ข่าว

อดีต อธก.สจล.รอดคดีทุจริตถอนเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง ถวิล อดีต อธก.-ผช.อธก.สจล. พ้นผิดร่วมทุจริตถอนเงินสถาบัน สจล.กว่า 700 ล้าน ส่วน อดีต ผช.ผจก.SCB เจอคุกอ่วม 19 กระทง 95 ปี

 

"ศาลอาญาคดีทุจริตฯ" พิพากษายกฟ้อง  "อดีต อธก.-ผช.อธก.สจล." กับพวกอีก 4 ราย พ้นผิดร่วมทุจริตถอนเงินสถาบัน สจล.กว่า 700 ล้าน ส่วน "อดีต ผช.ผจก.SCB" เจอคุกอ่วม 19 กระทง 95 ปี - คนรับโอนโดน 55 ปี พร้อมสั่งชดใช้ "ถวิล" ขอบคุณศาลเมตตามพิเคราะห์ละเอียด 

 

อดีต อธก.สจล.รอดคดีทุจริตถอนเงิน

 

          19 ส.ค.62 - ที่ห้องพิจารณา 3 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ถ.นครไชยศรี เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีทุจริตเบิกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กว่า 700 ล้านบาท หมายเลขดำ อท.24/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 1 เป็นโจทก์ , สจล. เป็นโจทก์ร่วมที่ 1 , ธ.ไทยพาณิชย์ฯ เป็นโจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นฟ้อง นายถวิล พึ่งมา อายุ 65 ปี อดีตอธิการบดี (อธก.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จำเลยที่ 1 , น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อายุ 60 ปี อดีตผอ.ส่วนการคลัง สจล. มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินของสถาบัน จำเลยที่ 2 , นายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อายุ 55 ปี ผช.อธิการบดี สจล. ดูแลบริหารงานคลัง สจล. จำเลยที่ 3 , นายทรงกลด ศรีประสงค์ อายุ 44 ปี อดีตผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ฯ สาขาบิ๊กซีสุวินทวงศ์ จำเลยที่ 4 , นายคงฤทธิ์ สิงห์นุโคตร อายุ 53 ปี อดีต ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3M จำเลยที่ 5 , นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด จำเลยที่ 6 , นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ อายุ 31 ปี จำเลยที่ 7 , นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ อายุ 36 ปี จำเลยที่ 8 โดยทั้ง3เป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้มีหน้าที่ใน สจล.


          ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง โดยร่วมกระทำผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) (11) , ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม มาตรา 265, 268 , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย มาตรา 147 , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น มาตรา 151 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานองค์กรของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 8, 11 ขอให้ชดใช้เงิน 688,578,411 บาท ให้กับ สจล.โจทกฺร่วมที่ 1 และ ธ.ไทยพาณิชย์ฯ โจทก์ร่วมที่ 2 และให้ชดใช้เงิน 20 ล้านบาท กับ ธ.กรุงศรีอยุธยาฯ ผู้เสียหายที่ 3 ด้วย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันกระทำละเมิด


          กรณีปี 2552-2557 ร่วมกันลักเงิน สจล.ที่อยู่ในบัญชีเงินฝาก กับ ธ.ไทยพาณิชย์ สจล. 5 บัญชี , สาขาสุวรรณภูมิ 3M และ ธ.กรุงศรีอยุธยา สาขา สจล. รวมทั้งหมด 7 บัญชีไปให้ สจล. อนุมัติการจ่ายเงินด้วยการทำบันทึกเสนอขอเบิกเงินจากสถานบันฯ อ้างว่าจะฝากประจำเผื่อให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น เมื่อ สจล.อนุมัติในการเบิกถอนเงินจากบัญชีแล้ว เบิกเงินจากบัญชีโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก สจล. รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 708,578,411 บาท จำเลยที่ 1,3-8 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น


          โดยระหว่างพิจารณาคดี นายถวิล อดีต อธก.สจล. จำเลยที่ 1 ได้รับการประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์วงเงิน 8 ล้านบาท และนายคงฤทธิ์ อดีต ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3M จำเลยที่ 5 ได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 800,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล


          ส่วนจำเลยที่ 2,3,4,6,7,8 ตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำเนื่องจากถูกตัดสินให้จำคุกในคดีลักทรัพย์เงิน สจล.สำนวนแรก ทุนทรัพย์ 600 ล้านบาทเศษ ที่ยื่นฟ้องต่อศาลอาญามีนบุรี ที่มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.61


          ขณะที่วันนี้ นายถวิล อดีต อธก.สจล. จำเลยที่ 1 และนายคงฤทธิ์ อดีต ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3M จำเลยที่ 5 ที่ได้รับการประกันตัวไปก็เดินทางมาศาล พร้อมทนายความและคนใกล้ชิดซึ่งมาร่วมให้กำลังใจนับสิบคน โดยศาลก็เบิกตัวจำเลยที่ 2,3,4,6,7,8 มาจากเรือนจำพร้อมฟังคำพิพากษา


          ทั้งนี้ นายถวิล กล่าวก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดีว่าตนเองก็ยังมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าไม่ได้มีความยุ่งเกี่ยว ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ก็มีความเชื่อมโยงกันโดยการกล่าวหาก็ระบุเงินจำนวนเงิน 3 ชุด ซึ่งกล่าวหาตนเกี่ยวข้องกับเงินชุดแรกและชุดที่ 2 โดยชุดแรกที่ผ่านมาก็มีการฟ้องคดีไว้ที่ศาลอาญามีนบุรีไปแล้ว (ศาลพิพากษายกฟ้องนายถวิล) สำหรับเงินชุดที่ 3 นั้นตนไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรเพราะตนเกษียณมาแล้ว อย่างไรกับจำเลยอื่นๆ ที่ไม่ใช่บุคลากรในสถาบัน สจล.นั้น ตนก็ไม่ค่อยได้พูดคุยกันในทางคดี ตนรู้จักกับจำเลยที่เป็นบุคคลากรในสถาบันเพียง 2-3 คนเท่านั้น 

 

อดีต อธก.สจล.รอดคดีทุจริตถอนเงิน

 

          ส่วนที่ศาลอาญามีนบุรียกฟ้องนายถวิลมาแล้ว มีแนวทางจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ยังไม่มี อย่างไรก็จะต้องไปปรึกษากับทนายความก่อน


          ขณะที่เมื่อถึงเวลาฟังคำพิพากษา ศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานบุคคล ที่โจทก์ นำสืบในชั้นไต่สวน ประกอบหลักฐานเอกสารแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยประการแรกว่า คดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับสำนวนคดีจำเลยที่ 3 , 6-8 ในศาลอาญามีนบุรีหรือไม่ เห็นว่า แม้พฤติการณ์และเงินจะเชื่อมโยงกันแต่ ลักษณะความผิดที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องมีบางข้อหาที่แตกต่างกัน รวมทั้งยอดเงินเป็นคนละจำนวนกันจึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ที่สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องนั้นจะระงับไปตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 39(4) 


          คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 1-8 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยที่ 1-3 ซึ่งเป็น อธก. , ผอ.ส่วนการคลัง และ ผช.อธก.สจล นั้นเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-3ดังกล่าว ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(16) กล่าวคือ ต้องเป็นบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การรัฐฯ ผู้กระทำความผิดต้องเป็นพนักงานตามความหมายในมาตรา 3 คือ เป็นประธานกรรมการ , รองประธานกรรมการ , กรรมการหรือบุคคล ผู้ปฏิบัติงานในองค์การ-บริษัทจำกัด-ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละ 50 เป็นของรัฐฯ แต่เมื่อ พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551มาตรา 5บัญญัติให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น จึงเป็นการกำหนดสถานะของผู้เสียหายที่ 1 ไว้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เสียหายที่ 1 มีสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ เป็นเพียงการให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีกำกับดูแลกิจการทั่วไปของผู้เสียหายที่ 1ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา การพัฒนาประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามมาตรา 45 ประกอบมาตรา 7 เท่านั้น โดยรัฐไม่สามารถเข้าไปควบคุมบริหารจัดการเองได้ 


          แต่ให้สจล.โจทก์ร่วมที่ 1 สามารถบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระและมีความคล่องตัว เพื่อทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการสรรหาอธิการบดี เพื่อเข้ามาบริหารกิจการของโจทก์ร่วม ตามมาตรา 29,30 , 34 ก็ไม่ใช่การได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทั้งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสถาบันหรือผู้ปฏิบัติงานในสถาบันของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นพนักงานตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ แม้ตาม พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551 จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่า ให้ผู้เสียหายที่1เป็นหน่วยงานของรัฐ


          แต่สถานะของ สจล. โจทก์ร่วมที่ 1 ก็ถือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ อันถือได้ว่าพนักงานสถาบันหรือผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความในมาตรา 4 ตอนท้าย ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่บัญญัติให้หมายความรวมถึงบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางการปกครองของรัฐในการดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ แต่เมื่ออัยการโจทก์ ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้  


          เมื่อจำเลยที่ 1-3 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 การกระทำของจำเลยที่ 1-3 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,151,157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4,8,11 เมื่อจำเลยที่ 1-3 ไม่ใช่เจ้าพนักงาน หรือพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 4-8 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยถึงที่ 1-3 ตามฟ้องได้  


          ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้ง 8 คน กระทำความผิดฐาน ร่วมกันลักทรัพย์คั้งเเต่ 2 คนขึ้นไป เเละที่เป็นของนายจ้าง ตามมาตรา 335  , ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 265 , 268 ในการเบิกเงินจากบัญชี สจล.มาเพื่อประโยชน์ของตัวเองและผู้อื่นรวม7บัญชี ระหว่างปี 2554-2557 หรือไม่ ทางไต่สวนพยานหลักฐานฟังได้ว่า แบบคำขอเปิดบัญชีที่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ 1-3 และ น.ส.ระวิวรรณ ซึ่งอยู่ในแฟ้มบัญชีของธนาคาร เป็นแบบคำขอที่ไม่ตรงกับที่ใช้ในช่วงเวลานั้น ไม่มีการลงข้อมูลของผู้ทำรายการ วันที่ทำรายการ รหัสผู้ทำรายการ รวมทั้งผู้อนุมัติ และไม่ใช่แบบคำขอที่นำไปใช้ยื่นเปิดบัญชีที่หน้าเคาน์เตอร์ตามปกติ ทั้งในแฟ้มข้อมูลบัญชีไม่พบหนังสือขอเปิดบัญชีจากผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมที่ 1 ส่วนเอกสารประกอบการเปิดบัญชีที่เป็นสำเนาบัตรพนักงานของนายถวิลจำเลยที่ 1 ระบุสำเนาถูกต้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นอธิการบดี แต่ก็ขัดแย้งกับที่ระบุในบัตรพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุว่าช่วงเวลานั้น นายกิตติ ตีรเศรษฐ์ เป็นอธิการบดี ส่วนบัตรประจำตัวประชาชนของ ผู้ช่วยอธิการบดี จำเลยที่ 3 และ น.ส.ระวิวรรณ เป็นบัตรที่ทางราชการออกให้ใช้ในภายหลัง หลังจากที่ได้ใช้ยื่นประกอบการเปิดบัญชีแล้ว เชื่อว่าเกิดจากการทุจริตของพนักงานของ ธ.ไทยพาณิชย์ โจทก์ร่วมที่ 2 ที่นำเอาเอกสารที่ได้รับมาภายหลัง ไปสับเปลี่ยนกับเอกสารชุดเดิมที่มีอยู่ในแฟ้มบัญชี ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะทำงานที่ ธ.ไทยพาณิชย์ โจทก์ร่วมที่ 2 แต่งตั้งขึ้น ก็พบว่าการเปิดบัญชีที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบของธนาคารไทยพาณิชย์โจทก์ร่วมที่ 2 มีอยู่ 2 บัญชี และเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็น ผช.ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์สาขาขณะนั้น มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตทำหลักฐานปลอมดังกล่าว โดยไม่พบว่าจำเลยที่ 1-3 ทราบหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการเปิดบัญชีที่ผิดเงื่อนไขและใช้เอกสารประกอบการเปิดบัญชีไม่ถูกต้องดังกล่าว  


          ส่วนการลักเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของ สจล.โจทก์ร่วมที่ 1 ในแต่ละบัญชีนั้น พยานบุคคลซึ่งเป็นพนักงานของ ธ.ไทยพาณิชย์ต่างยืนยันว่า จำเลยที่ 4 ขอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขณะที่ยังเข้ารหัสของพนักงานแต่ละคนอยู่ เพื่อทำธุรกรรมถอนเงินจากบัญชีของ สจล.แล้วโอนเข้าบัญชีของบุคคลอื่น รวมตลอดการซื้อแคชเชียร์เช็คและการโอนเงินต่างธนาคาร โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของ สจล.มาแสดงตนที่หน้าเคาน์เตอร์ และไม่มีเอกสารใด ๆ ประกอบการทำธุรกรรม ซึ่งการเข้าไปลักเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของ สจล.นั้น จะปรากฎในรายงานการทำธุรกรรมประจำวันทุกครั้ง อันเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งก็สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 4 ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งขึ้น โดยรับว่า เป็นผู้ถอนเงินออกจากบัญชีของ สจล.จริง โดยเข้าไปทำรายการถอนที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานในสาขา บางครั้งจะสั่งให้พนักงานถอนเงิน แล้วโอนเข้าบัญชีของบุคคลอื่น 

 

          จำเลยที่ 4 เป็นคนอนุมัติถอนเงินทุกครั้ง และการถอนเงินจะไม่ใช้สมุดบัญชีและไม่มีใบถอนเงินที่ลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจของ สจล.แต่จะใช้ใบถอนเงินเปล่าที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดใด ๆ เข้าทำรายการกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 4 ตอบศาลรับว่า การถอนเงินออกจากบัญชีของ สจล.บางครั้งจำเลยที่ 4 จะปลอมลายมือชื่อของ ผอ.ส่วนคลัง เเละผู้ช่วยอธิการบดีจำเลยที่ 2-3 ในใบถอนเงิน และปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในการสลักหลังเช็คที่ทำคำขอซื้อในนามของจำเลยที่ 2 เพื่อนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 4 เอง โดยจากการไต่สวนพยานหลักฐานที่โจทก์อ้าง ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 สมคบวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนกับจำเลยที่ 4 หรือมีเจตนากระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 ในการลักเอาเงินจากบัญชีของ สจล.ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต อีกทั้งนายพัฒนพงศ์ พนักงานของ ธ.ไทยพาณิชย์ฯ ก็ตอบศาลถามว่าคณะทำงานตรวจสอบฯ ไม่พบว่าจำเลยที่ 1-3  ได้รับเงินจากการเบิกถอนออกจากบัญชี สจล.


          โดยในส่วนของ นางอำพร ผอ.ส่วนการคลัง จำเลยที่- 2 แม้รับสารภาพ แต่ก็เป็นการรับสารภาพว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งตามทางนำสืบพยานหลักฐาน ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 4 ในการเบิกถอนเงินนี้ ดังนั้นจึงไม่อาจนำคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 นั้นมาลงโทษได้  ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริต พ.ศ.2559


          สำหรับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3M ที่เป็นผู้อนุมัติให้ถอนเงินออกจากบัญชีของ สจล.ตามที่จำเลยที่ 4 มาขอเบิกถอนเงินต่างสาขานั้น จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของจำเลยที่ 5 ที่ทำให้เชื่อว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 แต่เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ได้พิจารณาอนุมัติถอนเงินตามหลักฐานที่จำเลยที่ 4 นำมายื่นแสดง อีกทั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ธ.ไทยพาณิชย์ตั้งขึ้น ก็พบเพียงว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้อนุมัติรายการเบิกถอนเงินที่ทำขึ้น ณ สาขา 3 M เท่านั้น ไม่พบว่าจำเลยที่ 5 ได้รับโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ สจล.เลย  


          สำหรับ นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 6 เป็นผู้รับโอนเงินที่จำเลยที่ 4 โอนเข้าบัญชีอ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันและเป็นผู้แจ้งให้จำเลยที่ 4 โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 6-8 โดยทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ แต่สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 6 ทำกับจำเลยที่ 4 ฉบับแรก ระบุลงวันที่ 20 พ.ย.55 อันห่างจากช่วงเวลาที่จำเลยที่ 4โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 6 เป็นครั้งแรกในคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.55 และหลังนั้นอีกหลายครั้ง รวมเป็นเงินมากถึง 267,883,289.67 บาทโดยไม่ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมเงินเลย ทั้งเงินที่โอนกันช่วงนี้มีจำนวนมากกว่าที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุทำเมื่อเดือน พ.ย.55 และเดือน ธ.ค.55 ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินเพียง 143 ล้านบาทเท่านั้น การทำสัญญากู้ยืมเงิน ไม่น่าเชื่อว่าต้องการให้มีผลผูกพันกันจริง แต่เป็นการทำขึ้นในภายหลังเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการสู้คดีมากกว่า แต่ส่วนที่จำเลยที่ 4 โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 7-8 นั้น ทางไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 7-8 เข้าไปมีส่วนร่วมกระทำความผิดในขั้นตอนต่างกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 แต่ต้น คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 6 เล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลผ่านนายปฐมพงศ์และนางสาวจันทร์จิรา ไปยังจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นโต๊ะบอลหรือเจ้ามือ โดยมีการโอนเงินผ่านบัญชีของจำเลยที่ 6 ไปยังบัญชีของนางสาวจันทร์จิราและบัญชีของจำเลยที่ 8 บางครั้งจำเลยที่ 6 จะให้จำเลยที่ 4 โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 6 ที่เปิดร่วมกับจำเลยที่ 7 และบัญชีของจำเลยที่ 8 เพื่อชำระหนี้การพนัน 


          เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาขณะเกิดเหตุคดีนี้กับจำนวนเงินที่มีการโอนกันในแต่ละครั้งดังกล่าว พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับจำนวนเงินที่ได้ลักเบิกถอนออกจากบัญชีของผู้เสียหายที่ 1เลย น่าเชื่อว่าการโอนเงินระหว่างบัญชีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลจริง


          ศาลจึงพิพากษาว่า นายทรงกลด อดีต ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ฯ สาขาบิ๊กซีสุวินทวงศ์ จำเลยที่ 4 มีความผิด ร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปและที่เป็นของนายจ้าง และ ปลอมกับใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก (11) วรรคสอง , 265 , 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (5) ประกอบมาตรา 83 


          ส่วน นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับสจล. แต่ผู้เปิดบัญชีรับโอนเงินจากจำเลยที่ 4 มีความผิดฐาน ร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 


          โดยการกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ให้จำคุกนายทรงกลด อดีต ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ฯ สาขาบิ๊กซีสุวินทวงศ์ จำเลยที่ 4 ทั้งสิ้น 19 กระทง มีกำหนด 95 ปี และ ให้จำคุก นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 6 รวม 11 กระทง มีกำหนด 55 ปี


          แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วทั้งจำเลยที่ 4 และที่ 6 แล้ว ให้จำคุกสูงสุดตามกฎหมาย คนละ 20 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 และที่ 6 ต่อจากคดีในศาลอาญามีนบุรีนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้จำคุกโทษสูงสุดแล้ว 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 6 จำคุกสูงสุด 20 ปี จึงไม่อาจนับโทษรวมได้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2 )


          ทั้งนี้ ส่วนค่าเสียหายทางแพ่งนั้น ปรากฏว่า เงินที่จำเลยที่ 4 เบิกถอนไปโดยทุจริตนั้น แม้เป็นเงินฝากบัญชีของ สจล.โจทก์ร่วมที่ 1 แต่ขณะเกิดเหตุถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่อยู่ในความครอบครองของ ธ.ไทยพาณิชย์ฯ โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเงินของสจล.นั้นทางธนาคารได้ชดใช้ให้จนเป็นที่พอใจแล้ว จึงให้จำเลยที่ 4 ชดใช้เงินคืน ธ.ไทยพาณิชย์ฯ โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 688,,578,411.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่กระทำผิดแต่ละครั้งนับจากปี 2554,2555,2557


          โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 4 ชดใช้เงินในจำนวน 563,386,411.44บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่กระทำผิดแต่ละครั้งด้วย และให้จำเลยที่ 4,6 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ 3 อีก 20:ล้านบาทด้วย


          โดยพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1,2,3,4,5,7,8 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแม้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง จะยกฟ้อง จำเลยที่ 2,3,4,7,8 แต่จำเลยดังกล่าวก็ยังต้องถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำคลองเปรมเนื่องจาก ถูกตัดสินโทษในคดีลักเงิน สจล.สำนวนแรกของศาลอาญามีนบุรีซึ่งคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์


          ด้าน นายถวิล อดีต อธก.สจล. กล่าวภายหลังคำพิพากษายกฟ้องว่า ขอขอบคุณที่ให้ความเมตตา และให้ความยุติธรรม ซึ่งมีการพิเคราะห์ค่อนข้างละเอียด ตอนที่เงินหายไปเป็นคณะกรรมการชุดก่อนและชุดหลัง ซึ่งตนเป็นอธิการในช่วงกลาง โดยการที่ตนถูกฟ้องนั้นค่อนข้างไม่ยุติธรรม และมองว่าเป็นการถูกกลั่นแกล้ง อย่างไรก็ตามในศาลชั้นต้น ทั้ง 2 ศาล (ศาลอาญามีนบุรี และศาลอาญาคดีทุจริตฯ) พิพากษายกฟ้อง ตนก็รู้สึกดีใจ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลักทรัพย์


          ด้าน นายพีรันธร วีระภรณ์พิมล ทนายความของนายถวิล กล่าวว่า วันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ก็พิพากษาแล้วว่านายถวิล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถอนเงินบัญชีทั้ง 7 บัญชี และไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับการทุจริต แต่จะมีประเด็นการเปิดบัญชีโดยไม่มีอำนาจในการเปิด แต่การไม่มีอำนาจในการเปิด พอสืบพยานเสร็จก็ทราบว่าทางนายทรงกลด จำเลยที่ 4 ได้นำเอกสารที่นายถวิลเซ็นไว้ตอนมีอำนาจมาใช้เอกสารทั้งหมดที่ทำขึ้นมา จึงเป็นการใช้เอกสารที่เป็นเท็จ ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็ต้องรอดูว่าอัยการจะอุทธรณ์คดีหรือไม่เพราะอัยการฟ้องมา 8 คน ยกฟ้องไป 6 คน เราก็ต้องเตรียมคำพิพากษาเพื่อรอแก้อุทธรณ์ของอัยการต่อไป


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอ่านคำพิพากษาลักทรัพย์สสจสำนวนที่ 2 วันนี้ศาลก็ใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมงโดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 น.จนเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 16.00 น


          สำหรับคดีลักเงิน สจล.นั้น ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 พนักงานอัยการคดีอาญา 11 (มีนบุรี) ก็ได้ยื่นฟ้อง นายทรงกลด อดีต ผจก.ธ.ไทยพาณิชย์ฯ สาขาบิ๊กซีสุวินทวงศ์ จำเลยที่ 1, น.ส.อำพร อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล. ที่ 2 , นายพูนศักดิ์ ที่ 3, น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ อายุ 31 ปี ที่ 4 , นายสมบัติ โสประดิษฐ์ อายุ 48 ปี ที่ 5 , นางระดม มัทธุจัด อายุ 59 ปี ที่ 6 , นายจริวัฒน์ ที่ 7, นายภาดา บัวขาว อายุ 32 ปี ที่ 8 , นายถวิล อดีต อธก.สจล.ที่ 9 , นายสรรพสิทธิ์ อดีตผช.อธก. ที่ 10 , นายสลุต ราชบุรี อายุ 58 ปี ที่ 11 , นายกิตติศักดิ์ ที่ 12 , นายสมพงษ์ สหพรอุดมการณ์ ที่ 13 และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ที่ 14 ต่อศาลอาญามีนบุรี 

 
          ในความผิดฐาน ร่วมกันลักทรัพย์ , ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม , ร่วมกันปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือผู้อื่นโดยทุจริต, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด , ร่วมกันฟอกเงิน , สนับสนุนพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต, สนับสนุนพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 264, 265, 266, 268, 335, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 11 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 7, 10 , 60


          กรณีวันที่ 25 มิ.ย.-12 พ.ย.55 พวกจำเลยร่วมกันถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขา สจล.รวม 4 บัญชี เป็นเงิน 510,000,000 บาท ของ สจล. ผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยมิชอบ และจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 3-8 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ยังร่วมกันฟอกเงินด้วยการนำเงิน 303,860,643.96 บาท ของสจล. ผู้เสียหายที่ 1 โอนกลับเข้าบัญชีเงินฝาก ธ.ไทยพาณิชย์ฯ สาขา สจล. เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน เพื่อไม่ต้องให้รับโทษหรือรับโทษน้อยลงด้วย


          ซึ่งศาลอาญามีนบุรี ได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.61 โดยจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 11 คน ซึ่งจำคุกเป็นเวลาตั้งแต่ 4 ปี 6 เดือน จนถึง 50 ปี และให้ร่วมกันชดใช้เงินคืน สจล.โจทก์ร่วมที่ 1 และธ.ไทยพาณิชย์ฯ โจทก์ร่วมที่ 2 กว่า 700 ล้านบาท และยกฟ้อง ในส่วนของนายสมบัติ จำเลยที่ 5 , นายภาดา ที่ 8 ซึ่งทั้งสองเป็นบุคคลภายนอก , นายถวิล อดีต อธก.สจล. จำเลยที่ 9

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ