ข่าว

เปิดสำนวน'โรงพัก-สนามฟุตซอล' ฟัน'สุเทพ-วิรัช'เซ่นปมทุจริต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

          ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วานนี้ (6 ส.ค.) มีมติมติชี้มูลในคดีสำคัญประกอบด้วย คดีที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.,นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา และพวกรวม 24 คนในคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลพื้นที่เขต 2 จ.นครราชสีมา และคดีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดีทุจริตโครงการสร้างสถานีตำรวจ (โรงพักทดแทน) จำนวน 396 แห่งและโครงการก่อสร้างแฟลตจำนวน 163 หลังในสมัยเป็นรองนายกฯ

 


          โดยคดีแรก ป.ป.ช.พบว่า นายวิรัชและนางทัศนียา ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ส.และพวกมีการดำเนินการทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบฯปี พ.ศ. 2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดอื่นรวม 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาทใน 2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเอง


          โดยนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยแถลงขณะนั้น เป็นน้องสาวนางทัศนียา มีการสั่งการให้พวกของตนเข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณในลักษณะครอบงำบงการการใช้จ่ายโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายและขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 ที่ห้ามมีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ส.ส. ส.ว.และกรรมาธิการ (กมธ.) มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย


          ขณะที่ในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำคำขอเพิ่มเติมงบจำนวน 7,000,000,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ขณะที่นายวิรัช พร้อมพวกได้เข้าไปแทรกแซงการใช้จ่ายงบ โดยให้ข้าราชการประจำทำคำขอก่อนที่จะมีเพิ่มเติมงบตามคำขอแปรญัตติเป็นเงินทั้งสิ้น 4,459,420,000 บาท  นอกจากนี้นายวิรัชฯ ยังได้สั่งการให้นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง ครูโรงเรียนบ้านขามเฒ่า คนสนิทของตน เข้าไปประสานงานเพื่อให้ได้รายชื่อโรงเรียนที่ต้องการและสั่งการให้นายประภัสร์ ลิมานันท์ ครูโรงเรียนวัดจรเข้ใหญ่จ.สมุทรปราการและน.ส.กุลธิดา วีรตานนท์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานพรรคการเมือง นำรายชื่อโรงเรียนที่ได้จากการประสานงานไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของสพฐ.
 

 

 

          หลังจากที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาฯ สพฐ. ได้ทำหนังสือแจ้งจัดสรรงบประมาณ  นายวิรัชได้สั่งการให้นายสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่ต้น ร่วมกับน.ส.เบญจพันธ์ บุญบงการ หรือ เอ๋ กรรมการผู้จัดการบริษัทสปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา ประสานงานในพื้นที่ร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆต่อมา หลังได้มีการส่งมอบงานให้กับโรงเรียนต่าง ๆ แต่พื้นสนามฟุตซอลไม่สามารถใช้งานได้ และมิได้เรียกให้ผู้รับจ้างเข้ามาแก้ไข รวมถึงมิได้ทำการยึดหลักประกันสัญญาเพื่อบรรเทาความเสียหาย 


          ป.ป.ช. จึงได้มีการพิจารณาและมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียงชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 24 ราย ประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย ข้าราชการ 11 ราย เอกชน 10 ราย (บุคคลธรรมดา 7 ราย นิติบุคคล 3 ราย)


          ในส่วนของคดีโรงพักซึ่งป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดนายสุเทพนั้น แบ่งเป็นคดีโรงพักทดแทน 396 แห่งจํานวน 1,728 ล้านบาท ป.ป.ช.ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเมื่อปี2556 โดยพบว่า กรณีดังกล่าวครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 ก่อนที่ในวันที่ 27 ก.พ.ปีเดียวกัน ตร.ได้มีการแต่งตั้งคณะทํางานพิจารณาแนวทางการจัดจ้างและการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพล.ต.ท. พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้ผบ.ตร. ในขณะนั้น เป็นประธานคณะทํางาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เห็นควรดําเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลาง และแยกเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) 


          ต่อมาพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตํารวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผบ.ตร. ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พ.ย. 2552 ถึงนายสุเทพ ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระจายการจัดซื้อ จัดจ้างไปตามตํารวจภูธรภาค หรือตํารวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นกองโยธาธิการ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว นายสุเทพ ได้อนุมัติโดยไม่นําเสนอครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติถือเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอํานาจ และโดยรู้อยู่ แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ


          ส่วนคดีแฟลตตำรวจ163หลัง วงเงิน3,994 ล้านบาทพบว่า ป.ป.ช.ได้มีคําสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเมื่อปี2556 ก่อนสรุปว่า โครงการแฟลต163 หลัง ตร.ได้แต่งตั้งคณะทํางานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ ก่อนเสนอขออนุมัติต่อครม. ผ่านนายสุเทพ รองนายกฯซึ่งกํากับดูแลตร.เสนอครม.ในวันที่ 22 ม.ค.2552 ซึ่งครม.อนุมัติหลักการตามที่เสนอ  ต่อมา พล.ต.อ.ปทีป ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พ.ย.2552 ถึงนายสุเทพ ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างโดยให้กองโยธาธิการ เป็นหน่วยงานจัดจ้าง ซึ่งนายสุเทพได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นําเสนอครม.อนุมัติเช่นเดียวกับกรณีโรงพักทดแทน


          นอกจากนี้ยังพบว่าการดําเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทั้ง2ส่วนคือโรงพักทดแทนและแฟลตตำรวจยังพบว่า บริษัท พีซีซี ดีเวลลอปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเข้าร่วมประกวดราคาได้เสนอรูปแบบก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบรูปที่กําหนดจนถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาแต่ปรากฏว่าคณะกรรมการประกวดราคากลับพิจารณาให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ และต่อมาบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชนะการประกวดราคา จึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่นไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม


          ขณะที่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งตร.ได้ขยายระยะเวลาไปอีกหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เป็นเหตุให้ตร.ได้รับความเสียหาย


          นอกจากนั้น ยังพบว่าระหว่างการก่อสร้าง ได้มีเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้าง อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพและพวกในข้อหาต่างกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ