ข่าว

(คลิป) เริ่มแล้ว ระบบไกล่เกลี่ยครั้งแรกคดีในศาลปกครอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปธ.ศาลปกครองสูงสุด" เปิดตัวจัดระบบไกล่เกลี่ยคดีปกครองทั้งศาลชั้นต้น - คดีฟ้องใหม่ศาลปกครองสูงสุด กำหนดกรอบมาตรฐานไกล่เกลี่ย 90 วัน เตรียมอบรมตุลาการ 4 รุ่น

 

          เมื่อวันที่ 9 ก.ย.62 - ที่ห้องสัมมนา 2 ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานแถลงข่าว การเปิดดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ และสร้างความเข้าใจระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครองในศาลปกครอง เพิ่มทางเลือกใหม่ในการอำนวยความยุติธรรม ภายหลัง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 และระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ.2562 ออกมาบังคับใช้แล้ว

 

(คลิป) เริ่มแล้ว ระบบไกล่เกลี่ยครั้งแรกคดีในศาลปกครอง

 

          นายปิยะ ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่าไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้เปิดใช้ "ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน" ซึ่งรองรับการดำเนินการทางคดีของคู่กรณีทุกฝ่ายตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการพิจารณา ขณะที่เวลานี้ ศาลปกครอง ก็ได้นำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง ในศาลปกครองทุกศาลทั่วประเทศด้วย โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีเจตนารมณ์เพื่อให้คู่กรณีมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการระงับข้อพิพาท และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีในการยุติข้อพิพาทระหว่างกันด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมาย

 

          ซึ่งการไกล่เกลี่ย 1.คู่กรณีสามารถยื่นคำขอต่อศาล หรือศาลเห็นเอง ว่าคดีนั้นควรมีการไกล่เกลี่ย 2.ทำการไกล่เกลี่ยได้โดยความสมัครใจของคู่กรณี 3.การไกล่เกลี่ยจะดำเนินการโดยตุลาการศาลปกครองซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีนั้น 4.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ได้มีรูปแบบพิธีการหรือขั้นตอนที่เคร่งครัดเพื่อช่วยให้คู่กรณีสามารถสื่อสารความต้องการและข้อจำกัดของทุกฝ่ายได้อย่างเต็มที่และเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน 5.การไกล่เกลี่ยมีระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนและกระชับ

 

          "การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง จะเป็นกลไกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่ง และเป็นทางเลือกใหม่ของการระงับข้อพิพาททางปกครองที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณี และส่งเสริมการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ประธานศาลปกครอง กล่าวย้ำ

 

(คลิป) เริ่มแล้ว ระบบไกล่เกลี่ยครั้งแรกคดีในศาลปกครอง

 

          ด้าน นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการยกร่างอนุบัญญัติและเตรียมความพร้อมศาลปกครองในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้แถลวชี้แจงหลักการสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองว่า เป็นการยุติข้อพิพาทโดยบุคคลที่เป็นกลาง ไม่ได้ชี้นำหรือตัดสินข้อพิพาทนั้นเอง แต่ข้อพิพาทยุติลงได้โดยความสมัครใจของคู่พิพาทเอง

 

          ขณะที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง มีหลักการสำคัญ 5 ข้อ คือ 1.ผลของการไกล่เกลี่ยไม่ว่าจะปรากฏผลเช่นใด ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย 2.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองยึดถือความสมัครใจของคู่กรณีที่พิพาทกันเป็นสำคัญ 3.หลักความไว้วางใจของคู่กรณี คือ ต้องเริ่มจากการที่คู่พิพาท" เปิดใจ" ที่จะแสดงออกถึงความต้องการของตนได้อย่างเต็มที่ และรับฟังความต้องการหรือข้อจำกัดของคู่พิพาทฝ่ายอื่นกับยอมรับผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อาจตรงกับหรือแตกต่างจากความต้องการ หรือความคาดหวังของตนที่เคยมี ซึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคู่กรณีสามารถเปิดเผยต่อกันได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือให้เป็นผลร้ายต่อตนในภายหลัง 

 

          4.หลักความเป็นกลาง เพราะคดีปกครองเป็นคดีพิพาทที่มีผลกระทบทั้งต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล และต่อการใช้อำนาจหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง และการบริการสาธารณะ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 66/4 วรรคสาม จึงบัญญัติว่า ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้แก่ ตุลาการศาลปกครองซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีในสำนวนคดี ซึ่งต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่และ

 

          5.หลักความมีประสิทธิภาพของการพิจารณาคดี และการบริหารจัดการคตีการไกล่เกลี่ย จะช่วยให้ข้อพิพาทมีโอกาสที่จะยุติลง และระงับไปได้โดยไม่ถึงขั้นที่ต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีเต็มรูปแบบปกติ ซึ่งนอกเหนือจากผลดีที่คู่กรณีที่พิพาทกันจะสามารถยุติข้อพิพาทกันได้แล้ว ยังมีผลในทางที่จะทำให้คดีที่ศาสต้องทำการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปมีจำนวนลดลง

 

          ขณะที่หลักการของกฎหมาย กำหนดให้ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดก็มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในส่วนของศาลปกครองสูงสุดนั้นต้องเป็น "ฟ้องครั้งแรก" หมายถึงคดีที่ไม่ใช่คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น 

 

          ทั้งสำหรับลักษณะของคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ คือ 1.คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร 2.คดีพิพาทกับการกระทำละเมิตหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3.คดีพิพาทรับสัญญาทางปกครองและ 4.คดีพิพาทอื่น ตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งในอนาคตอาจมีคดีพิพาทประเภทอื่นๆ อีกที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้

 

          ส่วนกรณีที่มีลักษณะห้ามไม่ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ ข้อพิพาทที่เป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน , ข้อพิพาทที่มีผลกระทบต่อสถานะของบุคคล หรือมีผลกระทบในทางเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ , ข้อพิพาทที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการบังคับใช้กฎหมายหรือข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือสิทธิอำนาจหน้าที่หรือความสามารถของคู่กรณี เป็นต้น

 

          สุดท้ายกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้นสามารถเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยได้นับแต่มีการฟ้องคดี จนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยอาจมีการริเริ่มได้โดย 1.คู่กรณีคือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำขอ หรือ 2.ทั้งสองฝ่ายยื่นคำขอร่วมกัน หรือ 3.ริเริ่มโดยศาลเห็นเอง โดยระยะเวลาการดำเนินการไกล่เกลี่ย กำหนดให้มีความชัดเจนและกระชับ คือให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่ "วันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก" 

 

          ซึ่งผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาจเกิดขึ้นได้ 3 ลักษณะ คือ 1.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จและทำให้คดีเสร็จสิ้นไปทั้งหมด ซึ่งหลังตรวจดูข้อตกลงและสัญญาประนีประนอมยอมว่ามีความถูกต้องแล้ว ก็จะมี" คำพิพากษาตามยอม 2.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จและทำให้คดีเสร็จสิ้นไปบางส่วน กรณีนี้ศาลจะจดรายงานแสดงข้อความแห่งข้อตกลงในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไว้และพิจารณาประเด็นที่ยังพิพาทกันต่อไปแล้วนำมารวมพิพากษาไปในคราวเดียวกัน หรือ 3.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่สําเร็จศาลก็จะดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

 

          "โดยการดำเนินกระบวนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนั้นจะมีลักษณะยุติด้วยดี ถูกกฎหมาย เรียบง่าย ได้ผลเร็ว" นายบุญอนันต์ กล่าว

 

(คลิป) เริ่มแล้ว ระบบไกล่เกลี่ยครั้งแรกคดีในศาลปกครอง

 

          ด้าน นางสายทิพย์ สุคติพันธ์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า สำหรับการเตรียมตุลาการผู้ที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลปกครองนั้น ขณะนี้ฝึกอบรมตุลาการผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยทั้งหมด 4 รุ่น รุ่นละประมาณ 15-20 คน โดยจะเน้นศาลชั้นต้นเป็นหลัก เริ่มอบรมเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการอบรมทักษะบางประการในการวางตัวเพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และจิตวิทยาในการเจรจา

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ