ข่าว

แก้ขยะล้นเมือง กรีนพีซ ชงเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรีนพีช ผุดไอเดียกำจัดขยะ เก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก-บรรจุภัณฑ์ แบบใช้ครั้งเดียวทั่วประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งกองทุนอิสระฟื้นฟูทะเลไทย

 

28 สิงหาคม 2562  จากกรณีการเสียชีวิตของกวางในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตลอดจนสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์รวมถึงพะยูนและเต่าทะเลที่มีสาเหตุหนึ่งจากการกลืนขยะพลาสติกเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร  

 

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ในช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์ ถ้าไม่นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน เราสูญเสียสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ป่าไปหลายชีวิตจากมลพิษพลาสติก คำถามคือ Roadmap การจัดการพลาสติกของประเทศไทยที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือนเมษายน 2562 นั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงมิให้โศกนาฏกรรมดังกล่าวนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก"

 

"แม้ว่า Roadmap จะระบุถึงสถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกครอบคลุมทั้งภาคการผลิต การบริโภคและหลังการบริโภค รวมถึงได้ระบุความท้าทายของการขาดกลไกทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็น 1) กฎหมายให้ผู้ผลิตระบุประเภทพลาสติกที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ 2) กฎหมายจำกัดการใช้ถุงพลาสติกในการบรรจุสินค้าและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกฎหมายส่งเสริมการคัดแยกและนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาถึงแผนปฏิบัติการที่จะต้องดำเนินการในระยะเวลา 12 ปี ข้างหน้า ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันว่า roadmap นี้จะนำไปสู่การจัดการขยะพลาสติกที่ยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนตามวิสัยทัศน์ที่เขียนไว้ หากยังไร้ซึ่งกลไกที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายควบคู่กันไปด้วย และ roadmap นี้ก็จะเป็นเพียงการเน้นสร้างจิตสำนึกและมาตรการแบบสมัครใจซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น" ธารา บัวคำศรี กล่าว

 

อย่างไรก็ตามกรีนพีซมีข้อเสนอเบื้องต้นต่อการจัดการพลาสติกของประเทศไทยรวมถึงขยะทะเล โดยให้แยกการจัดการขยะพลาสติกทะเลออกมาจาก Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และผลักดันกฎหมายว่าด้วยการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(ทางทะเล)จากผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

 

ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ดำเนินการยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 7 ชนิด ต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยออกประกาศเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อตั้งกองทุนที่ทำงานเป็นอิสระเพื่อฟื้นฟูทะเลไทย และเน้นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนเพื่อเปิดกว้างให้กับกระบวนการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากสาธารณะชน(public support) แทนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและมาตรการแบบสมัครใจแต่เพียงอย่างเดียว

 

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว(Fast Moving Consumer Goods) มีคำมั่น นโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) และยกเลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

 

ทบทวนแนวคิดและนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ที่อยู่บนฐานของการนำเอาขยะพลาสติกไปเผาเป็นพลังงาน โดยผลที่คาดว่าจะได้รับภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573 ระบุเพียงว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.79 ล้านตันต่อปี ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 1.2 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า และได้ไฟฟ้าจากการนำพลาสติกไปเผา 1,830 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่ไม่ได้กล่าวถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะพลาสติกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากนำขยะพลาสติก 0.79 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 22.83 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า [3]

 

 

ในประเทศไทย สัตว์ทะเลหายากตายจากการกินขยะและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยแบ่งเป็นการกินร้อยละ 60 ในกลุ่มโลมาและวาฬ ส่วนเต่าจะเกิดจากขยะพลาสติกติดพันขาและตามลำตัวร้อยละ 70 https://www.dmcr.go.th/detailAll/13538/nws/16

 

ในวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 [2] เพื่อลดใช้พลาสติกและตั้งเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติก บางประเภทภายในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 1.พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2.พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ (OXO) และ 3.ไมโครบีด (Microbead) ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลิกใช้พลาสติกจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1.ประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3.แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และ 4.หลอดพลาสติกภายในปี พ.ศ. 2565 http://www.pcd.go.th/Info_serv/File/Plastic%20Roadmap.pdf

 

การเผาขยะพลาสติก 1 ตัน จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,890 กิโลกรัม CO2 เทียบเท่า https://www.ciel.org/wp-content/uploads/2019/05/Plastic-and-Climate-FINAL-2019.pdf

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-แปลงขยะเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่
-วาระแห่งชาติพิชิตขยะ
-สร้างความเข้าใจจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะอัตราใหม่กทม
-ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ