ข่าว

อย.ดึงภาคีเครือข่ายตรวจสอบโฆษณาเว่อร์!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย.ลั่นเดินหน้า ดึงภาคีเครือข่ายตรวจสอบโฆษณาเว่อร์ เพื่อคุ้มครองปชช.เผยสถิติปี62 ดำเนินคดีแล้ว 280 รายมูลค่า1.7 ล้านบ. ผลิตภัณฑ์ตกมาตรฐานอีก18 ล้านบ.

 

 

           สังคมอยู่อยากขึ้นทุกวัน การดำรงชีพจึงต้องมีสติรอบคอบ ระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่เป็นปัจจัยหลัก ที่มาในรูปแบบผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ระวังส่วนมากโฆษณาสุดเว่อร์เกินจริง

 

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. มีภารกิจหลักในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

 

 

                         อย.ดึงภาคีเครือข่ายตรวจสอบโฆษณาเว่อร์!

 

ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมกันนี้ยังส่งเรื่องต่อไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. ในการระงับ,เปรียบเทียบปรับสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ กระทรวงดีอี ระงับ/ปิดกั้นเว็บไซต์ บก.ปคบ. ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ สคบ. กรณีการเรียกร้องค่าเสียหาย การดำเนินธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด

 

นอกจากนี้ได้มีการเฝ้าระวังข่าวสาร และ การแจ้งเตือนจากต่างประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับอี - มาร์เก็ตเพลสในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายบนหน้าเว็บไซต์ของตนด้วย

 

ทั้งนี้ เผยสถิติในปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562) ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 24,482 รายการ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย 1,570 รายการ และ พบการร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทางของ อย. ทั้งหมด 1,750 เรื่อง

 

 

โดยพบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด 930 เรื่อง รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ยา 300 เรื่อง และ เครื่องสำอาง 257 เรื่อง โดยประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดถึง 451 เรื่อง และได้มีการสั่งระงับการโฆษณา ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดีค่าปรับรวม 1,724,000 ล้านบาท

 

ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,802,200 ล้านบาท

 

"อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาทางช่องทางต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ย้ำเตือนผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา ป้องกัน หรือรักษาโรคได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบการโฆษณาเกินจริงในหลายลักษณะ เช่น ลดน้ำหนักสัดส่วนได้รวดเร็ว รักษาได้สารพัดโรค เป็นยาอายุวัฒนะที่อัศจรรย์" ภสัชกรหญิงสุภัทรา  กล่าว

 

เภสัชกรหญิงสุภัทรา   กล่าวอีกว่า ส่วนผลิตภัณฑ์ยา อย. ไม่อนุญาตให้จำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ และมักพบการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคร้ายแรงได้หายขาดยอดเยี่ยม โดยอาจมีผู้แอบอ้างเป็นแพทย์ออกมาให้คำรับรองยืนยันว่าเป็นความจริง

 

สำหรับเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ก็มักพบการโฆษณาว่าช่วยรักษา ฝ้า - กระ ลดสิว ทำให้หน้าขาวใสถาวร กระชับผิว ลบริ้วรอย ขยายอก เป็นต้น

 

"หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในผลิตภัณฑ์สุขภาพสามารถสอบถามมายัง อย. ที่สายด่วน 1556 หรือตรวจสอบผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่ www.fda.moph.go.th เพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี" เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าวในที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ