตุผลที่ไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และผลกระทบในการถูกคุมขัง ตลอดจนความคาดหวังต่อการขอปล่อยชั่วคราวจากศาลด้วย ซึ่งหลังกิจกรรมดังกล่าว ปรากฏว่า มีผู้ต้องหายื่น "แบบคำร้องใบเดียว" เพื่อขอปล่อยชั่วคราวทั้งหมด 74 คำร้อง โดยศาลสั่งให้มีการประเมิน ความเสี่ยงก่อน 20 คำร้อง , ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ต้องหา 54 คำร้อง       

 

          โดยที่สุด เมื่อศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน 44 คำร้อง , อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน 10 คำร้องโดยมีมาตรการควบคุมหลังการปล่อยชั่วคราวในหลายรูปแบบ เช่น ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมารายงานตัวต่อศาลตามกำหนด , ตั้งผู้กำกับดูแลให้ทำหน้าที่รับรายงานตัวแทนศาล หรือทำหน้าที่สอดส่องดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด , ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พร้อมกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือการเดินทางของผู้ต้องหา ส่วนอีก 20 คำร้อง ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากจากการประเมินความเสี่ยง หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบประวัติการกระทำความผิดมาแล้วหลายคดี

 

         จากผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ในศาลต้นแบบ (ศาลจังหวัดกาญจนบุรี) แห่งแรกนี้ เป็นผลให้ผู้ต้องหาที่มีฐานะยากจนได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายประธานศาลฎีกาในการยกระดับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลย โดยวางเป้าหมายหลักเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยไว้ คือ 1.ลดการเรียกหลักประกัน 2.เพิ่มความปลอดภัยให้สังคม 3.ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอนโดยจัดให้มีศาลต้นแบบในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลย รวม 10 ศาล ประกอบด้วย 1.ศาลอาญาธนบุรี 2.ศาลจังหวัดธัญบุรี 3.ศาลจังหวัดนครนายก 4.ศาลจังหวัดนครราชสีมา 5.ศาลจังหวัดมหาสารคาม 6.ศาลจังหวัดลำพูน 7.ศาลจังหวัดกำแพงเพชร 8.ศาลจังหวัดกาญจนบุรี 9.ศาลจังหวัดภูเก็ต 10.ศาลจังหวัดนาทวี ซึ่งวางเป้าหมายที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทุกศาลอีกด้วย ภายในเดือน ก.ย.63 นี้

 

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ