ข่าว

ศาลยุติธรรมไทย เจ้าภาพประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไสลเกษ" ปธ.ศาลฎีกา พร้อมนำศาลยุติธรรมไทย เจ้าภาพประชุม ASEAN Law-Council of ASEAN Chief Justices สร้างความร่วมมือ กม. พัฒนาระบบข้อมูลศาลกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

 

 

          เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 - นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 21-23 พ.ย.นี้ ศาลยุติธรรมของประเทศไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 (41st ASEAN Law Association Governing Council Meeting)

 

ศาลยุติธรรมไทย เจ้าภาพประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียน

 

         และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 7 (7th Council of ASEAN Chief Justices Meeting) ประจำปี พ.ศ.2562 ณ ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา จ.ภูเก็ต และอาคารศาลฎีกา กรุงเทพฯ โดยการจัดประชุมนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านกฎหมาย และการพัฒนาฐานข้อมูลระบบการศาลของประเทศสมาชิกอาเซียน

 

          ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย (ASEAN Law Association (ALA), Thailand) นั้น ได้จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีิ (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2523 ตามธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคมกฎหมายอาเซียน ต ซึ่งสมาคมดังกล่าวมีขึ้นตามมติที่ประชุมการพัฒนากฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบัน มี นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย  

 

          ขณะที่การประชุมจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 พ.ย.นี้ ณ ภูเก็ต แมริออทฯ มีทั้งผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์สอนวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัย นักกฎหมายภาครัฐและเอกชน จากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม , กัมพูชา , อินโดนีเซีย , ลาว , มาเลเซีย , เมียนมาร์ , ฟิลิปปินส์ , สิงคโปร์ , เวียดนาม และประเทศไทย ร่วมหารือกิจกรรมทางวิชาการและความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ คณะกรรมาธิการถาวรข้อสนเทศทางกฎหมาย (Legal Information) , คณะกรรมาธิการถาวรการศึกษากฎหมาย (Legal Education) , คณะกรรมาธิการถาวรด้านการระงับข้อพิพาท (Alternative Dispute Resolution) , คณะกรรมาธิการถาวรด้านกฎหมายธุรกิจ (Business Law) , คณะกรรมาธิการถาวรด้านกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) , คณะกรรมาธิการถาวรด้านวิชาชีพกฎหมาย (Legal Profession) , คณะทำงานศึกษาด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment)  โดยที่ผ่านมาสมาคมดังกล่าว ก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักกฎหมายในประเทศสมาชิก       

 

ศาลยุติธรรมไทย เจ้าภาพประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียน

 

          ส่วนการประชุม สภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน นั้น จะประชุมในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. ณ ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช จ.ภูเก็ต และวันเสาร์ที่  23  พ.ย.ที่จะมาประชุม ณ ศาลฎีกา กรุงเทพฯ โดย สภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน เป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองสถานะภายใต้กฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางการศาล และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับงานศาลยุติธรรม

 

          ปัจจุบันมีคณะทำงานร่วม ที่จัดตั้งโดยสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนรวม 7 คณะทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา มีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลระบบการศาลของประเทศสมาชิกอาเซียน , การจัดการฝึกอบรมร่วมกันของข้าราชการตุลาการของประเทศสมาชิก , การศึกษาแนวทางความร่วมมือทางการศาลในส่วนที่เป็นกระบวนพิจารณาคดีซึ่งไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก  , การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการคดี และการให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ