ข่าว

กทม.พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เสริมแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยาจาก 2.50 เมตร เป็น 3.00 เมตร - เตรียมสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งถาวร

 

 

          วันที่ 3 พ.ย. 62 - นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีหลายภาคส่วนเตือนผลกระทบภาวะโลกร้อนส่งผลระดับน้ำทะเลสูง แนะ กทม.เตรียมพร้อมรับมือนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ทำการศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JBIC) ทำการศึกษาประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มศึกษาเมื่อปี 51 แล้วเสร็จ ปี 52

 

กทม.พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

 

          โดยผลการศึกษาประเมินว่า ในปี พ.ศ.2593 หรือปี ค.ศ. 2050 ค่าระดับน้ำทะเลจะมีแนวโน้มจะสูงขึ้น 12- 29 ซม. ภายหลังจากได้รับผลการศึกษา กรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด อีกทั้งหลังจากเกิดมหาอุทกภัยปี 54 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสริมความสูงแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากเดิมที่ความสูงเฉลี่ย 2.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นความสูงเฉลี่ย 3.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อป้องกันน้ำจากทะเลและจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้เตรียมรับมือในการเร่งระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลได้โดยเร็ว ที่สำคัญได้แก่การปรับปรุงประสิทธิภาพคลองสายหลักและสถานีสูบน้ำ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ตามแผน 9 แห่ง ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง ในปี 63 จะก่อสร้างเพิ่มอีก 3 แห่ง และปี 64 จะก่อสร้างเพิ่มอีก 1 แห่ง        

 

กทม.พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

 

          นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ยังร่วมมือกับ องค์การร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดทำแผนแม่บทรับมือการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก(Mitigation) และจัดทำมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (Adaptation) โดยการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง เป็นหนึ่งในมาตรการ Adaptation ของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันสำนักวางผังและพัฒนาเมืองอยู่ระหว่างจัดทำแผนที่พื้นฐานของกรุงเทพมหานครที่จะมีค่าระดับอย่างละเอียดด้วยเทคโนโลยีไลดาห์ โดยแผนที่นี้จะสามารถเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่จะจัดทำในในลำดับต่อไป   

 

          สำหรับมาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กรุงเทพมหานครได้จ้างที่ปรึกษาศึกษา ออกแบบ เพื่อก่อสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถาวรร่วมกับชุมชนในพื้นที่ปัจจุบันรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว และมีกำหนดนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในเดือนธ.ค.62 นี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 64

 

          ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครขอขอบคุณ ผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่างๆที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงและตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครมีความตั้งใจและมุ่งมั่นดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันภัยต่างๆ ให้ประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย อย่างยั่งยืน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ