ข่าว

ป.ป.ช.ฟันคนในซุก260ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562

 

 

          กรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ ชี้มูล “ผู้บริหาร ป.ป.ช.” ปกปิดบัญชีทรัพย์สินคู่สมรส 260 ล้าน พบเส้นทางการเงิน พันคดีปาล์มอินโดฯ ส่งศาลอาญาฟันต่อ เล็งเอาผิดวินัยถึงไล่ออก “สุเทพ” พร้อมแจงศาลคดีทุจริตโรงพัก-แฟลต ตร. อ้างเปลี่ยนวิธีจัดซื้อ-จัดจ้างไม่ต้องแจ้ง ครม.

 


          รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากกรณีไต่สวนคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย อันเนื่องจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท พีทีที กรีนเอเนอร์ยี หรือ พีทีที จีอี ลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นคดีข้ามชาติ ที่ ป.ป.ช. ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในการตรวจสอบทุจริต


          โดยคณะกรรมการประสานงานและเร่งรัดคดีทุจริตระหว่างประเทศ ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธาน ซึ่งมีหน่วยงานประกอบด้วย อัยการสูงสุด ป.ป.ง. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ


          ทั้งนี้ระหว่างการไต่สวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
          ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ โดยพบความผิดปกติในกรณีการจ้างค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง พบว่าผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. มีส่วนรู้เห็น และมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทยด้วย หนึ่งในนั้นเป็นเครือญาติของผู้บริหารระดับสูงใน ป.ป.ช. ทำให้ทาง ป.ป.ง. ส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการถึง ป.ป.ช. ทันที เพื่อให้ตรวจสอบไปถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ช.ดังกล่าว


          จากนั้น ป.ป.ช. ได้ตั้งองค์คณะ (กรรมการ ป.ป.ช.9 คน) ขึ้นมาไต่สวนกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินฯ ที่ควรแจ้งต่อ ป.ป.ช. จากการไต่สวนพบว่าเกิดความผิดปกติในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯของคู่สมรสผู้บริหารคนดังกล่าว โดยพบว่าไม่ได้แจ้งทรัพย์สินมูลค่ากว่า 260 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินในบัญชีทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ


          ล่าสุด คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารระดับสูงดังกล่าว ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินฯ ที่ควรแจ้งต่อ ป.ป.ช.และให้ส่งสำนวน ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยคดีดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ


          นอกจากจะส่งสำนวนไปยังศาลแล้ว ต้นสังกัดต้องพิจารณาลงโทษทางวินัย โดยอาจให้พ้นจากตำแหน่งด้วยการไล่ออก หรือให้ออก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีสิทธิ์ไต่สวนหากพบว่าเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติ และดำเนินการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน


          “สุเทพ”ยันจัดซื้อไม่ต้องแจ้งครม.
          ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ชี้มูลว่ามีความผิด กรณีอนุมัติโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือโรงพักทดแทน 396 แห่งว่า หลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อกล่าวหาแล้ว ทำให้ตนจะได้มีโอกาสไปพิสูจน์ความจริงในศาล เรื่องราวจะได้จบ เพราะว่าตนเสียหาย และเสียชื่อเสียงมาเยอะแล้ว ในฐานะคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ


          ตนขอเรียนกับประชาชนว่า กรณีดังกล่าวไม่มีความซับซ้อนอะไรเลย แต่เดิม ป.ป.ช. พยายามกล่าวหาว่า ตนกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในที่สุดก็ไม่มีความผิด เพราะว่ามติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้นฟังจากการแถลงของ ป.ป.ช. กลายเป็นว่า ตนเสนอเรื่องขออนุมัติ ครม. เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดซื้อจัดจ้างใหม่ กลับไม่เสนอขอมติที่ประชุม ครม.อีกครั้ง คล้ายกับว่าตนใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีดังกล่าว จะทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ


          “ผมเห็นว่า อาจจะผิดจากข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงคือ ครม.มีมติครั้งเดียวเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 ให้สร้างสถานีตำรวจ 396 แห่งในวงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ แล้วก็ผูกพันงบประมาณเป็นเวลา 5 ปี ซึ่ง ครม.อนุมัติเพียงครั้งเดียว เรียกว่า ครม.อนุมัติโดยหลักการ”


          ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่อำนาจของ ครม.ในการอนุมัติ ไม่มีการอนุมัติในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใด ที่จะต้องไปขออนุมัติจากมติครม. เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างว่าด้วยระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่แล้วว่าเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงาน คืออธิบดี หรือถ้าเกินอำนาจของอธิบดี ก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงนั้น


          ดังนั้นที่กล่าวหาว่าตนเสนอครม.ครั้งหนึ่งแล้ว แต่พอจะเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างกลับไม่เสนอขอมติครม.นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งประเด็นนี้ตนจะนำไปพิสูจน์ให้ศาลได้เห็น และขอให้ประชาชนสบายใจ เพราะทั้งหมดนี้ที่ ป.ป.ช. กล่าวหาตน ไม่เกี่ยวกับการทุจริตเลย เป็นเพียงประเด็นว่าตนใช้อำนาจหน้าที่ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น


          ชี้สร้างไม่เสร็จไม่เกี่ยวอนุมัติสั่งการ
          นายสุเทพ กล่าวต่อว่า เรื่องการทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.แจ้งมติชี้มูล ตำรวจ ข้าราชการ หรือพ่อค้าคนอื่นในวันเดียวกัน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนไปสมคบทุจริตกับเขาด้วย ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อยากจะชี้ให้ประชาชนได้เห็นก็คือว่า กรณีนี้มีการประมูลกันโดยวิธี (อีอ็อคชั่น) e-Auction ก็มีผู้เข้าประมูลหลายรายและแข่งขันกัน 70 กว่าครั้งในการประกวดราคา ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดนั้น ได้เสนอต่ำกว่าราคากลางประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริง


          “การก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จ ไม่ได้เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งการของผม เกี่ยวกับการบริหารสัญญาคือการกำกับควบคุมดูแลการก่อสร้าง น่าสังเกตว่าระหว่างการก่อสร้างกว่าจะทำสัญญาได้ก็นาน และเวลาก่อสร้างมีการขยายสัญญาให้หลายครั้ง โดยผู้บัญชาการตำรวจหลายคน ซึ่งผมจะไม่พูดว่า ใครถูกใครผิดอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องไปพิสูจน์ความจริงกันในศาล ด้วยพยานหลักฐานที่ผมมี” นายสุเทพ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ