ข่าว

ศศิน ระบุ ช้าดีกว่าไม่มา รอดูฝีมือ ก.ทรัพย์ แก้ปัญหาฝุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศศิน" ระบุ ช้าดีกว่าไม่มา ครม.เห็นชอบตามที่ ก.ทรัพย์ เสนอมากมาย แต่ทำจริงได้ผลแค่ไหน มาตามดูกัน พร้อมเสนอรัฐขอมือดีมาจัดการ และต้องมีรองนายกฯดูแลสิ่งแวดล้อม

 

 

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2563 - นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศในขณะนี้ ว่า ช้าดีกว่าไม่มา กระทรวงทรัพย์ฯ มากมาย แต่ทำจริงได้ผลแค่ไหน มาตามดูกัน

 

มติ ครม. 21 มกราคม 2563 เรื่องการแกปัญหาฝุ่นควัน 11 เรื่อง การยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป สาระสำคัญ

 

1. สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 พบเกินมาตรฐานต่อเนื่องและมีปริมาณอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงต้องจำกัดจำนวนและลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาจากยานพาหนะโดยเฉพาะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง จึงต้องยกระดับมาตรการให้เข้มงวดขึ้นเพื่อลดมลพิษที่ระบายออกสู่บรรยากาศ

 

2. การยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต

คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 มีมติให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 ในสถานการณ์วิกฤต โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการโดยเร่งด่วนดังนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ 1.ออกข้อบังคับเพิ่มเติมเพื่อขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ห้ามเดินรถเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากวงแหวนรัชดาภิเษกขยายเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 2.ออกข้อบังคับหรือระเบียบตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด 3.ยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำอย่างเคร่งครัด และ 4.ออกคำสั่งห้ามการใช้รถที่มีมลพิษเกินมาตรฐานที่กำหนดมาใช้ในทางเดินรถและออกกฎกระทรวงเพื่อตรวจรับรองรถยนต์ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งแล้วตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

 

กรมการขนส่งทางบก คือ 1.ตรวจวัดควันดำอย่างเข้มงวดกับรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุดใน 50 เขต (บูรณาการร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร) 2.ปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการยกระดับความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกเพื่อการออกคำสั่งห้ามใช้รถ

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ 1.ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ 2.ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง และสนับสนุนแรงจูงใจ (Incentive) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ให้ความร่วมมือ

 

กรุงเทพมหานคร คือ 1.แก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ 12 ข้ออย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามให้ระงับการก่อสร้าง โดยมีมาตรการทั้ง 12 ข้อ ได้แก่ การวางแนวแบริเออร์ ให้จัดวางให้ตรงตามแนวเส้นทางจราจร , ช่องทางกลับรถคับแคบ ให้เปิดช่อง U-Turn ให้กว้าง เพื่อให้รถยนต์กลับรถได้สะดวกขึ้น , ให้ขนย้ายกองดิน เศษหิน เศษปูนทรายออกจากพื้นที่ก่อสร้างในทันที , เร่งแก้ไขผิวจราจรให้เรียบร้อย , แนวก่อสร้างที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่ได้วางแผงแบริเออร์ ให้เปิดช่องทางชั่วคราว , ให้เร่งก่อสร้างงานฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดที่สะพาน ,ให้จัดระเบียบรถบรรทุกในพื้นที่ ,ปรับผิวจราจรให้เป็นช่องจราจรชั่วคราวเพิ่มขึ้น , พื้นที่ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่ปิดช่องจราจร ให้เปิดช่องจราจรเป็นครั้งคราวในพื้นที่ , การเปิดแนวแบริเออร์แล้วไม่ปิดให้เรียบร้อย ให้ปิดกั้นให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย ,ติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราวตามแนวการก่อสร้าง และปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างและจัดทำทางสัญจรอย่างปลอดภัย  และ 2.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผา

 

จังหวัดต่างๆ (ยกเว้น 9 จังหวัดภาคเหนือ) คือ 1.ออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ควบคุมการเผาขยะมูลฝอย หญ้า พืชไร่ พืชสวน ตอซังข้าว หรือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของตนเองหรือที่สาธารณะในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง และ 2.เข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมการก่อสร้างต่าง ๆ

 

ข้อเสนออื่น คือ 1.ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน 2.รถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของหัวหน้าส่วนราชการ 3.ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาสนับสนุนการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm 4.ขอความร่วมมือกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี และ 5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานอื่นสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤต

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายศศิน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอรัฐบาลขอมือดีจัดการวิกฤตฝุ่น PM2.5 พร้อมชำแหละ 7 ข้อที่อยากให้ทำด่วน โดยระบุว่า ผู้นำประเทศไม่มีจิตวิทยาในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ และวิกฤติศรัทธา ทั้งในแง่ทักษะการบริหาร และการสื่อสาร ที่สำคัญคือความจริงใจในเรื่องความห่วงใยประชาชน รวมทั้งการบริหารจัดการวิกฤติ ต้องใช้ "มือดี" เพื่อบรรเทาปัญหา ต้องมีความรู้ กล้าตัดสินใจ มีทีมงาน และทุ่มเท ต้องมีรองนายกฯคนใหม่ ที่รู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม และต้องเปลี่ยนอธิบดีบางกรม หาคนสื่อสารกับประชาชนเป็น

 

ศศิน ระบุ ช้าดีกว่าไม่มา รอดูฝีมือ ก.ทรัพย์ แก้ปัญหาฝุ่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ