ข่าว

ไบโอไทย เตือน อ.เจษฎา ผู้บริหารไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไบโอไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนนักวิชาการคนดัง ผู้บริหารไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง

 

               วันที่ 14 ต.ค.2562 มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก BIOTHAI ไปยัง รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กรณีที่นายอนุทิน สนับสนุนให้มีการแบนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด โดยเฟซบุ๊กดังกล่าว ระบุว่า 

 

               "ไบโอไทยเตือนเจษฎา ผู้บริหารไม่จำเป็นต้อง “รู้ทุกเรื่อง” ขอให้มีจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ประชาชน มีวิจารณญาณ และเลือกที่ปรึกษาเก่งๆ ชี้ควรไปสำรวจตัวเองว่าเป็นประเภทรู้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วเลือกใช้ข้อมูลเฉพาะส่วนที่สนับสนุนบริษัทสารเคมีหรือไม่ ?

 

               ตามที่ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับกรณีที่นายอนุทินสนับสนุนให้มีการแบนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด โดยบอกว่า “คุณอนุทินและรัฐมนตรีในสังกัด โดนหลอกให้เป็นเครื่องมือในการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด โดยที่คุณอนุทินได้รับข้อมูลความรู้ที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง” นั้น

 

               เราคิดว่าผู้บริหารแบบคุณอนุทิน หรือคุณมนัญญา นั้นไม่จำเป็นต้อง “รู้ทุกเรื่อง” เพราะสามารถเลือกรับคำปรึกษาจากนักวิชาการเก่งๆแบบ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ ส่วนคุณมนัญญา รมช.เกษตรฯนั้น ทราบว่ามีการแต่งตั้งอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรถึง 2 คนมาเป็นที่ปรึกษา 

 

               อย่าลืมว่ากรณีการเสนอแบน/จำกัดการใช้ทั้ง 3 สารนั้น มิได้เริ่มจากคุณอนุทิน แต่เป็นมติที่มีมาตั้งแต่สมัย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธรแล้ว ทั้งยังเป็นการเห็นพ้องต้องกันโดยองค์กรด้านสุขภาพและอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

 

 

               กรณีพาราควอตนั้น มีประเทศต่างๆแบนและประกาศแบนแล้วถึง 58 ประเทศ ส่วนคลอร์ไพริฟอสแบนแล้ว 16 ประเทศ แต่หลังจาก EFSA แถลงล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในปีหน้าจำนวนประเทศที่ยกเลิกการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรเป็นประเทศสุดท้ายที่แบนสารพิษร้ายแรงดังกล่าว  ส่วนกรณีไกลโฟเซตหลังมีคำพิพากษา3-4 คดี ให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท และมีคดีขึ้นสู่ศาลกว่า 18,400 คดีแล้ว ประเทศต่างๆ ก็เริ่มทยอยแบนกันมากขึ้น

 

               ไบโอไทยเห็นว่า ปัญหาเรื่องการแบนสารพิษที่เป็นปัญหาหมักหมมมานาน นักวิชาการและระบบราชการนั่นแหละที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา  โดยเฉพาะนักวิชาการบางคนที่รู้แบบ “ครึ่งๆ กลางๆ”  เช่น กรณีที่บอกว่าไกลโฟเซต ปลอดภัยพอๆ กับเกลือแกง เพราะดูแค่พิษเฉียบพลัน ไม่เข้าใจเรื่องพิษเรื้อรังซึ่งซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง

 

               บางทีการรู้ครึ่งๆ กลางๆ นั้นก็น่าตั้งคำถามว่าไม่รู้จริงๆ หรือจงใจเลือกรับข้อมูลจากฝ่ายบริษัทเคมีเกษตรแทนที่จะเลือกรับจากฝ่ายที่ปกป้องสุขภาพของประชาชนโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

               ไบโอไทยเคยดีเบทกับ อ.เจษฎา ในกรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรม เคยนึกแปลกใจว่าทำไมข้อมูลจากมุม อ.เจษฎ์ ถึงมาจากข้อมูลที่ผลิตจากฝ่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ เมื่อดีเบทกันเสร็จอ.เจษฎ์มอบหนังสือให้เราเล่มหนึ่ง พลิกไปดูหน้าแรกๆแล้วตกใจ เมื่อพบว่าหนังสือเล่มที่แกรวบรวมเรียบเรียงเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น สนับสนุนข้อมูลในการเขียนจาก CropLife Asia และพิมพ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่โดยเงินทุนจากองค์กรดังกล่าว

 

               อยากรู้ว่าสมาชิกของ CropLife Asia มีบริษัทไหนบ้างให้คลิกไปที่นี่ http://www.croplifeasia.org/about-us/member-companies/ จะพบว่า ที่จริงก็คือบริษัทเคมีเกษตรข้ามชาติที่ผลิตและจำหน่ายพาราควอต และไกลโฟเซตนั่นเอง

 

               นักวิชาการแบบ อ.เจษฎ์เตือนนักการเมืองแบบคุณอนุทินเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่คุณควรเตือนตัวคุณเองด้วยว่า ก่อนหน้าไปบอกให้คุณอนุทิน “ระวังถูกหลอก” นั้น ตัวเองมีความรู้เรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากน้อยเพียงใด ถ้ารู้แบบครึ่งๆกลางๆ เอาข้อมูลจากนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนสารพิษที่ใกล้ชิดบริษัทมาเผยแพร่อยู่  เหมือนที่เลือกใช้ข้อมูลจาก CropLife  ซึ่งองค์กรของบริษัทผลิตพืชดัดแปลงพันธุกรรมด้วยพร้อมๆกับขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไปด้วย 

 

               ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองแบบคุณอนุทิน และคุณมนัญญา ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง นักวิชาการแบบ อ.เจษฎ์หรือ ไบโอไทยเอง ก็ไม่จำเป็นต้อง “รู้ทุกเรื่อง”  สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือคุณเลือกยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประชาชนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ ต่างหาก

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ