ข่าว

ไม่นิ่งนอนใจ กทม.เร่งสำรวจซ่อมไฟถนน อุโมงค์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนย.กทม.เร่งสำรวจ – ซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างที่ชำรุด ย้ำตรวจสอบตามวงรอบทุก 15 วัน

 

               สำนักการโยธา กทม. แจงตรวจสอบไฟฟ้าสาธารณะตามเส้นทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบตามวงรอบทุก 15 วัน พบปัญหาส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการ พร้อมประสาน กฟน. ประเมินราคาค่าซ่อม ก่อนทำการแก้ไข

 

               นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวถึงข้อวิจารณ์ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดทั้งบนถนน สะพานข้ามแยก และอุโมงค์ทางลอดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ว่า

 

               ที่ผ่านมาสำนักการโยธา มีมาตรการตรวจสอบไฟฟ้าสาธารณะตามเส้นทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบตามวงรอบทุก 15 วัน หากเกิดไฟฟ้าดับจะส่งเจ้าหน้าที่หน่วยซ่อมไฟฟ้าเข้าตรวจสอบ หากพบหลอดไฟชำรุดจะดำเนินการเปลี่ยนทันที

 

               แต่หากอุปกรณ์ ตู้ไฟ หรือสายไฟฟ้าชำรุดหรือสูญหาย จะจัดซื้ออุปกรณ์และจัดซ่อมเองกรณีชำรุดเสียหายเพียงเล็กน้อย หรือดำเนินการจ้างซ่อมหากเกิดชำรุดเสียหายมาก รวมถึงแจ้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ประเมินราคาค่าซ่อม ซึ่งภายหลัง กฟน. ประเมินราคาค่าซ่อมแล้วเสร็จ จะส่งรายละเอียดให้สำนักการโยธา ก่อนเข้าดำเนินการจัดซ่อม

 

               นอกจากนั้น สำนักการโยธา ยังได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน สะพานข้ามแยก อุโมงค์ทางลอด โดยลงพื้นที่ตรวจสอบความชำรุดเสียหายของสะพานข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอดเป็นประจำ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยของสะพานข้ามแยก เช่น ปรับปรุงผิวจราจร ปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่าง และปรับปรุงป้ายสัญญาณจราจรโดยเร่งด่วน เช่น สะพานข้ามแยกพัฒนาการ สะพานข้ามแยกบางพลัด

 

               รวมทั้งติดตามข้อร้องเรียนเรื่องความชำรุดเสียหายของสะพานข้ามแยก อุโมงค์ทางลอดต่างๆ จากศูนย์ กทม. 1555 และไลน์@อัศวิน คลายทุกข์ แล้วดำเนินการแก้ไขโดยหน่วย Best ของสำนักการโยธา

 

               รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวต่อไปว่า สำนักการโยธา ยังวางแนวทางบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

               ประกอบด้วย 1) งานที่ต้องยื่นขออนุญาตผ่านสำนักการโยธา ให้ใช้เงื่อนไขประกอบใบอนุญาต เป็นบันทึกข้อตกลงแนบท้ายใบอนุญาต ใช้คู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภคปี 2550 และมีกลุ่มงานตรวจสอบระบบสาธารณูปโภค เป็นหน่วยงานประสานระหว่างหน่วยงาน กทม. และหน่วยงานภายนอก

 

               2) งานนโยบายและงานโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายและสีต่างๆ ให้ใช้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ใช้เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตเพื่อกำกับดูแลความเรียบร้อย

 

               หากโครงการก่อสร้างเกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และใช้คำสั่งของผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่นตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจรับสภาพ ภายหลังการก่อสร้าง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ