ข่าว

ชี้ชะตา สรยุทธ คดีไร่ส้มวันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีไร่ส้ม วันที่ 21 ม.ค. "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" จะลงเอยด้วยชะตากรรมอย่างไร

 

               ภายหลังที่ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ยืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 6 กระทง รวม 20 ปี กับนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงาน บมจ.อสมท มีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณาฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

 

               กรณีทำให้ อสมท “เสียหาย” จากการละเว้นไม่แจ้งการชำระค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138 ล้านบาท ของรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ระหว่างปี 2548-2549 ซึ่ง บจก.ไร่ส้ม และ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ดำเนินรายการ 

 

               โดยศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนสั่งปรับ “บจก.ไร่ส้ม” จำเลยที่ 2 รวม 6 กระทง เป็นเงิน 80,000 บาท พร้อมลงโทษนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บ.ไร่ส้ม รวม 6 กระทง รวมจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด ซึ่งโทษจำคุกจำเลยทั้งหมดศาล “ไม่รอลงอาญา”

 

               คดีนี้กำลังถูกจับตาอีกครั้งเมื่อมาถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยจำเลยทั้งหมดต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัดแต่ยังมีเงื่อนไขหากมีเหตุจำเป็นหรือเจ็บป่วยกะทันหันให้แจ้งต่อศาลเพื่อขออนุญาตเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาได้

 

               ก่อนหน้านี้นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3-4 ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี โดยใช้สมุดบัญชีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ที่ศาลฎีกาตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ” เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล แต่จำเลยต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน เช่นเดียวกับนางพิชชาภาซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ได้รับการประกันตัวไป 5 ล้านบาท

 

               หากย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น “คดีไร่ส้ม” มาจากพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพิชชาภา, บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา เป็นจำเลยที่ 1-4 ในคดีหมายเลขดำ อ.313/2558 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

 

               เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์กร เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8, 11

 

               โดยบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548-28 เมษายน 2549 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศ นางพิชชาภาใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต “ไม่รายงาน” การโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 1 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท

 

               และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการ “ตอบแทน” ที่นางพิชชาภาไม่รายงานการโฆษณา แต่เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.อสมท โดยมี จำเลยที่ 2-4 เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำผิดและมอบเช็คธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา เหตุเกิดที่แขวงและเขตห้วยขวาง กทม.

 

               ระหว่างนี้เองจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งชั้นตรวจหลักฐาน นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 แถลงแนวทางต่อสู้ว่า ตัวเองไม่มีอำนาจอนุมัติการโฆษณาและไม่เคยใช้น้ำยาลบคำผิดลบข้อความเกี่ยวกับการจัดคิวเวลาโฆษณา ส่วนเช็ค 6 ฉบับที่ได้รับนั้นเป็นค่าประสานงานคิวโฆษณาที่นอกเหนือจากหน้าที่ “ไม่ใช่” ค่าตอบแทนในการไม่ระบุการโฆษณาเกินเวลา ส่วน บมจ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ประเด็นที่ว่าไม่เคยมอบให้ผู้ใดไปติดต่อเพื่อจัดคิวโฆษณาเกินเวลาและไม่เคยให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารเกี่ยวกับการโฆษณา

 

               เช่นเดียวกับนายสรยุทธ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 แถลงว่าไม่เคยรู้จักกับนางพิชชาภา ไม่ทราบว่ามีหน้าที่อะไรและไม่เคยติดต่อให้ผู้ใดไม่รายงานโฆษณาที่เกินเวลา แต่ยอมรับว่าเช็ค 6 ฉบับได้ลงลายมือชื่อนายสรยุทธเป็นเช็คที่ชำระค่าประสานงาน ไม่ใช่เงินที่ตอบแทนให้นางพิชชาภาใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารการโฆษณา

 

               ในคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นว่าการจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งระบุชัดเจนว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่ บมจ.อสมท

 

               จากกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่าย “ผิดสัญญา” ขณะที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่กลับไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบจนเป็นเหตุให้ “อสมท” ได้รับความเสียหาย

 

               ส่วนนายสรยุทธจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นน่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การให้เช็คถึงแม้จะอ้างให้โดยเสน่หา แต่การไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินให้ทราบ ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ ถือเป็นกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย จึงให้จำคุกนางพิชชาภา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินฯ รวม 6 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี นอกจากนี้ได้สั่งปรับ “บจก.ไร่ส้ม” จำเลยที่ 2 รวม 6 กระทง กระทงละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท

 

               ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑาจำเลยที่ 4 จำคุก 6 กระทง กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาศาลได้ลดโทษให้จำเลยทั้ง 4 คนละ 1 ใน 3 โดยปรับ บจก.ไร่ส้ม จำนวน 80,000 บาท นางพิชชาภาจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑาจำเลยที่ 3-4 เหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน

 

               ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจัดทำคิวและทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ เมื่อการโฆษณาเกินส่วนต้องเสียค่าโฆษณาแต่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยา “ลบคำผิด” ในใบคิวโฆษณาของ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ถึงแม้อ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิดก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก

 

               ส่วนเรื่องคุณงามความดี ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้กล่าวอ้างนั้น ศาลเห็นว่าประวัติคุณงามความดีเป็น “คนละส่วน” กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด จึงไม่มีเหตุสมควรให้รอลงอาญา ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนผลลงโทษตามศาลชั้นต้น

 

               จากนี้ต้องรอคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 21 มกราคม 2563 จะออกมาอย่างไร เมื่อ “คดีไร่ส้ม” อยู่ในความสนใจของสังคมว่าที่สุดแล้ว “จำเลยทั้ง 4” โดยเฉพาะ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” จะลงเอยด้วยชะตากรรมอย่างไร

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ