ข่าว

หน่วยงานภายใน-ปชช. ส่งความเห็นร่วมสร้างนโยบาย ปธ.ศาลฎีกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โฆษกศาลยุติธรรม" เผย 2 วันแรกหลัง "ไสลเกษ" เปิดทางรับฟังทุกภาคส่วนร่วมอำนวยความยุติธรรม หน่วยงานภายใน-ปชช. กว่า 200 ส่งความเห็นเสนอร่วมทำนโยบาย ปธ.ศาลฎีกา

 

 

          เมื่อวันที่ 2 ต.ค.62 - นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงผลการเปิดรับข้อคิดเห็นและสภาพปัญหาจากผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน และประชาชน เพื่อนำไปประมวลผลเป็นนโยบายประธานศาลฎีกา ตามที่ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 ที่เพิ่งรับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดให้ดำเนินการเป็นครั้งแรกว่า หลังจากที่ สำนักประธานศาลฎีกา ได้มีการเผยแพร่แบบสอบถาม ขอความร่วมมือมายังข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม , ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน และประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็น สภาพปัญหา ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปประมวลผลเป็นนโยบายประธานศาลฎีกาที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการบริหารงานศาลยุติธรรมซึ่งจะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคมที่แท้จริง

 

          ปรากฎว่าขณะนี้ได้มีผู้ส่งคำตอบจากแบบสอบถามมาแล้วนับจนถึงวันที่ 2 ต.ค.นี้ ในเวลา 16.30 น. จำนวนทั้งสิ้น 219 คน โดยในส่วนบุคลากรภายใน มีจำนวน 132 คน คิดเป็น 60.3% และในประชาชน ผู้มาติดต่อราชการศาล มัจำนวน 87 คน คิดเป็น 39.7%

 

          โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับแบบสำรวจที่เปิดให้แสดงความคิดเห็น สภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ 6 ส่วนนั้น ประกอบด้วย 1.ด้านการบริหารจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม 2.ด้านการพัฒนาบุคลากร 3.ด้านการให้บริการประชาชน  4.ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 5.ด้านการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของศาลยุติธรรมต่อประชาชน 6.ด้านอื่นๆ

 

          ทั้งนี้การร่วมแสดงข้อคิดเห็นนั้น ได้เปิดให้ส่งแบบสำรวจความเห็น จนถึงวันที่ 5 ต.ค.นี้ โดยประชาชนสามารถเข้าไปให้ข้อคิดเห็นได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdggkr2iKdlp0uOpLBV17D0wrc4BVz-GorMtL-uOv2To48h4g/viewform
 

          และหลังจากที่ สำนักประธานศาลฎีกา ได้เก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผลความเห็นจากทุกภาคส่วนและประชาชนที่ส่งมาแล้ว จะวิเคราะห์พร้อมจัดทำออกมา เสนอ นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา เพื่อประกาศเป็นนโยบายประธานศาลฎีกา ที่นำไปสู่การปฏิบัติของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำไปปฏิบัติได้รวดเร็ว.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ