ข่าว

เร่งสูบน้ำอุ้ม'ชาวนาเหนือ'ปลูกข้าวนาปี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562



 

          เขื่อนภูมิพลน่าเป็นห่วงเหลือน้ำใช้ 40 วัน  กรมชลฯ ลุยแก้แล้งภาคเหนือเร่งสูบน้ำใช้เพาะปลูกข้าวนาปี  สั่งทุกจังหวัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจพร้อมช่วยให้เกษตรกรเต็มที่   นายกฯ ประสานประเทศเพื่อนบ้านปล่อยน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้น คาดปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นสิ้นเดือนนี้ 


          หลายหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือที่ต้องขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และสำหรับการเกษตรกรรม จากเหตุฝนทิ้งช่วงส่งผลให้น้ำในแหล่งเก็บน้ำมีปริมาณน้อยนั้น


          วันที่ 24 กรกฎาคม นายอมร แก่นสารี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล 2 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ว่าปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีน้ำต้นทุนอยู่ที่ 4,543.68 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33.75 ของความจุทั้งหมด แต่มีน้ำที่ใช้ได้จริงระบายได้ 743.68 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 7.70 ระบายน้ำเพื่อการเกษตรลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาวันนี้ (24 ก.ค.) จำนวน 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าช่วงนี้ระบายน้ำมากเนื่องจากชาวนากำลังทำนา ข้าวกำลังอยู่ระหว่างตั้งท้อง ต้องการใช้น้ำมาก และเนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝนทิ้งช่วง ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาต่ำทำให้ไม่มีน้ำไหลเข้าคลองชลประทานต่างๆ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลใช้ได้อีกเพียงประมาณ 40 วัน

 

 

          จ.พิษณุโลก โดยเฉพาะที่ อ.บางระกำ แม้สภาพโดยรวมยังไม่แล้งเต็มตัว แต่แหล่งน้ำทางธรรมชาติโดยเฉพาะแก้มลิงทั้ง 3 แห่งตามโครงการบางระกำโมเดล ที่แก้มลิงบึงระมาณ ความจุเก็บกัก 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกัก 5.61 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35.07 บึงตะเคร็ง ความจุเก็บกัก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกัก 3.90 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30.45 และแก้มลิงบึงขี้แร้ง ความจุเก็บกัก 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกัก 0.643 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36.96


          นายลวน อินทร์หอม อายุ 60 ปี ชาวนาในตำบลบางระกำ อ.บางระกำ กล่าวว่า แหล่งน้ำทางธรรมชาติแห้งขอด ข้าวกำลังออกรวง ต้องดึงน้ำจากบึงขี้แร้งแห่งนี้ไปหล่อเลี้ยงนาข้าวทุกวัน ระยะทางในการดึงน้ำกว่า 1 กิโลเมตร ต้องลงทุนค่าน้ำมันนำน้ำเข้านา ขณะที่ราคาข้าวขายได้เพียง 6,400-6,500 บาทเท่านั้น


          เช่นเดียวกับผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในเขต ต.หนองคู อ.เมือง จ.ยโสธร ต่างระดมเครื่องสูบน้ำขนาดต่างๆ ที่มีออกมาติดตั้งแย่งกันสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง จากลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่กำลังจะแห้งขอด เข้าหล่อเลี้ยงต้นข้าว


          ส่วนที่ จ.นครพนม แม้มีฝนตกลงมาบางพื้นที่แต่ปริมาณน้ำฝนสะสมยังน้อยทำให้ระดับน้ำโขงยังทรงตัวและยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำขั้นวิกฤติเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ล่าสุดยังอยู่ที่ระดับประมาณ 1.50 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งถึง 11 เมตร คือที่ประมาณ 13 เมตร ส่วนปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ ยังมีปริมาณน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากระดับน้ำโขงแห้ง โดยชลประทานจังหวัดนครพนมยังคงเร่งตรวจสอบ เก็บกักน้ำ งดการพร่องน้ำตามประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขาทุกจุดเพื่อรับมือภัยแล้งเนื่องจากพื้นที่นาข้าวหลายอำเภอเริ่มประสบปัญหาขาดน้ำยืนต้นตาย หากในช่วงสัปดาห์หน้าฝนทิ้งช่วงอีกจะส่งผลให้เกิดความเสียหายมากขึ้น


          ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยมเร่งสูบน้ำช่วยเหลือบ้านม่วงพัฒนา หมู่ 3 ตำบลบ้านกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยนำน้ำจากลำห้วยแม่สายส่งให้เพาะปลูกพืชฤดูฝนหรือนาปี โดยจะให้เริ่มเพาะปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะกลับมาตกตามปกติหลังจากที่ทิ้งช่วงนาน ทำให้ชลประทานต้องขอให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าว ทั้งนี้หากปลูกภายในเดือนสิงหาคมจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนธันวาคม ซึ่งมีน้ำเพียงพอส่งให้อย่างต่อเนื่อง


          ขณะที่โครงการชลประทานจังหวัดลำพูนนำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง ติดตั้งบริเวณหน้าฝายน้ำล้นบ้านหล่ายท่าและบ้านไร่ ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งกว่า 600 ไร่ บรรเทาความเดือดร้อนให้ราษฎรได้ประมาณ 150 ครัวเรือน


          ด้านโครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่องบริเวณลำน้ำแม่แจ่มที่บ้านสันหนอง หมู่ 3 ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน ซึ่งจะช่วยพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 300 ไร่ บรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรได้ 30 ครัวเรือน นอกจากนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากน้ำในคลองสายใหญ่มีปริมาณน้อย หากอัดน้ำเข้าปากคลอง F.T.O. no.3 จะส่งผลให้พื้นที่ด้านท้ายคลองส่งน้ำสายใหญ่ได้รับน้ำช้าลงและไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้ได้ตามแผนการส่งน้ำตามรอบเวรได้ ดังนั้นการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณดังกล่าวจึงเป็นช่วยลดเวลาการอัดน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายคลองด้วย


          ส่วนโครงการชลประทานจังหวัดเชียงรายติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่องช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ในเขตพื้นที่ตำบลโยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 2,800 ไร่


          “กรมชลประทานติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งจัดส่งเครื่องจักร-เครื่องมือได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถบรรทุกน้ำไปทุกจังหวัดที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและรักษากติกาในการรับน้ำเพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งที่จะมาถึง” นายทองเปลวกล่าว
   

          นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอเร่งสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ (วอร์รูม) จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกร ผ่านกลไกของคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอ


          ขณะนี้ได้จัดทำข้อมูลสถานการณ์เนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่เสียหายผ่านระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร (รต.) มายังกรมส่งเสริมการเกษตรและจะปรับปรุงข้อมูลทุกวันอังคารของสัปดาห์ พร้อมกันนี้ให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสถานการณ์น้ำเพื่อเตรียมการวางแผนระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยแนะนำวิธีการดูแลรักษาพืชในภาวะฝนทิ้งช่วง อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำนามาเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยในช่วงเดือนสิงหาคม–กันยายน


          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร หากเป็นเกษตรกรรายใหม่ให้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ปลูก หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือสถานที่อื่นที่มีความเหมาะสมโดยด่วนที่สุด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้บริการต่อไป สำหรับเกษตรกรรายเดิมสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Farmbook เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ 

 



          “กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 อีกทั้งเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัดเร่งช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562” นายสำราญกล่าว


          สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ คือ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย ซึ่งจะช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริง แต่ไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือนาข้าวไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนให้เสร็จหลังประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินภายใน 15 วัน


          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อน ว่ากระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยกับทั้งจีน ลาว และเมียนมาร์ แล้ว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการปล่อยน้ำมากขึ้น ขณะที่ทำฝนหลวงไปแล้วกว่า 5,000 ครั้ง และจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกมาตรการแล้ว รอเพียงฝนที่จะตกลงมา โดยคาดว่าปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้


          "ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยพิบัติและภัยแล้งซึ่งได้เริ่มทำงานแล้วทั้งในเรื่องการจ่ายน้ำ ขุดลอกคูคลองเพิ่มเติมในช่วงที่รอน้ำ และจะนำปัญหาภัยแล้งหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อจัดสรรงบประมาณให้ สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำที่มีทั้งหมด โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำเพื่อใช้ในการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในทุกด้านและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว


          นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงราคาพืชผลทางการเกษตรจากผลกระทบภัยแล้ง เพราะเกษตรกรได้ลงทุนไปมาก รัฐบาลจะหามาตรการช่วยเหลือต่อไป เช่น การช่วยเหลือการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และยอมรับว่าปัญหาผลผลิตทางการเกษตร แก้ไขได้ยาก หากเกษตรกรยังปลูกข้าวมากจนเกินไป ประเทศไทยปลูกข้าวโดยระบบชลประทานไม่เกินร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 60 มาจากการปลูกโดยใช้น้ำฝน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิต จึงควรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยบ้าง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ ดังนั้นแนวทางในการจัดโซนนิ่งทางการเกษตรต้องพิจารณาให้มีความชัดเจนมากกว่านี้


          ที่กระทรวงมหาดไทยวันเดียวกัน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเชิญนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และผู้บริหารระดับสูงหารือถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่าเป็นเรื่องด่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแสดงความห่วง และมอบหมายให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ภาพรวมขณะนี้หลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง และปภ.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


          “สิ่งที่กำชับให้ดำเนินการทันทีคือน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน จึงสั่งระดมทั้งรถบรรทุกน้ำและเครื่องจักรต่างๆ จากศูนย์ปภ.ในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหา ส่งไปช่วยเหลือในจุดวิกฤติ เพราะบางพื้นที่อาจไม่มีแหล่งน้ำและอยู่ในจุดห่างไกล ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรทราบว่ากระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์มีมาตรการช่วยเหลือแล้วเช่นกัน สำหรับจังหวัดใดที่ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติแล้วถือเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ