ข่าว

ทร.แย้งตุลาการฯคืนสิทธิซีพีทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตุลาการแถลงคดีฯ เสนอให้กลุ่มซีพีฯได้ไปต่อประมูลเมืองการบินสนามบินอู่ตะเภา ด้าน ทร.แย้งคืนสิทธิซีพีจะทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เอาเงินชดเชยความผิดได้

     ตุลาการแถลงคดีศาลปกครองสูงสุด เสนอให้กลุ่มซีพีฯได้ไปต่อประมูลเมืองการบินสนามบินอู่ตะเภา ชี้กระบวนยื่นข้อเสนอไม่ได้ยึดถือการขน ลำเลียงเอกสาร ผ่านจุดลงทะเบียน 15.00 น. ขณะที่ ทร.แย้ง หากคืนสิทธิซีพี จะทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสร้างค่านิยมใหม่ เอาเงินชดเชยความผิดได้

     7 พฤศจิกายน 2562   องค์คณะศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่างกลุ่ม กิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ผู้ฟ้องคดีกับคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการยื่นข้อเสนอประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท

       คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดี บางรายการ คือข้อเสนอตัวจริงกล่องที่ 6 ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจและตัวจริงกล่องที่ 9 ข้อเสนอ ด้านราคาในการยื่นข้อเสนอในโครงการตามหนังสือที่ กพอ.ทร.182/2562 ลว.10 เม.ย. 2562 โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวเกินกำหนดเวลา 15.00 น. เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

    ทั้งนี้คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากการให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอ ให้ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่ายึดถือเวลาเพียง 9 นาที

        ในวันนี้ศาลให้ผู้แทนทั้งสองฝ่ายแถลงด้วยวาจา โดยฝ่ายผู้ฟ้องคดี มีน.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา เป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันมิตร ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า จะขอเน้นย้ำใน 3 ประเด็นหลัก

     1.เรื่องของสถานที่ยื่นซองข้อเสนอ ใน RFP ข้อ31 (1) กำหนดว่าห้องกองบัญชาการกองทัพเรือ ไม่ใช่จุดลงทะเบียนตามที่กล่าวอ้าง

        2.กลุ่มบริษัทมีเอกสารยื่นจำนวนมาก มีลำเลียงของเอกชนทุกรายและเมื่อได้เรียกไปยื่นมีเอกสารครบถ้วนรอไว้พร้อมแล้ว ได้ตรวจเอกสารไว้หมดแล้ว รวมถึงกล่อง6และกล่อง9 และรับชำระค่าธรรมเนียมไว้แล้ว ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับพิจารณา 2 กล่องต่อไป

      3.หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน ไม่ได้ทำให้การแข่งขันยื่นข้อเสนอมีความได้เปรียบ เพราะไม่มีใครรู้ข้อเสนอรายอื่น ทางตรงกันข้ามจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐหากเปิดข้อเสนอครบถ้วน

      ด้านฝ่ายคณะกรรมการคัดเลือกผู้ถูกฟ้องคดีมี พลเรือตรีเกริกไชย วจนานนท์ เลขาคณะกรรมการคัดเลือก แถลงต่อศาลด้วยวาจามีประเด็นเน้นย้ำ กรณีห้องรับรองใน RFP ในกองทัพเรือกำหนดไว้ว่าส่วนไหนของห้อง มีนาฬิกา 2 เรือน เป็นเชิงสัญลักษณ์บอกเวลา 09.00-15.00 น. จุดอื่นห้องพักคอยไม่มีนาฬิกา

      ส่วนการสงวนสิทธิ์จะใช้เฉพาะซองศูนย์เรื่องเวลากำหนดไว้ใน RFP ถ้าไม่ทำตามก็ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด RFP มี 6 ประเด็นอยากจะเน้นย้ำคดีนี้เป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศชาติ กองทัพเรือทำวิธีปฎิบัตินี้มาอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้ใช้แนวทางเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ฟ้องก็มีสายสัมพันธ์ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงก็ทำสำเร็จก่อน ก็ได้นำ RFP มาใช้ในโครงการอู่ตะเภา แต่กลับประสบปัญหาเกิดจากอะไร

  ข้อเท็จจริงย่อมเป็นข้อเท็จจริงเอกสารกล่องที่ 6 กับกล่อง 9 มาเกินเวลา ผู้ฟ้องคดีจำนนต่อหลักฐาน 15.09 น. เกินเวลา RFP ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น มีเวลากำหนดชัดเจน ได้ตั้งนาฬิกา 2 เรือน ไม่ให้ผิดพลาด เพราะเวลาเป็นสาระสำคัญ

        ทำไมโครงการนี้ถึงไม่ปฎิบัติได้ ก่อนหน้านี้มีคดีประมูลโครงการของกรมทางหลวงชนบทยื่นช้า 39 วินาที เคยมีการตัดสินไปแล้ว ถ้าโครงการนี้พลิกเป็นให้รับแล้ว จะเป็นยังไงต่อการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

         ถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ทั้งที่ก่อนก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในดคีนี้ ให้บริษัทธนโฮลดิ้งได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้”

       ข้อเท็จจริงโครงการนี้ขยายเวลาแค่ครั้งเดียวคือวันยื่นซองประมูลวันที่ 28 ก.พ. 2562 เป็นวันที่ 21 มี.ค. 2562 เพราะเอกชนทั้ง 42 รายไม่พร้อมจะยื่นข้อเสนอ

      ยังให้ค่านิยมไม่ถูกต้องถ้าผู้ฟ้องคดีสามารถเข้ามาแล้วให้ประโยชน์แก่รัฐสูงสุด เพราะยังไม่เปิดราคาไม่สามารถพิสูจน์ได้ รัฐได้ประโยชน์คือความถูกต้อง

         ทั้ง 2 รายคือกลุ่ม BBS และกลุ่มแกรนด์ได้ยื่นหนังสือทักท้วงต่อคณะกรรมการคัดเลือกแนบมาตามคำกล่าวแก้อุทธรณ์แล้ว โดยยืนยันความถูกต้องของกระบวนการคัดเลือกและคัดค้านให้ผู้ฟ้องคดีเข้ามาแข่งขันเพราะผิด RFP

         ซึ่งทั้ง 2 รายแรกยื่นเอกสารอยู่ในเวลาทั้ง 2 ครั้ง ส่วนผู้ฟ้องคดียื่น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มาพร้อมซองศูนย์ ครั้งที่ 2 มา 8 กล่อง และครั้งที่ 3 มาทั้งหมดแต่ขาดซองราคาและแผนธุรกิจ ผู้ฟ้องคดีมาประเมินคู่ต่อสู้และเปลี่ยนแปลงข้อเสนอในวินาทีก่อนยื่นซอง แต่ด้วยการจราจรติดขัดทำให้มาไม่ทัน เป็นข้อสังเกตที่สังคมเฝ้ามอง ถ้าศาลรับไว้ การประมูลต่อไปจะไม่มีการยึดเวลา มีประเมินคู่ต่อสู้ สังคมจะอยู่กันอย่างไร การให้ความเมตตามองแล้วผู้ฟ้องคดีตั้งใจมายื่นแต่ติดปัญหาการจราจร แต่รายอื่นฝ่ามาได้

       "ขอความกรุณาต่อศาลดำรงความถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรมให้ประเทศชาติ คดีนี้สำคัญและเกี่ยวข้องกับระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เพราะรัฐมุ่งหวังให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 วงเงินลงทุนสูงสุด 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเช้าคณะกรรมการคัดเลือกโครงการได้ประชุมมีมติเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดนำคดีนึ้เข้าสู่ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด แต่ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดว่าจะเห็นอย่างไร "

        หลังเสร็จสิ้นคำแถลงด้วยวาจาของทั้งสองฝ่าย ภายหลังได้มีการแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี โดยคำแถลงคดีไม่ผู้กพันกับการตัดสินขององค์คณะตุลาการในคดี

         โดยนายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงคดีว่า จากการพิจารณาคดีในประเด็นสำคัญของการยื่นเอกสารการประมูลโครงการซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในฐานะผู้ถูกฟ้องในคดีได้ตัดสิทธิ์การประมูลของผู้ถูกฟ้อง

        เนื่องจากยื่นเอกสารการประมูลไม่ทันในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 มี.ค 2562 และได้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2562 พ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2561 พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 เอกสารตามการประกาศของคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เรื่องหลักเกณฑ์การประมูลโครงการ หรือ RFP ในวันที่ 16 พ.ย. 2561 รวมทั้งเอกสารแก้ไขเพิ่มเติมที่ออกโดยกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการรวมทั้งการให้ข้อมูลและการชี้แจงของทั้งสองฝ่ายที่ได้มีการนำเสนอในขั้นตอนศาลปกครองชั้นต้นแล้วมีข้อเสนอว่า

      การดำเนินการโครงการนี้เป็นการยื่นข้อเสนอโครงการใหญ่มีเอกสารจำนวนมาก ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการที่ชัดเจนตรวจรับเอกสารซึ่งภาครัฐในฐานะผู้ประมูลจะเป็นผู้กำหนดให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชนผู้เข้าประมูลทุกราย

          ซึ่งในข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการยื่นลงทะเบียนก่อน จากนั้นให้มีนำเอกสารต้นฉบับไปไว้ที่ห้องรับรองต่างประเทศและกองทัพเรือให้เอกชนจัดการเอกสารได้อย่างอิสระ มีเพิ่มและลดในบางรายการ ให้ผู้ประมูลทยอยนำเอกสารมายื่นกับคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งรายแรกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ยื่นเวลา 15.00 น. ตามด้วยกลุ่มแกรนด์คอซอร์เตี้ยมและกลุ่มธนโฮลดิ้งเป็นกลุ่มสุดท้าย

      สภาพของการยื่นเอกสารเป็นการทยอยนำเอกสารเข้าเป็นระยะๆโดยมีการรับรองเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีการท้วงติงในขณะนั้น

        ส่วนภาพนิ่งที่ระบุว่าขนเอกสารเข้ามาเวลา 15.09 น.ก็ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงว่าจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลแต่อย่างไร

         ขณะที่ข้อทักท้วงว่าการยื่นเอกสารล่าช้าทำให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับผู้ยื่นประมูลอีก 2 ราย ก็ไม่สามารถอ้างได้เนื่องจากผู้ที่ยื่นเอกสารรายที่ 3 ไม่อาจล่วงรู้รายละเอียดเทคนิคและราคาของรายอื่นๆได้เช่นกันเนื่องจากเอกสารทั้งหมดถูกเก็บไว้ในห้อง นาวีคลับรวมทั้งเห็นว่าการพิจารณาเอกสารที่มีการยื่นเข้ามาแข่งขันทุกรายอย่างเป็นธรรมจะทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการแข่งขันมากที่สุด

         กล่าวโดยสรุปจึงมีความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดควรมีการเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ไม่รับเอกสารการประมูลของผู้ฟ้องคดี และกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางศาลปกครองสูงสุดจะนัดพิจารณาคดีนี้ต่อไป โดยยังไม่กำหนดวัน

        ด้านพลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการ คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่ม กิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ได้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด ได้รับพิจารณาตามคดีหมายเลขดำที่ อ. 381/2562 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและ พยานหลักฐาน รวมทั้งมอบอำนาจให้สำนักอัยการสูงสุดดำเนินการจัดทำคำแก้อุทธรณ์ และได้ส่งคำแก้อุทธรณ์ พร้อมเอกสารและหลักฐานไปยังศาลปกครองสูงสุดแล้วน้ัน

        ในวันนี้ผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจากสพนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมรับฟังการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด โดยผู้แทน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลเพื่อเป็นการสรุปข้อเท็จจริงตามคำแก้อุทธรณ์ที่ได้จัดส่งให้ศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้หากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นประการใด คณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมปฏิบัติตามคำพิพากษา

      อนึ่ง การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของโครงการฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด และถือเป็นกระบวนการทำงานแบบคู่ขนานในระหว่างการรอผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ