ข่าว

เปิดคุณสมบัติพระอุปัชฌาย์ หลังหลวงพ่อต่อว่าญาติโยมถวายปัจจัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคุณสมบัติพระอุปัชฌาย์ หลังหลวงพ่อต่อว่าญาติโยมถวายปัจจัยแค่ 200 ไม่เหมาะสม สมควรได้มากกว่านี้หรือ

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากกรณีพระภิกษุรูปหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก  เกี่ยวกับเรื่องการถวายปัจจัยอันน้อยนิดของญาติโยม แถมยังพูดถึงการบวชเป็นพระอุปัชฌาย์ กว่าจะมาเป็นกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

 

12/1/63 นิมนต์พระมาเทศน์ถวายรูปละ 4 พัน 5 พัน กล้าให้ ลิเกมาเล่นราคา 6 หมื่นกล้าให้ บัดเอาลูกมาบวชถวายพระคู่สวด 600 บาท ยังกล้าถวายหนอ

นี่ก็บวชหน้าไฟ 2 ร้อยบาท ยังกล้าถวายอยู่หนอ คุณโยมเอ๋ย แบบนี้ใครมาขอบวชหน้าไฟ บวชหน้าอะไรก็แล้วแต่ ทีหน้าทีหลัง ไม่ต้องจัดซองมาถวายปัจจัยอะไรก็ได้ดอกโยมเอ๋ย ก็จะสงเคราะห์ให้โยมอยู่

พระอุปัชฌาย์เป็นกันได้ง่ายๆ หรือ อย่าทำเป็นเล่นไป กว่าจะอบรมสอบผ่านได้มาไม่ได้ง่ายดอก ถ้างั้นพระทุกรูปได้เป็นพระอุปัชฌาย์กันหมดแล้ว

เดี๋ยวจะบวชให้ฟรีๆ ไปเลย เอาแค่ข้าว น้ำ ภัตตาหารเช้า-เพล มาถวายเป็นเครื่องบูชา อาตมาคิดว่าอยู่ได้สบายเลยหนาโยมเอ๋ย”

เปิดคุณสมบัติพระอุปัชฌาย์ หลังหลวงพ่อต่อว่าญาติโยมถวายปัจจัย

เปิดคุณสมบัติพระอุปัชฌาย์ หลังหลวงพ่อต่อว่าญาติโยมถวายปัจจัย
 

และจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้พุทธศาสนิกชนต่างเข้าไปแสดงความคิดเห็นถึงความเหมาะสมของผู้เป็นพระ มีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะมาต่อว่าญาติโยมเช่นนี้ 

ซึ่งวันนี้เราจึงได้รวบรวมความหมายของพระอุปัชฌาย์หมายความว่าอย่างไร และตามหลักปฎิบัติแล้วนั้น พระภิกษุ ผู้จะดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ อะไรบ้าง

พระอุปัชฌาย์ หมายความว่า พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบท

พระอุปัชฌาย์ มี 2 ประเภท คือ พระอุปัชฌาย์สามัญ ได้แก่ พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะใหญ่ และพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ได้แก่ พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช

ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลหนึ่ง ให้มีพระอุปัชฌาย์เพียงหนึ่งรูป เว้นแต่มีกรณีพิเศษ

พระภิกษุ ผู้จะดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีตำแหน่งในทางปกครองชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป เว้นแต่พระอารามหลวง

(2) มีพรรษาพ้น 10 พรรษา

(3) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อนหรือวัณโรคในระยะอันตราย

(4) มีประวัติความประพฤติดี

(5) เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

(6) เป็นเปรียญหรือนักธรรมชั้นเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่น ซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน

(7) มีความสามารถฝึกสอนผู้อยู่ในปกครองให้เป็นภิกษุสามเณรที่ดี ตามพระธรรมวินัยและสามารถบำเพ็ญกรณียกิจอันอยู่ในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ได้

(8) มีความรู้ความสามารถ ทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระวินัยและระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์

ในการแต่งตั้งพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัดเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้พิจารณาเลือกพระสังฆาธิการผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น แล้วรายงานรับรองขอแต่งตั้งเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาค

พระอุปัชฌาย์ มีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้เฉพาะตนและเฉพาะภายในเขตอำนาจที่ปกครอง คือ ถ้าเป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดของตน ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบล ภายในเขตตำบลของตน เป็นต้น ทั้งนี้ พระอุปัชฌาย์ ที่ดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่จำกัดเขต

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ