ข่าว

บิ๊กป้อม สั่งเจาะบาดาล สู้แล้ง เทงบฯ 3 พัน ล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บิ๊กป้อม สั่งเจาะ บาดาล สู้แล้ง เทงบฯ 3 พัน ล. ขุดบาดาล 500 บ่อรับมือ  ด้าน นายกฯ วอนเข้าใจปัญหาภัยแล้ง ย้ำมีแผนบริหารจัดการน้ำ

           ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ปัญหาภัยแล้งถือเป็นปัญหาประเทศไทยมาตลอดในระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต จากอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรามีคณะกรรมการทำงานอยู่แล้ว และวันนี้ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขวิกฤติน้ำขึ้นมา เพื่อบูรณาการให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) คณะเดิมวางแผนระยะยาว ทั้งการเก็บน้ำ พร่องน้ำ ระบายน้ำ อย่างไร ที่ไหนบ้าง ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมากทยอยดำเนินการตามแผน ขณะที่ในบางพื้นที่ยังทำไม่ได้ น้ำไปไม่ถึง ชลประทานไปไม่ได้จะทำอย่างไร จึงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช หาพื้นที่ที่เหมาะสม ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถึงต้องมีนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อที่จะให้ปลูกพืชพลังงานแทน ทุกอย่างได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้ว

 

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาน้ำต้องมอง 2 อย่าง ระยะยาวมีแผนถึง 20 ปี ที่ต้องแก้ทั้งระบบให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกตารางนิ้วจะมีน้ำไปถึงได้เพราะบางพื้นที่สูง บางพื้นที่ต่ำ บางพื้นที่ต้นทุนน้ำไม่พอ ถึงจะมีเขื่อนก็ไม่พอ จึงต้องไปแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น หากจะทำแหล่งน้ำให้ถึงทุกหมู่บ้านนั้น เป็นเรื่องการส่งน้ำขึ้นไป ก็ต้องมีต้นทุนน้ำ ถ้ายาวเกินไปต้นทุนก็สูง ค่าน้ำก็แพงขึ้น จึงต้องมีแหล่งน้ำในพื้นที่ เช่นการขุดลอกคูคลอง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ขนาดเล็ก วันนี้ให้ไปหาวิธีการทำอย่างไรในการขุดดินแลกน้ำ ขุดดินแลกบ่อก็ให้ทำกันไปด้วย ส่วนดินที่ขุดเจ้าของที่ก็ขายให้คนที่ขุดไป ถามแล้วตามกฎหมายทำได้ ก็ขุดกันบ้าง ถ้าเอาที่ดินทั้งหมดเก็บไว้โดยที่ไม่มีแหล่งน้ำ แล้วจะปลูกอะไรได้ หลายคนก็เป็นห่วงว่าที่น้อย น้ำมาไม่ถึง อย่างไรก็ส่งไม่ถึงแล้วจะทำอย่างไร

       “รัฐบาลเตรียมการผ่านงบประมาณในการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อให้ทุกตำบลทุกหมู่บ้านเกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ เช่น การสร้างถนนคอนกรีต ถนนยาง ซึ่งรัฐบาลจะไปทำอะไรให้ทุกอย่างคงไม่ได้ขนาดนั้น พยายามทำให้มากที่สุด ท่านก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง เช่น ขุดบ่อ อย่างน้อยก็มีน้ำอุปโภค บริโภค ไม่อย่างนั้นน้ำประปาก็ขาด น้ำอุตสาหกรรมก็ขาด ซึ่งอุตสาหกรรมเขาก็เสียภาษีเหมือนกัน และสูงกว่าปกติ ทุกคนก็ต้องอยู่กันแบบนี้ อย่าให้มาบิดเบือนเรื่องคนรวย คนจน เอื้อประโยชน์คนรวย” นายกฯ กล่าว

     ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บอกล่วงหน้าไปแล้วว่าเราจะดูแลในเรื่องการเอาน้ำใต้ดินและบนดิน เพื่อดูแลในส่วนของการอุปโภคและบริโภค ส่วนน้ำทำการเกษตรไม่มีเพียงพอ จึงต้องปรับเปลี่ยน โดยไม่สามารถทำนาปรังได้ เพราะว่าน้ำในปีนี้น้อยมาก เราพยายามขุดบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 500 กว่าแห่ง ซึ่งมีการประชุมล่วงหน้า เพื่อเตรียมการมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าน้ำที่มีอยู่สามารถใช้เพียงพอได้ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยใช้งบฉุกเฉิน 3 พันล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งครั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

     เมื่อถามถึงการดำเนินการผลักดันน้ำเค็มที่มีผลกระทบกับการผลิตน้ำประปานั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องน้ำเค็มลำบากหน่อย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับน้ำประปา แต่ก็พออยู่ได้ ซึ่งเราไม่มีน้ำเพียงพอจะไล่น้ำเค็มจะไปหาน้ำที่ไหน แล้วน้ำมาจากไหน ส่วนการขุดบ่อบาดาล โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ หากมีการขุดบ่อบาดาลจะไม่ทำให้พื้นดินทรุด

    ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์​ ธนเดโชพล​ รองอธิบดีกรมชลประทาน​ เปิดเผยว่า​ ฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย​ จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างจำกัด​ และให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศสนับสนุนพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือเกษตรต่อเนื่องบางพื้นที่เท่านั้น โดยยืนยันว่าน้ำปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก​ 4​ แห่ง​ เขื่อนภูมิพล​ เขื่อนสิริกิติ์​ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน​ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีรวมกันอยู่ทั้งหมด 40% จะเพียงพอใช้ได้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง​ เดือนพฤษภาคมปี 2563 ทั้งยังเผื่อฝนทิ้งช่วงอีก 3 เดือน​ จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม​ 2563​ ที่จะมีน้ำเพียงพอ

     ทั้งนี้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก​ ถูกระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร​ แบ่งเป็นใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 7 ล้านลูกบาศก์เมตร​ รักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม 8 ล้านลูกบาศก์เมตร​ และเพื่อการทำเกษตรต่อเนื่อง เช่นสวนส้มโอและอื่นๆ หรือพืชที่ใช้น้ำน้อยอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร​ ทั้งยังมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกวันละ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งน้ำลุ่มน้ำแม่กลองยังมีมากเพียงพอที่จะผันมาช่วยลุ่มเจ้าพระยา​ เนื่องจากอิทธิพล​ของพายุ​โพ​ดุล​

    สำหรับเกษตรกร​ ได้ขอความร่วมมืองดทำนาปรังและรอให้ฝนตกรอบใหม่จึงจะเริ่มหว่านกล้าทำนาได้ซึ่งถ้าหากตัดสินใจทำในช่วงเวลานี้​ จะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุน​ต้องปล่อยยืนต้นตาย​ เนื่องจากได้จัดลำดับความสำคัญเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก

    ส่วนการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องจักร​และเครื่องมือเพื่อส่งไปประจำการที่ศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศ​ มีศูนย์กลางอยู่ที่ จ.นนทบุรี และอีก 7​ สาขาในทุกภูมิภาค ได้แก่ จ.เชียงใหม่​ จ.พิษณุโลก​ จ.ขอนแก่น​ จ.นครราชสีมา​ จ.พระนครศรีอยุธยา​ จ.นนทบุรี และ จ.สงขลา​ ซึ่งจะกระจายส่งเครื่องจักร​ เครื่องมือจำนวน 4,316 ชิ้น แยกเป็นเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่องสูบน้ำจำนวน 258 คัน​ รถขุดจำนวน 499 คัน​ เรือขุดจำนวน 69 ลำ​ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน​ รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน​ รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน​ และเครื่องจักรสนับสนุน​อื่นๆ จำนวน 373 เครื่อง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่

    วันเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อหารือมาตราการรับมือวิกฤติภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดภาวะน้ำเค็มรุก จนส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบปัญหาประปามีรสกร่อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในการใช้เพื่อการอุปโภค

     ดร.สมเกียรติ​ กล่าวว่า เขื่อนใหญ่ 2 แห่ง​ คือ​ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา​ วันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร​ แต่มีน้ำไหลระบายออกจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา​ ที่ จ.ชัยนาทเพียง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร​ น้ำส่วนที่หายไป 7-8 ล้านลูกบาศก์เมตร​ คาดว่ามีเกษตรกรดึงไปใช้เพื่อการเกษตร​ จึงทำให้ไม่มีน้ำ​เพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็มได้ตามแผน ปัจจุบันจึงได้ปรับแผนนำน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองมาช่วยผลิตน้ำประปา​ และชะลอความเค็ม​ โดยน้ำทะเลจะหนุนสูงในวันที่ 7-15 มกราคมนี้​ ทำให้มีลิ่มความเค็มสูง​ กระทบการผลิตน้ำประปา​ จึงเร่งผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองผ่าน 4 คลองหลักคือ 1.คลองจระเข้สามพราน​ ผ่านมาทางแม่น้ำท่าจีนออกทางคลองพระยาบันลือ 2.คลองประปา 3.คลองบางกอกน้อย​ และ 4.คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อลดค่าความเค็ม​ โดยนับตั้งแต่วันที่​ 1​ พฤศจิกายน​ 2562​ -​ ปัจจุบัน​ ได้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง​แล้ว​ 200​ ล้านลูกบาศก์เมตร​ซึ่งตั้งโควตา​ไว้​ 500​-800​ ล้านลูกบาศก์เมตร​ โดยที่คนในลุ่มน้ำแม่กลอง​ไม่ได้รับผลกระทบ​ เพราะเป็นน้ำส่วนเกิน​

    ด้านนายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำเค็มเข้ารุกมาถึงสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำแล​ จ.ปทุมธานี​ ทำให้ต้องหยุดสูบบางช่วง​ และใช้น้ำดิบสำหรับผลิตประปา​จากแม่น้ำเจ้าพระยาให้น้อยลง​ โดยปรับมาใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ผันเข้ามาเพิ่มให้มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งประชาชนไปแล้วว่า น้ำประปาจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาน้ำเค็มรุก โดยให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคไต​ เบาหวาน​ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา แต่ยืนยันว่าน้ำประปายังมีคุณภาพ ยกเว้นค่าความเค็มที่บางช่วงอาจเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร​ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่วันนี้ความเค็มยังไม่เกินค่ามาตรฐาน

      นายปริญญา ยังยอมรับว่า การที่น้ำเค็มรุกเข้ามาถึงจุดสถานีสูบน้ำดิบ​ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตน้ำประปาสูงขึ้น​ จากค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ​ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น​จากการสูบไม่ต่อเนื่อง​ ส่วนค่าปรับคุณภาพของน้ำประปา​ การประปาส่วนนครหลวง​ ต้องแบบรับต้นทุนนี้มานานแล้ว​ เนื่องจากคุณภาพน้ำดิบที่เป็นอยู่ค่อนข้างต่ำ​ มีสาหร่ายจำนวนมาก​ แต่ยังไม่มีนโยบายขึ้นค่าน้ำประปาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองสำรองไว้ผลิตน้ำประปาแล้ว อีกมาตรการ​ระยะสั้น​ คือเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ผลิตน้ำประปา 4 จุด ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำบางเขน​ สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี​ สถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง​ และสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง รวมกันจะมีกำลังการผลิต 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

     ผู้ว่าการ กปน. บอกด้วยว่า สำหรับแผนระยะกลาง​และระยะยาว ได้วางแผนย้ายสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปา​ จากสถานีสูบน้ำสำแล​ จ.ปทุมธานี ซึ่งตั้งมาเป็นเวลากว่า 100​ ปี ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ รัชกาล​ที่​ 5​ แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง​ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อาจทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายจุดสูบน้ำดิบขึ้นไปอีก​ 20​ กิโลเมตร​ เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำเค็มรุกล้ำ​ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี​ โดยจุดที่เหมาะสมที่สุด แล้วเป็นเป้าหมายคือ บริเวณ อ.บางไทร​ จ.พระนครศรีอยุธยา​ ซึ่งการย้ายจุดสูบน้ำดิบดังกล่าว​ จะเกิดขึ้นในแผน​ระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง กปน. นำรถบริการแจกน้ำดื่มฟรีให้แก่ประชาชน โดยเป็นน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กลอง และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม โดยประชาชนสามารถนำภาชนะมาบรรจุรับน้ำได้ที่สำนักงานประปาทั้ง 18 สาขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม เป็นต้นไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ