ข่าว

วอร์รูมสู้ฝุ่นพิษ บิ๊กตู่ ถามใช้ยาแรงรับกันได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯ เปิดทำเนียบแจงแนวทางรับมือ บิ๊กป้อม สั่งตั้งวอร์รูมสู้ฝุ่นพิษ เข้มบังคับใช้ ก.ม.

 

              เมื่อวันที่ี 23 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ อันเนื่องมาจากฝุ่นที่มีขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยได้ดำเนินการจัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศต้นแบบ จำนวน 4 เครื่อง และตรวจสอบการสาธิตการทดสอบไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ และ พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี เป็นคณะร่วมปฏิบัติการนั้น

 

 

 

              ล่าสุด เมื่อค่ำวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนย้ายเครื่องบำบัดอากาศจำนวน 4 เครื่องจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ไปทยอยติดตั้ง คือ 1. พื้นที่ดินแดง ริมถนนสวนป่าวิภาวดี 2. พื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2 จุด และ 3. บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ สวนลุมพินี ซึ่งได้ติดตั้งแล้วเสร็จ

              สำหรับเครื่องบำบัดอากาศดังกล่าวเป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียกโดยอากาศจะถูกดูดเข้าด้วยพัดลมและจะทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เวนทูรีสครับเบอร์” โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้งนี้รูปแบบการใช้น้ำได้ออกแบบไว้ 2 รูปแบบ คือ 1. แบบเป็นฟิล์มไหลเคลือบผิวท่อเวนทูรี ซึ่งน้ำส่วนนี้จะถูกอากาศที่อัดเข้ามาด้วยความเร็วและแรงดันสูงทำให้ฟิล์มน้ำกลายเป็นละอองฝอยขนาดเล็ก และ 2. แบบพ่นเป็นละอองฝอยดักจับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ส่วนอากาศที่บำบัดแล้วจะไหลกลับคืนสู่ด้านนอกทางปล่องปล่อยออกเป็นรูปตัวที (T) ที่มีฝาปิดเปิดเพื่อให้เลือกรูปแบบการปล่อยออกทิศทางเดียวหรือสองทิศทางได้และสามารถปรับระดับองศาการปิดเปิดได้เพื่อให้กำหนดมุมองศาออกไปยังจุดพื้นที่และระดับความสูงที่ต้องการได้

 

 

 

              ทั้งนี้ เครื่องที่จัดสร้างขึ้นมีขีดความสามารถบำบัดอากาศที่ระดับชั้น 3 เมตรได้ เท่ากับ 0.086 ตารางกิโลเมตรต่อ 12 ชั่วโมง ถ้าอากาศที่จะบำบัดมีค่าความเข้มข้น พีเอ็ม 2.5 เท่ากับ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทุกๆ 1 วินาที เครื่องจะปล่อยอากาศที่บำบัดแล้วได้ 2 ลูกบาศก์เมตร ที่ค่าความเข้มข้นพีเอ็ม 2.5 เท่ากับ 15 มคก./ลบ.ม. ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานอนามัยโลกที่กำหนดระดับดีมากไว้ที่ 35 มคก./ลบ.ม.

              ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีวาระพิจารณาการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมในวันนี้มีข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการเข้มงวดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เราได้ดำเนินการไปให้มากขึ้นรวมทั้งในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่เพียงพอ เช่น อุปกรณ์ตรวจสอบควันดำก็จะให้หน่วยงานไปดำเนินการจัดหามาให้ครบรวมทั้งนี้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ทั้งหลาย

 

 

 

              “ความจริงแล้วทุกหน่วยงานก็ได้ทำงานร่วมกับประชาชนในการพัฒนาเรื่องควันดำและฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้ลดน้อยลง โดยเข้มงวดตามกฎหมายที่มีอยู่ และขอให้เจ้าหน้าที่และประชาชนร่วมมือและทำงานร่วมกันตลอดจนสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยมีการตั้งวอร์รูมที่กรมควบคุมมลพิษเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รู้ว่าแต่ละวันค่าพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่เท่าไร เป็นรายชั่วโมง”

              ผู้สื่อข่าวถามว่า 12 มาตรการที่นำมาบังคับใช้กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีการควบคุมการเผาโดยเฉพาะเผาอ้อยในแต่ละจังหวัด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ผู้ว่าราชการเป็นซิงเกิลคอมมานด์ในการสั่งการในแต่ละจังหวัดโดยได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในเรื่องแก้ไขมลพิษและฝุ่นละอองให้มากขึ้นตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่เป็นมติในที่ประชุม ทั้งนี้จะให้ ทส. ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องฝุ่นละอองต่อไป เมื่อถามว่าหากถึงขั้นวิกฤติจริงๆ ใครจะมีอำนาจสั่งการเพื่อให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ถ้าเกิดวิกฤตินายกรัฐมนตรีจะลงมาเป็นประธานบัญชาการด้วยตัวเอง

 

 

 

              ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญแต่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ ไม่เช่นนั้นก็ถูกต่อต้านซึ่งมีผลทั้งสิ้น ทั้งนี้หลายคนบอกว่ารัฐบาลไม่มีแผนแก้ปัญหา แต่ในความเป็นจริงมีตั้งนานแล้วโดยแผนการรับมือฝุ่นพิษมีการกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 

              นายกฯ กล่าวด้วยว่า หลายอย่างที่เป็นยาแรง ต้องเห็นใจรัฐบาลบ้าง หลายคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน มีความจำเป็นแต่ละเรื่องแต่ละราว จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน แล้วผลก็ย้อนกลับไปที่รัฐบาล ออกอะไรที่เข้มงวดไป แล้วเกิดการต่อต้านไม่ปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ก็ทำงานไม่ได้

 

 

 

              "2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ หาเครื่องมือ มีแผนเตรียมการโดยตลอด สิ่งสำคัญคือต้องสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลายคนก็บอกว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยาน้ำเยออะไร มันมีหมดน้ำยาถ้าจะใช้ แต่มันเดือดร้อน ท่านต้องยอมรับกันสิว่าประเทศไทยมีคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย คนรายได้มาก รายได้ปานกลาง รายได้น้อย กิจกรรมแต่ละอันมีผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งสิ้น รถบรรทุกก็มีเรื่องการขนสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ รถควันดำก็ต้องหยุดวิ่งได้ไหม มันต้องยอมรับว่าถ้าเข้มงวดมากขึ้นต่อไปจะตามด้วยค่าขนส่งที่แพงขึ้น สินค้าอุปโภคแพงขึ้น คิดให้เป็นอย่างนี้ อย่ามาคิดเป็นเสี้ยวๆ เศษๆ แล้วก็ตีกันไปตีกันมา ก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เข้าใจบ้าง อย่างไรก็ตามรถยนต์มีกว่า 10 ล้านคันที่วิ่งในกรุงเทพฯ ถ้าเราไปแยกเป็นวันคู่วันคี่ รับกันได้หรือไม่ ทุกคนซื้อรถต้องมีที่จอดรถในบ้านเอาไหมล่ะ นี่เป็นนโยบายสาธารณะ เอาทุกอย่างมาตีกันอยู่อย่างนี้ไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

 

 

              วันเดียวกัน กรีนพีซประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิชีววิถี และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อาทิ เครื่องมือสำคัญคือกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย พีเอ็ม 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก รวมทั้งมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ นอกจากนี้เสนอให้ลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบ หรือใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤติฝุ่น โดยข้อเสนอทั้งหมดได้ยื่นผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลถึงนายกรัฐมนตรี

 

 

 

              พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาโดยลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ซึ่งประชาชนยังมีข้อวิจารณ์ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นหากหน่วยงานออกมาตรการห้ามหรือขอความร่วมมือ เช่น การจราจร การตรวจควันดำ ก็ต้องให้ความร่วมมือ การเผาในที่โล่งก็ต้องควบคุมไม่ให้มีการเผา ทั้งชาวนา และชาวไร่ หากพบจะบังคับใช้กฎหมาย ส่วนมาตรการงดใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้น เห็นว่าก่อนที่ทุกคนจะถูกบังคับทุกคนต้องมาช่วยกันก่อน เช่นเลี่ยงการใช้รถส่วนตัว หรือใช้รถร่วมกัน อีกอย่างรถส่วนตัวต้องหมั่นตรวจสภาพรถด้วย

              เมื่อถามต่อว่าหากมีมาตรการบังคับใช้รถยนต์ส่วนตัวจะมีแนวทางลดค่าโดยสารรถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้น่าสนใจ แต่ขอให้เป็นเชิงนโยบายก่อนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้รถสาธารณะ โดยจะนำเรียนให้ ครม.เพื่อพิจารณาในส่วนนี้เพราะต้องใช้ภาษีประชาชนในการรองรับเรื่องนี้

              พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.จะเร่งรัดกำหนดมาตรการควบคุมให้บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า แก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองโดยจะกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัดหากไม่ปฏิบัติตามจะให้ระงับการก่อสร้างทันทีรวมทั้งกำชับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้มีการเผาในที่โล่งและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผา

 

 

 

              นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายการ Government Weekly ช่วง PM Talk สัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดตึกไทยคู่ฟ้าต้อนรับและพูดคุยกับตัวแทนเด็ก เกษตรกร ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับฟังปัญหาและแนวคิดของประชาชนต่อการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันไม่ใช่เพียงแต่รัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น โดยประชาชนได้เสนอให้รัฐบาลใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ไขปัญหา รณรงค์ให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นแทนพืชล้มลุกที่ต้องเผาก่อนฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่ สร้างแรงจูงใจให้เกิดธุรกิจหรือการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในส่วนของรัฐบาลนั้นนายกรัฐมนตรีย้ำว่าปัญหาฝุ่นมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่ภาครัฐมีมาตรการรับมือทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วย ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กเพจไทยคู่ฟ้า วันศุกร์ที่ 24 มกราคม เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป และทางสถานีโทรทัศน์ NBT วันเสาร์ที่ 25 มกราคม เวลา 11.05 น.

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ