ข่าว

ทำกสม.เสียหาย ร้องป.ป.ช.ไต่สวน ปธ.ศาลฎีกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ประธาน กสม." ร้อง ป.ป.ช. ไต่สวน "ชีพ จุลมนต์" ก่อนพ้นเก้าอี้ปธ.ศาลฎีกา ละเว้นไม่แต่งตั้ง กสม.ชั่วคราว จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ กระทบการบริหารองค์กร

 

 

          เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายให้ผู้แทนเข้ายื่นคำกล่าวหา ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการไต่สวนและดำเนินการอื่นๆ ต่อนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยระบุพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของนายชีพ ว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา มีกสม.ลาออก 2 คนทำให้เหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่ กสม. เพียง 3 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของกรรมการ จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.จนถึงวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา นายวัสได้มีหนังสือด่วนที่สุด รวม 7 ฉบับ เพื่อกราบเรียนประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กสม. เพื่อมาทำหน้าที่เป็น กสม. เป็นการชั่วคราว

 

          ต่อมาวันที่ 18 ก.ย.รักษาราชการเลขาธิการประธานศาลฎีกา มีหนังสือถึงนายวัส ว่าประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองกำลังร่วมกันปรึกษาหารือและพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้ตัวบุคคลที่มีความสามารถและความเหมาะสม รวมทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามมาทำหน้าที่ กสม. เป็นการชั่วคราว หากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อใดจะมีหนังสือกราบเรียนประธาน กสม. ให้ทราบภายหลัง จากนั้นนายวัส มีหนังสือด่วนที่สุดถึงศาลฎีกาเป็นฉบับที่ 8 ลงวันที่ 23 ก.ย. ว่าการไม่แต่งตั้ง กสม. ชั่วคราวเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ (โดยแจ้งให้ศาลฎีกาทราบด้วยว่า ได้ส่งสำเนาถึงประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งพร้อมที่จะร่วมแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวให้ทราบด้วยแล้ว) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ประชาชน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย กสม. และสำนักงาน กสม. 

 

          นายวัส ได้บรรยายความเสียหายต่อ กสม. ดังนี้ 1.กสม.ต้องประชุมเพื่อพิจารณาร่างรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกว่า 125 เรื่อง รับเรื่องร้องเรียนไว้เป็นคำร้องเพื่อตรวจสอบกว่า 13 เรื่อง และมอบหมายให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหากว่า 56 เรื่อง การไม่สามารถเปิดประชุมได้ ทำให้ความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา หากเวลาเนิ่นนานไปยังไม่สามารถเปิดการประชุมได้ ก็จะยิ่งมีเรื่องคั่งค้างสะสมมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น

 

          2.วันที่ 1 ต.ค.นี้ มีข้าราชการระดับสูงของสำนักงาน กสม. เกษียณอายุราชการ กสม. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลมีหน้าที่ต้องดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนที่ผู้จะพ้นราชการ ซึ่งมีกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่ กสม. แต่งตั้ง แต่ กสม. ไม่สามารถเปิดประชุมเพื่อแต่งตั้งโยกย้ายได้ ทำให้ข้าราชการในสำนักงาน กสม. เสียหาย

 

          3.ภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ กสม. ต้องประชุมเพื่อพิจารณาส่งรายงานความสอดคล้องกับหลักการปารีสและเอกสารอื่นๆ รวม 5 รายการ โดยจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน ทั้งในรูปแบบฉบับพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบการประเมินสถานะของ กสม.ไทยขึ้นใหม่ (ขอคืนสถานะ A) ไปให้ฝ่ายเลขานุการของเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนสากล (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์        
           

 

          4.ภายในวันที่ 18 ต.ค. กสม. ต้องประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างแนวปฏิบัติและร่างแถลงการณ์ รวมทั้งความเห็นชอบต่อร่างข้อบังคับการดำเนินงาน (Rule of Procedure : RoP) ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum : SEANF) ซึ่ง กสม. เป็นสมาชิกอยู่ ก่อนที่ประธาน กสม. จะเข้าร่วมประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 -24 ต.ค.ณ กรุงดิลี ประเทศติมอร์–เลสเต
 
            
          รายงานข่าวจากสำนักงาน กสม. แจ้งว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (30 ก.ย.) จนกระทั่งเมื่อเวลา 16.30 น. ยังไม่มีหนังสือแจ้งผลการแต่งตั้ง กสม. ชั่วคราว ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ตาม พรป.กสม. มาตรา 60 วรรคสาม ประกอบมาตรา 22 มายังสำนักงาน กสม. หรือประธาน กสม. รับทราบผลแต่อย่างใด ขณะที่นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา จะพ้นจากตำแหน่งในศาลยุติธรรมทุกตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้
 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การแต่งตั้ง กสม.ชั่วคราว เป็นคนละส่วนกับการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่ง กสม.ชุดใหม่ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหา โดยการสรรหาในส่วนนี้มีการเปิดรับสมัครมาแล้ว 4 รอบ แต่ยังไม่สามารถสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่ง กสม. ได้ครบ 7 คน ตามกฎหมาย คงมีเพียง น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และน.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เพียง 2 คนเท่านั้นที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปลายเดือนธ.ค. 2561 จึงไม่สามารถคาดหมายได้ว่ารายชื่อที่ผ่านการสรรหาที่เหลืออีก 5 คน จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อใด ทำให้กสม. ไม่สามารถตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีปัญหาในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ