ข่าว

เจ้าแรกอาเซียน นิด้าส่ง นศ.ร่วม UIF Stanford d.School

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิด้าส่งนักศึกษาร่วมโครงการ UIF Stanford d.School เจ้าแรกของอาเซียน

 

               การพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์สำคัญต่อการแข่งขันในธุรกิจและความยั่งยืนของชุมชน กระบวนการหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ คือ Design Thinking หรือการคิดอย่างนักออกแบบ ที่มองว่าการแก้ปัญหาคือโอกาสในการสร้างนวัตกรรม
 

 

               สถาบันการศึกษาที่เป็นต้นกำเนิดของ Design Thinking คือ Hasso Plattner Institute of Design หรือ d.School (ดี-สคูล) แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก แนวคิดในการสรรสร้างนวัตกรรม และเป็นแนวทางที่บริษัท Tech Start-Up ในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) และทั่วโลก นิยมใช้คิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า

 

               สถาบัน d.School ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดไม่ใช่คณะ แต่เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมแนวคิดที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม โครงการมิตรสหายแห่งนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย (University Innovation Fellow (UIF) Program) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการ UIF”

 

               ซึ่งมีความต้องการสร้างชุมชนที่มีโครงข่ายทั่วทุกมุมโลก (Global Community) ที่ประสานพลังกันในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของโลกในปัจจุบัน ให้สามารถเตรียมนักเรียน-นักศึกษาให้สามารถจบออกไปพร้อมกับความรู้ ทักษะ หลักคิด และทัศนคติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกในอนาคต

 

               โครงการ UIF เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ริเริ่มโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า “National Center for Engineering Pathways to Innovation” หรือ “Epicenter” ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2012 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก National Science Foundation ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาการศึกษาที่มุ่งเน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STEM Education ของสหรัฐอเมริกา

 

               ดังนั้น นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดที่สนใจเรื่องการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สามารถมาลงทะเบียนเรียนได้ โดยไม่จำกัดว่าเรียนอยู่คณะหรือสาขาวิชาใด ปัจจุบันมีนักเรียน-นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ หรือที่เรียกว่า “Fellow” ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึง ปริญญาเอก กว่า 1,838 คน จาก 258 สถาบันการศึกษาชั้นนำ ใน 16 ประเทศทั่วโลก

 

               นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมในโครงการ UIF ได้นั้นจะต้องมีคณาจารย์ที่เข้าร่วมอบรม Design Thinking กับทาง d.School และยังต้องมีประสบการณ์ในการนำเอาแนวคิดและกระบวนการของ Design Thinking ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร

 

              ทั้งนี้ มีคณาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) หลายท่านได้เข้าอบรมกับ d.School อาทิ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดี, รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อดีตอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ, รศ.ดร.ระวีวรรณ เอื้อพันธ์วิริยะกุล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ Design Thinking Faculty Champion ของสถาบัน รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ ที่มีประสบการณ์ในการอบรม Design Thinking ให้กับคณาจารย์ นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และบริษัทเอกชนในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม

 

               ทั้งนี้ นิด้า เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ทำความร่วมมือกับโครงการ UIF Stanford d.School ซึ่งในโครงการนี้ นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ ได้แก่ นายสุธีร์ พรหมเสนะ และนายปกรณ์ ทองจีน เป็นตัวแทนของสถาบัน เข้าร่วมโครงการในฐานะ UIF Candidates ในขณะที่ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล และ รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ จะทำหน้าที่ในฐานะ Faculty Champions ในการดูแลนักศึกษาตลอดโครงการ

 

               ​วัตถุประสงค์หลักของโครงการ UIF คือ การสร้างนักเรียน-นักศึกษาลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” หรือ “Change Agent” ในสถาบันของตน และต่อยอดการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ขยายออกไปในวงกว้างขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนของการจัดระบบการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษา ไปจนถึงการเปลี่ยนในระดับนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไปในอนาคต

 

               โดยเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมของโครงการ คือ กระตุ้นให้นักเรียนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ออกไปพัฒนาออกแบบระบบนิเทศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) ในมหาวิทยาลัยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Innovation) พัฒนาความคิดสร้างสรรค์(Creativity) การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และปลุกฝังแนวคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset)

 

               และหลักคิดที่สำคัญอีกอันหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของโครงการ UIF คือ “การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน..จะต้องเปลี่ยนแปลงจากข้างล่างขึ้นล่างบน (Bottom-Up)..”  ฉะนั้น UIF จึงส่งเสริมให้ ‘นักเรียน’ ลุกขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ โดยให้อาจารย์เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและคอยส่งเสริมสนับสนุนในการเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงของนักเรียน

 

               ​ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ UIF นักศึกษาต้องผ่านการคัดเลือกและได้รับการตอบรับในฐานะ UIF Candidate ก่อน จากนั้นจะต้องฝึกฝนอบรมออนไลน์อย่างเข้มข้นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยได้รับคำแนะนำจากทีมงานของ d.School และ Fellow รุ่นพี่อย่างใกล้ชิด นักศึกษาที่เป็น Fellow ต้องขอคำแนะนำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษาจากอาจารย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Faculty Champion ที่คอยให้คำปรึกษาตลอดโครงการ  

 

               เมื่อผ่านการฝึกฝนอบรมอย่างเข้มข้นตลอด 6 สัปดาห์ หากผลงานที่ได้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบเป็นรูปธรรมในมหาวิทยาลัยได้ และผ่านการประเมินจากทาง d.School เป็นที่เรียบร้อยแล้ว Fellow และ Faculty Champion จะได้รับการเชิญให้เข้าร่วมงานอีเว้นท์ ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Meetup) ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Google และ d.School แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้ Fellow และ Faculty Champions จากทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลา 5 วัน ณ ศูนย์นวัตกรรมของโลก

 

               ถือได้ว่าโครงการ UIF เป็นงานที่สามารถรวบรวมนักเรียน-นักศึกษาและครูอาจารย์ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาในอนาคตไว้ได้มากที่สุด

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ