ข่าว

รักกัน..ฟังกันให้มากขึ้น ลดป่วยซึมเศร้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอโอ๋"โพสต์คลินิกวัยรุ่นเต็มไปด้วยผู้ป่วย"โรคซึมเศร้า"ชี้เด็กที่โชคดีคือเด็กที่มีคนสักคนฟังเขาอย่างแท้จริง แนะรักกันฟังกันให้มากขึ้นลดป่วยซึมเศร้า

 

 

       เพจหมอโอ๋เลี้ยงลูกนอกบ้าน ของ“หมอโอ๋” พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสรตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟสบุ๊คใช้หัวข้อว่า..#หรือเพราะเราไม่เคยฟังกันอย่างลึกซึ้ง ใจความว่า..

 

 

#หรือเพราะเราไม่เคยฟังกันอย่างลึกซึ้ง

ข่าวการฆ่าตัวตาย กลายเป็นข่าวรายวันของสังคม

คลินิกวัยรุ่นของหมอ ก็เต็มไปด้วยวัยรุ่น “โรคซึมเศร้า”

โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งหลายครั้งเป็นจากกรรมพันธุ์ แต่หลายครั้งก็เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ที่มาของปัญหาที่พบบ่อย คือ การอยู่กับความคาดหวังสูง ปัญหาความสัมพันธ์ (ทั้งกับเพื่อนและครอบครัว) ความนับถือตัวเองที่ไม่ดี ความรู้สึกไม่มีตัวตน ขาดทักษะการจัดการกับความเครียดและอุปสรรค สื่อที่ยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ฯลฯ

แต่หนึ่งในปัญหาสำคัญ...

คือ ความรู้สึกที่ว่าไม่มีใคร “ฟัง” พวกเค้าจริงๆ

............................

ในขณะที่พ่อแม่ทุกคน ก็บอกว่าตัวเองฟังลูกอยู่เสมอ

แต่การฟังของเรา หลายครั้งมักเป็นการฟัง ”อย่างไม่ลึกซึ้ง”

การฟังที่ไม่เคยเข้าไปถึง “ความรู้สึกหรือความต้องการ”

ในกระบวนการทำห้องเรียนพ่อแม่ หมอลองคิดคำให้จำกันง่ายๆ ที่พูดถึงการฟัง 4 ระดับ

1. ฟังผ่าน “หู”การฟังที่แค่รับรู้ หรือแค่ได้ยิน

: แม่วันนี้ผมสอบตกอีกละ

“อืม อย่าไปคิดมาก”

: เหนื่อยจังเลยแม่

“สู้ๆ ลูก”

2. ฟังผ่าน “หัว”การฟังที่ใช้ “ความคิด” เพื่อการวิเคราะห์ ตัดสิน โต้แย้ง หาทางแก้ปัญหา หลายครั้งเป็นการ “ฟังเพื่อจะแนะนำสั่งสอน”

: แม่วันนี้ผมสอบตกอีกละ

“แม่บอกแล้วไง ให้เล่นเกมให้มันน้อยลง การเรียนจะได้ดีขึ้น”

“ไม่เป็นไร พ่อก็เคยสอบตก ใครๆก็เคยตกกันทั้งนั้นแหละ”

: เหนื่อยจังเลยแม่ 

“เรื่องแค่นี้เอง ถ้าแค่นี้เหนื่อย โตขึ้นไปจะไปทำอะไรยากๆ ได้ยังไงลูก”

 

3. ฟังผ่าน “ใจ”ฟังเพื่อ “เข้าใจ” ความรู้สึก ฟังด้วยการใช้หัวใจ

: แม่วันนี้ผมสอบตกอีกละ

สบตาลูก นั่งลง สัมผัสตัว “แล้วเป็นยังไงบ้างลูก เครียดมั้ย”

: เหนื่อยจังเลยแม่

“อืม หนูดูเหนื่อยจริงๆ แม่อยู่ตรงนี้นะ อยากเล่าอะไรให้แม่ฟังมั้ย”

“ขอแม่กอดหน่อย มีอะไรเล่าให้แม่ฟังได้นะ”

4. ฟังผ่านเข้าไปข้างในให้ถึง “ความต้องการ” ฟังเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน

มนุษย์เรามีความต้องการพื้นฐานเสมอ อยากได้ความรัก ความเข้าใจ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ถูกเห็นคุณค่า มีความสงบทางใจ ได้ความชื่นชม ความเป็นอิสระ ฯลฯ

การฟังอย่างลึกซึ้ง จะทำให้เราเข้าใจถึง “ความต้องการ” นั้น อะไรนะที่มันไม่ได้รับการตอบสนอง

การเข้าใจความต้องการ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

การฟังที่ดี คือ การฟังด้วยหัวใจ

ไม่ตัดสิน (เพราะสิ่งที่เราคิด อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่)ไม่สั่งสอน (เพราะตัวเราไม่ใช่ตัวเขา)ไม่แทรกถาม (เพราะนั่นคือสิ่งที่เราอยากรู้ไม่ใช่เขาอยากเล่า)ไม่แย่งซีน (เมื่อก่อนแม่ก็เคยผ่านมาแล้ว.... )

แต่เป็นการฟัง...

“เพื่อให้ได้ยิน สิ่งที่เขาไม่ได้พูดมันออกมา”

รักกัน... ฝึกฟังกันอย่างลึกซึ้งขึ้น นะคะ

#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านผู้พบว่าเด็กที่โชคดี คือเด็กที่มีคนสักคนฟังเขาอย่างแท้จริง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ