ข่าว

ลดขยะอาหาร 50%ภายใน 10ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฮาวทูทิ้ง'ขยะอาหาร-อาหารส่วนเกิน'ต้อนรับเทศกาลฉลองปีใหม่ ระบุ ลดขยะอาหาร 50%ภายใน 10ปี

 

 

            เทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ย่อมมาพร้อมกับการเฉลิมฉลอง และแน่นอนสิ่งที่ตามมาควบคู่กันคือ ขยะอาหาร อาหารส่วนเกิน

          อ่านข่าว : MICHELIN Guide รับรอง 50 ร้านอาหารเชียงใหม

 

          อาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร กลายเป็น1ใน10พฤติกรรมสุขภาพในปี2563จัดอันดับโดยThaihealth Watchของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

       เนื่องจากปัจจุบันคนไทยสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นขยะอาหารเฉลี่ยปีละ254กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย มากกว่าชาวฝรั่งเศส 30%และมากกว่าชาวอเมริกัน 40%

 

           ขณะที่การจัดการขยะของไทยในปัจจุบัน43%ใช้วิธีการเผาในเตาควบคุม (หรือนำไปผลิตเป็นปุ๋ย) ซึ่งหากเป็นขยะอาหารปนอยู่จะมีความชื้นที่ต้องใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงมากขึ้น

 

            และที่เหลือ57% ยังใช้วิธีฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ยิ่งทำให้เกิดมลพิษ เป็นการกระจายของเชื้อโรคต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง เนื่องจากขยะอาหารเป็นพาหะนำโรค และส่งผลต่อสุขลักษณะในการดำรงชีวิต ในขณะที่หลายประเทศตั้งเป้าไม่ให้มีการฝังกลบขยะที่เป็นอาหารเลย (zero landfill)

 

            ประเด็นขยะอาหาร อาหารส่วนเกิน กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยสหประชาชาติให้ความสำคัญกับปัญหาขยะอาหารอย่างจริงจัง จึงรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ หาวิธีจัดการปัญหานี้ โดยระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals- SDGs) ข้อที่12.3ให้ลดการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) เหลือครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน ภายในปี ค.ศ.2030หรืออีกสิบปีข้างหน้าเท่านั้น

 

        ขณะที่วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นการดําเนินงานเก็บข้อมูลและจัดการเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โดยบรรจุเรื่องปัญหาขยะอาหารไว้ในแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ.2560-2579มีเป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้5%ต่อปี

 

            แต่ปัญหาในการจัดการขยะอาหารของไทย ไม่ใช่แค่เพียงวิธีจัดการขยะทั่วไป ยังรวมถึงวิธีทิ้งขยะของคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้‘แยกขยะ’ทิ้งตามสีถัง สีน้ำเงิน-ขยะทั่วไป สีแดง-ขยะอันตราย สีเหลือง-ขยะรีไซเคิล และสีเขียว-เศษอาหาร/ขยะเปียก

 

 

ลดขยะอาหาร 50%ภายใน 10ปี ขยะอาหาร

 

           จะแยกขยะทำไม...สุดท้ายก็นำมาทิ้งรวมกัน?

           จากการตรวจสอบข้อความที่พูดถึงการแยกขยะก่อนทิ้งลงถังบนโลกออนไลน์ กว่า3.7หมื่นข้อความ ระหว่างเดือนกรกฎาคม2561 -มิถุนายน2562(ที่มาข้อมูล:บริษัทไวซ์ไซท์ ร่วมกับสสส.)

 

           พบว่า สาเหตุที่ผู้คนจะ‘แยกขยะ’มีทั้งต้องการนำไปขายต่อ43%ลดโลกร้อน/ช่วยสิ่งแวดล้อม24%แยกตามศิลปินที่ชอบ13.5%และเห็นใจคนเก็บขยะ6.5%ส่วนสาเหตุที่ผู้คนจะ‘ไม่แยกขยะ’สาเหตุอันดับ1คือ เชื่อว่าจะถูกนำไปเทรวมกันอยู่ดี64%ขี้เกียจ/มักง่าย30%ไปจนถึงไม่รู้วิธีแยก5%

 

       
          

          ขยะอาหารไม่ใช่แค่เศษอาหารเหลือทิ้งเท่านั้น บางส่วนยังเป็นแค่‘อาหารส่วนเกิน’คือทิ้งเพราะกินไม่ทัน ขายไม่ทัน หรือคิดว่าหมดอายุ ทั้งที่จริงๆ แล้วยังสามารถรับประทานได้

 

 

ลดขยะอาหาร 50%ภายใน 10ปี  ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

 

         รูปแบบการจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหารที่เหมาะสมในบริบทของสังคมไทยจากโครงการวิจัย “ขยะอาหาร แนวทางการจัดการอาหารส่วนเกินที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สสส. โดย ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ รักษาการหัวหน้าโครงการวิจัย ให้ข้อมูลว่า วิธีลดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO)ร่วมกับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)ได้ให้ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เรียงลำดับจากที่ควรทำมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด 5 ข้อ ประกอบด้วย

 

        1.ป้องกันการเกิดขยะอาหารจากห่วงโซ่อาหาร (prevention) เช่น ภาคเอกชนพัฒนาระบบการสั่งสินค้าเพื่อลดการสั่งสินค้าเหลือ ภาครัฐจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะอาหารตามปริมาณ 2.จัดสรรอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (optimization) เช่น บริจาคให้ผู้ยากไร้/พนักงาน นำมาขายราคาถูก จำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ 3.นำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ (recycle) เช่น ทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร ผลิตก๊าซชีวภาพ 4.กำจัดเพื่อนำพลังงานมาใช้ใหม่ (recovery) เผาเพื่อผลิตพลังงานความร้อน และ 5.กำจัดทิ้ง (disposal) ซึ่งเป็นวิธีที่ควรทำน้อยที่สุด แต่ประเทศไทยใช้มากที่สุด

 

         ธารทิพย์ ได้ยกตัวอย่างการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินในต่างประเทศที่น่าสนใจ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย คือฝรั่งเศส ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากถึงขนาดออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เรื่องขยะอาหาร โดยกำหนดมาตรการลดปริมาณขยะอาหารที่ต้องฝังกลบ กำหนดให้ร้านค้าที่มีขนาดมากกว่า400ตารางเมตร (ตร.ม.) ต้องร่วมมือกับสถานสงเคราะห์ที่มีการบริจาคอาหาร และกำหนดให้การบริจาคอาหารต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร หรือห้ามบริจาคอาหารเน่าบูด

 

        อีกประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แม้ไม่ได้ออกกฎหมายมาบังคับ แต่ใช้แรงจูงใจด้านภาษี เช่น รัฐแอริโซน่า ขอความร่วมมือบริษัทหรือห้างสรรพสินค้าใดบริจาคอาหารส่วนเกินแก่สถานสงเคราะห์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ พร้อมกับมีการพัฒนาเทคโนโลยี คล้าย ๆ “แอพฯจับคู่” ผู้บริจาคกับผู้ต้องการอาหารที่สามารถติดต่อขอไปรับอาหารส่วนเกินถึงที่แบบเรียลไทม์โดยที่อาหารยังสดอยู่


         

 

 

          สำหรับประเทศไทยก้าวหน้าแค่ไหน? ธารทิพย์ บอกว่า การจัดการอาหารส่วนเกินของภาคธุรกิจแบ่งออกได้3รูปแบบ แบบแรก เจ้าของโรงแรมในต่างจังหวัด นิยมเสิร์ฟอาหารเช้าด้วยบุฟเฟ่ โดยผู้จัดการโรงแรมหรือพ่อครัวจะสำรวจปริมาณลูกค้าที่เข้าพัก เพื่อคำนวณการปรุงอาหารให้พอดีกับความต้องการของลูกค้า สำหรับอาหารเหลือจะนำไปเป็นอาหารกลางวันแก่พนักงาน และขายให้กับฟาร์มสุกรในช่วงเย็นของทุกวัน

 

        แบบที่สอง โรงแรมขนาดใหญ่ใน กทม. อาหารในจานที่เสิร์ฟจะตกแต่งสวยงามหรูหรา มีการนำวัสดุมาประดับตกแต่งจานอาหาร เช่น ผักผลไม้ ทำให้วัตถุดิบเหลือเป็นขยะอาหารตามมา สำหรับอาหารที่รับประทานไม่หมดจะส่งต่อไปกำจัด หรือนำไปคัดแยกให้กับองค์กรการกุศล คือ มูลนิธิThai SOSหรือมูลนิธิรักษ์อาหาร ด้วยรถขนส่งที่เก็บความเย็นได้4องศาเซลเซียส เพื่อรักษาอาหารไม่ให้เน่าเสีย

 

        และแบบที่สาม คือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ กระบวนการจัดการขยะอาหาร เริ่มตั้งแต่การไปรับสินค้าจากฟาร์มโดยตรง ทำแพ็คเกจจิ้งสินค้าหน้าฟาร์มเพื่อลดการสูญเสียระหว่างขนส่งมายังจุดจำหน่าย รวมถึงอัดโปรโมชันลดราคาสินค้าในช่วงเย็นเมื่อมีรายการอาหารเหลือที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ในวันถัดไป ก่อนจะคัดแยกนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิรักษ์อาหาร ที่รับบริจาคอาหารสด และมูลนิธิกระจกเงาที่รับบริจาคเฉพาะอาหารแห้ง

 

        อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคของประเทศไทยที่ไม่สามารถจัดการขยะอาหารได้ดีเท่าที่ควร งานวิจัยจากทีดีอาร์ไอ สะท้อนว่า

 

        1.ผู้บริโภคขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “พฤติกรรมลดขยะ” เพราะตกเป็นเหยื่อกลยุทธ์ทางการตลาดของห้างสรรพสินค้าจูงใจให้ซื้อสินค้าโดยไม่จำเป็น เช่น กลยุทธ์ซื้อ1แถม1ทั้ง ๆ ที่ผู้บริโภครู้ดีว่า ใช้ หรือรับประทานไม่หมด แต่ยอมซื้อเพราะราคาถูก ทำให้สูญเงินเปล่าและยังสร้างขยะซึ่งเป็นการไม่ตระหนักถึงความพอดี

 

       2.ขาดแรงจูงใจให้ภาคประชาชนหรือภาคเอกชนบริจาคอาหาร หรือค่านิยมแบบผิด ๆ ที่คิดว่าอาหารบริจาคไม่สะอาดและปลอดภัย ผู้ที่รับบริจาค คือคนด้อยโอกาสทางสังคม

 

       3.ขาดการตระหนักรู้เรื่องการ “คัดแยกขยะ”4.ขาดความตระหนักในการ “นำขยะกลับมาใช้ใหม่” หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น นำไปเป็นพลังงานชีวมวล ผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และ5.ขาด “องค์กรกลาง” ในการจัดการอาหารส่วนเกิน โดยปัจจุบันมีเพียงมูลนิธิThai SOSหรือมูลนิธิรักษ์อาหารและมูลนิธิกระจกเงา เท่านั้นที่รับบริจาคอาหารส่วนเกินไปบริจาคแก่ผู้ที่ต้องการอาหาร

 

         ในระดับนโยบายควรให้เกิดมาตรการจูงใจที่เป็นรูปธรรม นั่นคือ “เพิ่มเพื่อลด” เพิ่มแรงจูงใจในรูปแบบภาษีTax Creditsหรือ ลดภาษีแก่ภาคเอกชนที่บริจาคอาหารเหลือแก่ผู้ที่ต้องการอาหาร รวมถึงควรเพิ่มกฎหมายให้เกิดการบริจาคอาหารส่วนเกินอย่างแท้จริง อีกทั้งควรเพิ่มรอบรถเก็บขยะเฉพาะขยะอาหารเพียงอย่างเดียว เพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี เป้าหมายสำคัญ คือเลิกจัดการขยะด้วยวิธีเผา และฝังกลบ เพราะคือต้นตอทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงที่สุด และ “งดเพื่อเปลี่ยน” ด้วยการงดนำขยะมากองรวมกัน และหันมาคัดแยกขยะ

 

 

ลดขยะอาหาร 50%ภายใน 10ปี ชาติวุฒิ วังวล

 

         ด้านชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เสนอแนวทางสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะอาหาร และบริหารจัดการอาหารส่วนเกินว่า ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา ด้วยแนวคิดป้องกัน โดยยึดหลักพอดี พอเพียง พอเหมาะ ในการจับจ่ายใช้สอย รับประทานต้องหมดจาน หรือสั่งอาหารตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ

 

         ข้อคิดในการบริโภคอาหาร คืออย่าซื้ออาหารตอนหิว เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากรับประทานอาหารทุกอย่างที่ตาเห็น แต่สุดท้ายรับประทานไม่หมด และไม่ซื้ออาหาร เพราะการโฆษณาชวนเชื่อด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดการเท่าทันความรู้สึกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อีกแนวคิด คือ การแบ่งปัน เพราะในสังคมไทยยังมีคนขาดแคลนอาหารอีกจำนวนมาก จึงต้องมีการขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกแก่สังคมให้เห็นความสำคัญการแบ่งปันอาหารส่วนเกิน

 

       อย่างไรก็ตาม สสส. พร้อมภาคีเครือข่ายต้องการจุดประกายความคิดเรื่องปัญหาขยะส่วนเกิน เพื่อผลักดันแนวทางการจัดการขยะอาหารไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการบริหารอาหารส่วนเกินนำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ขาดแคลนอาหาร

 

        ฉะนั้น ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้จากจุดเล็ก ๆ ด้วยการรับประทานอาหารให้หมดจานหรือไม่กินทิ้งกินขว้าง เพียงเท่านี้ถือเป็นการช่วยกันรักษาดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกใบนี้แล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ