ข่าว

สหภาพ กทพ.พร้อมสู้คดีค่าโง่ตามอัยการชี้แนะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

    "หมอระวี" เผยผลประชุมค่าโง่ทางด่วน เปิดตัวเลขเอกชนทำรายได้ระดับแสนล้าน สหภาพการทางพิเศษฯยืนยันพร้อมสู้ทุกคดีหลังอัยการยืนยันมีทางชนะ

 

            31 ก.ค.62-“หมอระวี” เผยผลประชุมค่าโง่ทางด่วน เปิดตัวเลขเอกชนทำรายได้ระดับแสนล้าน สหภาพการทางพิเศษฯยืนยันพร้อมสู้ทุกคดีหลังอัยการยืนยันมีทางชนะ สัปดาห์หน้าเชิญผู้แทน BEM เข้าชี้แจง ขณะที่ปัญหาขัดแย้งระหว่างกรรมาธิการฯต่างพรรคบานปลาย 

          นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯในวันนี้ว่า การประชุมมีอุปสรรคเล็กน้อย แต่ก็ได้รับการชี้แจงจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอย่างค่อนข้างรอบด้าน อาทิ ประเด็นรายได้ของการทางพิเศษฯ และรายได้ของบริษัทเอกชนในระยะเวลา 30 ปีหากมีการต่อสัญญาสัมปทานออกไป ซึ่งพบว่าจะมีรายได้สูงถึง 750,000 ล้านบาท

 

             ถัดมาเป็นประเด็นการชี้แจงข้อมูลด้วยตารางเปรียบเทียบการลงทุนของบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ว่ามีการใช้เงินลงทุนตั้งแต่การก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นเงินประมาณ 28,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 160,000 ล้านบาท

สหภาพ กทพ.พร้อมสู้คดีค่าโง่ตามอัยการชี้แนะ

          ทางสหภาพฯ ยังได้คัดค้านเรื่องการพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานของฝ่ายบริหารการทางพิเศษฯ ว่ามีความรอบคอบเพียงพอหรือไม่ รวมถึงการตั้งคำถามถึงช่องทางการต่อสู้คดี ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศต้องได้รับความเสียหายด้านงบประมาณน้อยที่สุด โดยคำชี้แจงของสหภาพฯ ระบุว่า ตามปกติทุกคดีที่มีการฟ้องร้องจะมีการปรึกษากับอัยการสูงสุด เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดที่อัยการชี้ว่ามีทางสู้ได้ เป็นเหตุให้การทางพิเศษฯ เลือกที่จะสู้คดีมาโดยตลอด

         สำหรับอุปสรรคปัญหาในการประชุมของคณะกรรมาธิการฯนั้น นายแพทย์ ระวี บอกว่า มีความล่าช้าจากความไม่พร้อมของบางหน่วยงาน ที่อาจส่งผลให้ไม่สามารถสรุปรายงานการศึกษาได้กรอบระยะเวลา 45 วัน เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่าควรให้ผู้ชี้แจงได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยเปิดโอกาสให้กรรมาธิการฯได้ซักถาม ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการตั้งคำถามแทรกระหว่างการชี้แจงอยู่ตลอดเวลา

         ส่วนประเด็นการสรุปรายงานไม่ทันตามกรอบเวลา ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะต้องเพิ่มเวลาการประชุมหรือไม่ เพราะปัจจุบันจัดให้มีการประชุมในวันอังคารและวันพุธ เวลา 09.00-12.00 น.ของทุกสัปดาห์เท่านั้น และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณากรณีบีทีเอสไปพร้อมกัน เพราะทั้งหมดควรเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการทั้งคณะที่ต้องตั้งใจฟังรายละเอียดของข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานชี้แจงไปพร้อมๆ กัน เพราะเรื่องราวมีความซับซ้อน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ