ข่าว

ประสบการณ์ย้ายสัตว์เลี้ยงไปต่างประเทศที่คนรักสัตว์ควรรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประสบการณ์สำหรับคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีแพลนนำหมา แมว ของตัวเองย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งโพสต์นี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มคนดังกล่าว

ประสบการณ์สำหรับคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีแพลนนำหมา แมว ของตัวเองย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งโพสต์นี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งหญิงสาวท่านหนึ่งได้เล่า จากการที่เธอพาสัตว์เลี้ยงหมา แมวไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และอธิบายขั้นตอนวิธีการไว้อย่างละเอียด แถมเข้าใจง่ายด้วย

 

เรื่องนี้ถูกเล่าผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก Gluta Story Club จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‎Nattaphorn Albrecht ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

 

สวัสดีค่ะทุกคน

ตอนนี้เราย้ายมาอยู่ที่อเมริกาได้เกือบ 3 เดือนแล้ว เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ นำน้องหมาและน้องแมวจากเมืองไทยมาที่อเมริกาค่ะ อาจจะยาวนิดนึงแต่อยากเขียนไว้เผื่อบางท่านมีข้อสงสัยและต้องการหาข้อมูล เผื่อจะเป็น reference ได้บ้าง เพราะตอนที่เราจะขนเด็กๆมา เราหาข้อมูลไม่ค่อยเจอและสับสน งง งวยมาก กังวลไปหมดเพราะกลัวเด็กๆไปติด quarantine แต่พอผ่านมาแล้วเรื่องไม่ยากอย่างที่เราคิด เราเลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ค่ะ โดยจะแยกเป็นขั้นตอนไปนะคะ

 

1. เตรียมตัว

 

เนื่องจากสามีเราย้ายมาก่อนเกือบปี เราค่อยตามมาเพราะติดเรื่องงาน เรื่องย้ายบ้านและที่สำคัญเรื่องย้ายเด็กๆมา เลยตามมาช้านิดนึง เราหาข้อมูลตามอินเตอร์เน็ตโทรไปสอบถาม เอเจ้นท์ และเกือบใช้เอเจ้นท์แล้วด้วย เพราะของเราน้องแมว 3 ตัว และน้องหมา 2 ตัวและเราบินกลับมาคนเดียว พร้อมกับข้าวของที่ย้ายบ้านมา เลยสติแตกเล็กน้อยค่ะ

 

พอเราทราบขั้นตอนเบื้องต้น เราเป็นห่วงเรื่องการเดินทางไกล และเรื่องกรงของน้องๆมาก ที่ร้านขายสัตว์เลี้ยงในไทยก็ไม่ค่อยมีกรงมาตราฐานเยอะ ต้องตระเวนหา เอายี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก IATA ว่าแข็งแรงพอ และเหมาะสมกับขนาดตัวน้อง เรากลัวเด็กอึดอัด เลยซื้อใหญ่กว่าข้อกำหนด 2 ไซซ์ และซื้อเบาะปูที่นอนให้ในตัวแต่ละกรง ผลคือ กระเป๋าฉีกตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลยค่ะ 55555

 

**หมายเหตุ : กรงที่เหมาะสมคือ น้องต้องสามารถยืนขึ้นและหูไม่ชนเพดาน สามารถกลับตัวได้ และมีที่ให้น้ำและอาหารเล็กน้อยข้างในกรง กรงต้องแข็งแรงและน้องไม่สามารถหลุดออกมาได้นะคะ เจ้าหน้าที่ที่สนามบินจะช่วยเราเช็คอีกที ตอนเราเช็คอินค่ะ แต่เราล็อกแน่นหนาจากที่บ้านไปเลย

 

 

2. ตั๋วเครื่องบิน และสนามบิน

 

ตอนแรกที่จะจองตั๋ว ทุกสายการบินบอกเราว่า เราสามารถนำเด็กๆไปด้วยแค่ 2 ตัวต่อ 1 ผู้โดยสารเท่านั้น และลำนึงจำกัดได้เพียงแค่ 5 ตัว และเราต้องจองต่อเมื่อเราจองตั๋วแล้ว กลายเป็นว่า เราไม่สามารถจองตั๋วผ่านทางเว็บได้เลย ต้องโทรไปจองกับทางพนักงาน และปัญหาของเราคือ เรามีน้องมาด้วย 5 ตัว เลยตัดสินใจจะให้น้องแมวอีกสามตัว โหลดไปแบบ คาร์โก้ ซึ่งต้องให้เอเจ้นท์ดำเนินการ เราทำเองไม่ได้ (ณ จุดนี้แหละค่ะที่เรางงมาก เนื่องจากเด็กๆจะไปไฟท์เดียวกับเราก็ไม่ได้ สายการบินก็ไม่แน่ใจว่าเอเจ้นท์จะบุ๊คให้แบบไหน เอเจ้นท์จองตั๋วให้เราได้แค่ 7-15 วันก่อนเดินทาง ฯลฯ ) ซึ่งกลายเป็นว่า การจองตั๋วของเรานั้นยากมากที่จะทำให้ทุกตัวมาถึงที่หมายที่อเมริกาให้พร้อมๆกัน

 

จนเรามาดูสายการบิน EVA Air ซึ่งพนักงานทุกคนที่เราโทรไปถาม บริการดีมากทุกครั้งและสามารถบอกกล่าวรายละเอียด ขั้นตอน ให้คำแนะนำ พร้อมทั้งส่งเอกสารทุกอย่างมาให้ทางอีเมล์ จากที่เราว่าเราหาข้อมูลแน่นแล้ว เลยทำให้เรามั่นใจขึ้นมาอีก และที่สำคัญ ทางสายการบินจำกัดในแต่ละไฟท์ว่า ให้สัตว์เลี้ยงโหลดใต้ท้องเครื่องได้ไม่เกิน 5 ตัวต่อไฟท์…..แต่ไม่ได้กำหนดว่ากี่ตัวต่อผู้โดยสาร เราเกือบน้ำตาไหล (อันนี้ไม่ได้ดราม่านะคะ เพราะดีใจมากจริงๆที่จะได้ไปพร้อมกันหมด 555) เราเลยรีบจองตั๋วให้เด็กๆกับของเราเอง โดยจอง ณ ขณะที่เจ้าหน้าที่แจ้งเลยค่ะ พอได้ booking number กลับมา เจ้าหน้าที่จะถามรายละเอียดเด็กๆและจองตั๋วให้เลย ถ้าเรามัวแต่รอ เราอาจจะพลาด ต้องเปลี่ยนตั๋วไปมาอีก

 

เรื่องสนามบินที่จะมาลงสำคัญมากเลยค่ะ ด่านแรกเลยต้องเช็คก่อนว่า เราจะเอาเด็กๆไปลงที่สนามบินไหนได้บ้าง พอดีเราอยู่ Ohio แต่เด็กๆไม่สามารถมาลงที่นี้ได้ ต้องไปลงสนามบินที่กำหนดไว้เท่านั้น เราเลยเลือก Chicago แทน ขับรถ 6 ชั่วโมง แต่ลดความยุ่งยากไปได้เยอะ ที่ดีใจมากเวลารู้ว่าได้บินมาหมดทุกตัวพร้อมกัน เพราะถ้าแมวอีกสามตัวมาอีกไฟท์ เราต้องค้างคืน แล้วจะทำไงเพราะน้องหมาออกมาแล้ว วุ่นวายแน่ๆค่ะ

 

** เนื่องจากเราไปเปลี่ยนเครื่องที่ไต้หวัน เราต้องกรอกใบขอนำสัตว์ผ่านเข้าเขตแดน ถึงแม้ว่าจะ transit ก็ตามค่ะ แต่ง่ายมากเลย เพราะกรอกแบบฟอร์ม ส่งไปทางอีเมล์ ประมาณ 1-3 วัน เจ้าหน้าที่จะส่งสำเนาที่ประทับตรามาให้ว่าอนุมัติ เราต้องปริ้นใบนี้เก็บไว้ เพื่อไปยื่นที่เค้าเตอร์เช็คอินค่ะ

 

 

 

3. การตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีน

 

ปรกติแต่ละประเทศข้อกำหนดจะแตกต่างกัน ดีหน่อยที่ของอเมริกา กำหนดแค่เรื่องพิษสุนัขบ้า ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนทางยุโรป (เด็กๆต้องฉีดวัคซีนอย่างต่ำ 30 วันก่อนการเดินทาง) แต่เราขอคุณหมดให้ฉีดวัคซีน รวมอื่นๆ รวมไปถึงถ่ายพยาธิและป้องกันเห็บหมัดด้วย ในสมุดวัคซีนของน้องๆ คุณหมอต้องลงวันที่ที่ต้องฉีดวัคซีนครั้งหน้าด้วยนะคะ สำคัญมาก

 

ที่เราให้คุณหมอช่วยกรอกและเซ็นเพิ่มเติม คือใบรับรองว่า เด็กๆผ่านการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้ว โดยเป็นฟอร์มของ CDC เพราะเรากลัวว่าในสมุดวัคซีนที่เป็นภาษาไทยบ้างอังกฤษบ้าง เดี๋ยวจะมีปัญหาค่ะ ซึ่งคุณหมอน่ารักมาก กรอกรายละเอียด เซ็นและประทับตรามาให้เรียบร้อย

 

 

ประสบการณ์ย้ายสัตว์เลี้ยงไปต่างประเทศที่คนรักสัตว์ควรรู้

 

4. การขอใบส่งออก ณ กรมปศุสัตว์ที่สุวรรณภูมิ

 

ก่อนการเดินทาง 3-7 วัน เราต้องไปที่ด่านกักกันสัตว์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำเด็กไปตรวจร่างกาย ถ่ายรูป และเพื่อตรวจเอกสาร (ตั๋วเครื่องบิน ใบวัคซีน) และทำการถ่ายรูปพร้อมเจ้าของ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะออกไป export license ให้กับเราค่ะ

 

ตอนไปถึงเนื่องจากน้องหมาตื่นคน อุณหภูมิขึ้นสูงเกินกำหนด เจ้าหน้าที่เลยให้รอในห้องแอร์ ให้ดื่มน้ำเย็น พอสักชั่วโมง อุณหภูมิลดลงได้ระดับมาตรฐานเป๊ะ เลยไม่ต้องตรวจเลือดเพิ่มหรือกลับมาใหม่ค่ะ ใจหายใจคว่ำมาก แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนใจดี และสุภาพมากๆถึงมากที่สุด เราประทับใจมากเลยค่ะ เพราะตอนแรกคิดว่าต้องรอนานและต้องยืดเยื้อแน่ๆ แต่กลายเป็นว่าเป็นหน่วยงานราชการที่ประทับใจมากที่สุดในตอนนี้เลย

 

** ใบ export license มีอายุไม่เกิน 7 (หรือ 10 วันนี่แหละค่ะถ้าจำไม่ผิด) ตอนเราโทรไปถามเจ้าหน้าที่แนะนำเลยค่ะว่าควรไปวันไหน

 

 

 

5.วันเดินทาง

 

เราเตรียมให้เด็กๆ กินอาหารที่เค้าชอบในช่วงเช้าตรู่ เพื่อให้เค้าอิ่มท้องและขับถ่ายให้เรียบร้อย ระหว่างนี้เราพิมพ์ข้อความเป็นตัวใหญ่ๆกระดาษ A4 แปะบนกรงแต่ละตัว ว่าแต่ละตัวมีนิสัยยังไงบ้าง (เช่น หนูขี้กลัว ตื่นคน พี่ๆระวังนิ้วนะคะ หรือหนูแหกกรงเก่งมากเลยค่ะ) เผื่อเค้าต้องนำน้องๆออกมาจากกรง และเตรียมอาหารเปียกใส่ถุงซิปล็อกแปะด้านบนกรง เผื่อต้องให้อาหารค่ะ

 

มาถึงสนามบิน ผู้คนแตกตื่นมาก เพราะกรงใหญ่ขวางทางชาวบ้านทุกคน ได้รับการบริการเหมือนบิน First Class เพราะต้องเกณฑ์พนักงานมาทำเรื่องเราคนเดียว 5555 ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสารทั้งหมด และช่วยดูว่ากรงเราแน่นหนาพอหรือยัง เด็กๆที่สนามบินก็วิ่งเข้ามาดูที่กรงใหญ่ จนเราต้องให้ญาติไปคอยคุ้มน้องหมาเพราะเรากลัวเค้าแหย่นิ้วเข้าไปในกรงแล้วจะเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญค่ะ 55

 

ประสบการณ์ย้ายสัตว์เลี้ยงไปต่างประเทศที่คนรักสัตว์ควรรู้

 

 

ณ จุดนี้เราต้องชำระเงินค่าตั๋วเด็กๆ เราแนะนำว่าไปก่อนเวลาบินประมาณ 4 ชม. นะคะ เพราะขนาดเอกสารเราพร้อมหมด เจ้าหน้าที่ต้องช่วยดูเพราะเยอะค่ะ เราก็กลัวจะผิดพลาดด้วย หากเกิดอะไรขึ้นจะได้วิ่งไปหามาเปลี่ยนหรือมาเพิ่มเติมได้ทันค่ะ

 

พอได้เวลา เจ้าหน้าที่จะมาเข็นรถเข็น เพื่อนำผ่านเครื่องสแกน และให้เราส่งน้องจนลับตา หลังจากนั้นเราก็วิ่งไปขึ้นเครื่องเลยค่ะ เผื่อจะได้เห็นตอนเค้านำเด็กๆผ่านขึ้นเครื่อง

 

6.มาถึงสนามบินในอเมริกา

 

พอเราผ่าน ต.ม. ถึงแม้เราจะถือฟอร์ม custom clearance แล้วระบุว่ามีสัตว์มาด้วย แต่แจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยก็ได้นะคะ พอเราผ่านออกมา ตรงสายพานกระเป๋าจะมีพนักงานสายการบินอยู่ เราก็เข้าไปถาม เจ้าหน้าที่จะหา porter ที่จะช่วยเราเข็นทั้งกระเป๋าและกรงห้ากรงออกมา ผ่านด่านตรวจข้างนอก เจ้าหน้าที่รับเอกสารไปดูและก็ทักทายน้องหมาเล็กน้อยแล้วก็ให้เราผ่านได้ค่ะ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที มาเจอสามีข้างนอก สามีต้องเช่ารถตู้แบบขนของมารับ เพราะต้องขับออกมาซักพักเพื่อหาที่ให้เด็กๆทำธุระค่ะ

 

ตอนนี้เด็กๆปรับตัวกันได้ดีมาก จนเรามองเค้าแต่ละครั้งเราก็ตื้นตันในความมุมานะของตนเอง 555 เพราะถ้าพวกเค้ามาด้วยไม่ได้ เราก็คงไม่ย้ายมาที่นี้ บางตัวเราเลี้ยงมาตั้งแต่ยังไม่ลืมตา ป้อนนมทุกสี่ ช.ม. หิ้วใส่กระเป๋าไปทำงานด้วย ประหนึ่งแม่ลูกอ่อนก็มิปาน ทุกวันนี้คุณภาพชีวิตน้องหมาก็ดีขึ้นมาก เพราะแม่ไม่ต้องรถติด มีเวลาพาไปเดินเล่น อากาศดี ธรรมชาติดี ทุกวันหยุดเราก็ไปหาที่ใหม่ๆที่พาเค้าไปด้วยได้ อาหารการกิน ของเล่น ขนมมีหลากหลายแบบให้เลือก เสียอย่างเดียว เป็นหมาจอมดื้อนี่ละค่ะ แก้ไม่หายซักที
น้องแมวก็เพลินกับการตากแดดเฝ้ากระรอก เรารอวันที่เค้าจะได้เห็นหิมะเป็นครั้งแรกอยู่ค่ะ จะดูซิว่าจะทำไง

 

ส่วนเพื่อนๆ พี่ๆทุกท่าน หากใครมีคำถามหรือข้อสงสัย ถามเราได้ตลอดนะคะ เราอยากช่วยค่ะ ก่อนเราจะมา เราหาข้อมูลไปมาแล้วสับสน กังวลจนจะเป็นโรคประสาท เลยอยากให้ทุกคนที่จะพาน้องหมามา มี shortcut เล็กน้อยจะได้ไม่ต้องกังวลค่ะ

 

สุดท้ายนี่ขอฝากรูปคู่กับแสบทั้ง 5 ไว้ ในอ้อมใจทุกคนด้วยนะคะ

 

 

ประสบการณ์ย้ายสัตว์เลี้ยงไปต่างประเทศที่คนรักสัตว์ควรรู้

 

 

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : ‎Nattaphorn Albrecht‎ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ