ข่าว

เอลนีโญ ทำโลกร้อนสุดในรอบ 120 ปี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์การนาซา ยันโลกอยู่ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ร้อนที่สุดในรอบ 120 ปี ส่วนไทยอุณหภูมิ 30-40 องศา สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-2 องศา

 

               วันที่ 1 ต.ค.2562 เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่รายงานเรื่อง องค์การนาซายืนยันว่าโลกอยู่ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ร้อนที่สุดในรอบ 120 ปี โดยแปลและเรียบเรียงจากเว็บไซต์ dailymail.co.uk ดังนี้

 

               องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA) กล่าวว่า ในปี ค.ศ.2018 เป็นอีกปีหนึ่งที่ร้อนที่สุด โดยอุณหภูมิที่วัดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ. 1951 -1980 อยู่ 0.83 องศาเซลเซียส (หรือ 1.5 องศาฟาเรนไฮต์) นับว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 4 นับตั้งแต่ได้มีการบันทึกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 

 

               ในความเป็นจริง 5 ปีที่ผ่านมานั้นเป็น “ปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการตรวจวัดแบบสมัยใหม่” ซึ่งในปี 2016 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยปี 2017 จะมาเป็นอันดับสองและอันดับสามในปี 2015 โดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอวกาศจากสถาบัน Goddard ของนาซา (GISS) ในเมืองนิวยอร์ก ได้ข้อสรุปว่า จากสถิติดังกล่าวทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงครึ่งทศวรรษที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ 120 ปี 

 

               องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า อุณหภูมิในปี ค.ศ. 2016 คือปีที่ทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง ทำให้ความร้อนในชั้นบรรยากาศมีค่าสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วย

 

เอลนีโญ ทำโลกร้อนสุดในรอบ 120 ปี 

 

               สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเตือนถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าก่อนยุคอุตสาหกรรมกับในปัจจุบัน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งหากการเพิ่มขึ้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ถึง 10 % ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในปีใดปีหนึ่ง ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2019 - 2023 

 

               โดยองค์การ NASA ได้กล่าวเสริมว่า อุณหภูมิดังกล่าวอาจจะเกิดการผันผวนได้ตามแต่ละภูมิภาค แต่บริเวณอาร์กติกจะเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุด เห็นได้จากธารน้ำแข็งที่หดตัวและมีการลดลงของจำนวนน้ำแข็งในทะเลอย่างต่อเนื่อง 

 

เอลนีโญ ทำโลกร้อนสุดในรอบ 120 ปี 

 

อุณหภูมิในระยะยาวมีแนวโน้มสูงขึ้น

               ในส่วนของนักวิจัยจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มีความเห็นว่าควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแนวโน้มสถิติของอุณหภูมิในระยะยาวมากกว่าการจัดอันดับให้กับอุณหภูมิสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ในปีถัดไป และดูเหมือนภาวะโลกร้อนน่าจะสร้างสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดอีกในปี ค.ศ. 2019

 

               เนื่องจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา เกิดขึ้นทั้งหมด 18 ครั้งแล้วในรอบ 19 ปี

 

               ซึ่ง Dr. Gavin Schmidt ผู้อำนวยการแห่งสถาบัน GISS ได้กล่าวไว้ว่าปี ค.ศ. 2018 เป็นปีหนึ่งที่มีอุณหภูมิสูงเป็นลำดับต้นๆ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 2 องศาฟาเรนไฮต์หรือประมาณ 1 องศาเซลเซียส ซึ่งเวลาที่ยาวนานที่โลกต้องเผชิญในปีที่ร้อนที่สุดดูจะสำคัญเหนือกว่าการจัดอันดับความร้อนให้กับโลกในแต่ละปี

 

เอลนีโญ ทำโลกร้อนสุดในรอบ 120 ปี 

 

                ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลค่าวิเคราะห์อุณหภูมิขององค์การนาซ่าที่ได้จากการรวบรวมอุณหภูมิผิวพื้นทั้งหมดที่ได้จากสถานีตรวจอากาศภาคพื้นกว่า 6,300 แห่ง รวมทั้งการสำรวจอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลที่ได้จากเรือ ทุ่น และสถานีวิจัยในแอนตาร์กติกาทั้งหมด โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้เกิดอุณหภูมิสูงขึ้นมากอย่างผิดปกติ ทั้งที่วัดได้จากบนภาคพื้นดินและมหาสมุทร

 

               ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกได้ถึงสภาพอากาศที่มีความรุนแรง และผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศน์อีกด้วย สิ่งสำคัญที่ทั่วโลกควรตระหนักขณะนี้คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวางมาตราปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก 

 

               ตามข้อมูลจากองค์กรจัดการด้านสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มียุคการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมมาจนกระทั่งเริ่มมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมากออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกมีค่าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง จนทำให้รูปแบบสภาพอากาศทั่วโลกนั้นเกิดความแปรปรวนในที่สุด

 

               Shaun Martin จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เตือนว่าอนาคตของเราจะไม่เหมือนกับในอดีต แม้ว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากในไม่กี่ปีข้างหน้า แต่สิ่งต่างๆ ก็จะแย่ลงกว่าเดิมก่อนที่มันจะดีขึ้น และภาวะโลกร้อนจะยังคงเป็นอันตรายต่อธรรมชาติและผู้คนทั่วโลกต่อไป

 

เอลนีโญ ทำโลกร้อนสุดในรอบ 120 ปี 

 

อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของประเทศไทย

               สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทย เมื่อพิจารณาในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2524-2561) พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ในอดีตกลางวันและกลางคืนอุณหภูมิแตกต่างกันค่อนข้างมากซึ่งไม่ได้ร้อนทั้งวัน แต่ปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบันนี้คือ ลักษณะอากาศมีความร้อนอบอ้าวทั้งวัน ทั้งที่กลางคืนควรจะเย็นลงกลับไม่เย็น อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดใกล้เคียงกัน โดยอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-40 องศาเซลเซียส ทำให้คนรู้สึกถึงอากาศที่ร้อนจัด 

 

               จากข้อมูลภูมิอากาศในอดีต ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดของประเทศไทยคือ 22 องศาเซลเซียส แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิต่ำสุดกลับสูงขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 - 30 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิสูงสุดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมาผิดปกตินั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ 

 

               อย่างไรก็ตามในส่วนของการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนรายปีในประเทศไทย ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากมีความผันแปรไปตามปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝนในแต่ละปี แต่สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือจำนวนวันที่ฝนตกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ความเข้มของฝนที่ตกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ที่มา กรมอุตุนิยมวิทยา แปลและเรียบเรียงจาก https://www.dailymail.co.uk

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ